นอนกรนแก้ได้! วิวัฒนาการใหม่สำหรับคนนอนกรน
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
19-ต.ค.-2564

เหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นกับคุณ หรือไม่?

  • คุณนอนกรนเสียงดังจนต้องสะกิดปลุกกลางดึก
  • เวลาไปเที่ยวเพื่อนล้อว่าคุณนอนกรนเสียงดัง จนบางครั้งต้องแอบไปนอนคนเดียวเพื่อไม่ให้คนรอบข้างรู้สึกไม่ดี
  • สะดุ้งตื่น หรือพลิกตัวตอนนอน นอนกระสับกระส่าย เหงื่อออกผิดปกติขณะหลับ
  • รู้สึกว่านอนไม่อิ่ม มีอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลียหลังตื่นนอน ทั้งที่มีเวลานอนเพียงพอ หงุดหงิดง่าย อารมณ์เสียบ่อยกว่าปกติ ความคิดความสามารถในการจดจำลดลง และอาการจะหนักขึ้นถ้ามีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือทานยานอนหลับ
  • ง่วงนอนบ่อย หรือหลับง่ายในช่วงกลางวัน ขณะทำงานหรือเรียนหนังสือจนถึงขั้นมีอันตราย เช่น อุบัติเหตุเกี่ยวกับรถยนต์ (หลับใน) หรืออุบัติเหตุเกี่ยวกับเครื่องจักรต่างๆ
  • ปากแห้ง คอแห้งในตอนเช้า เพราะต้องหายใจทางปากทั้งคืน
เสียงกรน คือ เสียงที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของลิ้นไก่และเพดานอ่อน ขณะนอนหลับในเวลาที่เราหลับสนิทนั้นเนื้อเยื่อต่างๆ ในช่องคอโดยเฉพาะอย่างยิ่งลิ้นไก่ และเพดานอ่อนจะคลายตัว บางคนคลายตัวมากจนย้อยลงมาอุดกั้นทางเดินหายใจบริเวณลำคอ ทำให้ลมหายใจเข้าไม่สามารถไหลผ่านลงสู่หลอดลม และปอดได้โดยสะดวก กระแสลมหายใจที่ถูกปิดกั้นไหลผ่านในลำคอไปกระทบลิ้นไก่ และเพดานอ่อน จนเกิดการสั่นมากกว่าปกติ ผลก็ คือ มีเสียงกรนตามมา ยิ่งการอุดกั้นมากเพียงใดเสียงกรนก็จะดังมากขึ้นเท่านั้น จนที่สุดการปิดกั้นนี้มากถึงอุดตันทางเดินหายใจจนหมด ทำให้อากาศไม่สามารถเข้าสู่ร่างกายได้โดยสมบูรณ์

สาเหตุของการนอนกรน

          1. อายุที่มากขึ้น กล้ามเนื้อต่าง ๆ จะหย่อนยานลง รวมทั้งกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ขยายช่องทางเดินหายใจบริเวณลำคอ ทำให้ลิ้นไก่และลิ้นตกไปปิดทางเดินหายใจได้ง่าย

          2. เพศชาย มีโอกาสนอนกรนมากกว่าเพศหญิงเนื่องจากอิทธิพลของฮอร์โมน แต่เมื่อถึงวัยหมดประจำเดือนเพศหญิงมีโอกาสเป็นเท่ากับผู้ชาย

          3. โรคอ้วน มีไขมันส่วนเกินไปสะสมในช่วงคอ เบียดช่องหายใจให้แคบลง

          4. ดื่มสุรา หรือการใช้ยาบางชนิด เช่น ยานอนหลับซึ่งมีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง ส่งผลในการลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อที่ขยายช่องหายใจ

          5. การสูบบุหรี่ ทำให้ประสิทธิภาพของระบบทางเดินหายใจแย่ลง ทำให้ช่องคอระคายเคือง มีการหนาบวมของเนื้อเยื่อ ทางเดินหายใจจึงตีบแคบลง เกิดการอุดตันนอนกรนได้ง่าย

          6. อาการคัดจมูกเรื้อรัง เช่น มีผนังกั้นจมูกคด เยื่อบุจมูกอักเสบเรื้อรังจากโรคภูมิแพ้ หรือเนื้องอกในจมูก

          7. กรรมพันธุ์ ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคนอนกรนมากกว่าคนปกติ

          8. ลักษณะโครงสร้างของกระดูกใบหน้าผิดปกติ เช่น คางเล็ก คางร่นไปด้านหลัง ลักษณะคอยาว กระดูกโหนกแก้มแบน

          9. โรคที่มีความผิดปกติด้านฮอร์โมน เช่น ฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ (Hypothyroid) ทำให้เกิดทางเดินหายใจอุดตันได้ง่ายกว่าคนทั่วไป

ชนิดความผิดปกติในการนอนกรน

  • ชนิดที่ไม่เป็นอันตราย (simple snoring) คนที่นอนกรนชนิดนี้มักจะมีเสียงกรนสม่ำเสมอ ไม่มีหายใจสะดุด หรือเสียงฮุบอากาศ เสียงกรนมักดังมากโดยเฉพาะเวลานอนหงาย ความดังของเสียงกรนจึงไม่ได้บอกว่าอันตรายหรือไม่ เนื่องจากการกรนชนิดนี้ไม่มีภาวะขาดอากาศร่วมด้วย จึงยังไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพมากนัก เว้นแต่ทำให้รบกวนคู่นอนได้
  • ชนิดที่เป็นอันตราย (snoring with obstructive sleep apnea) คนที่นอนกรนภาวะนี้มักจะกรนเสียงดัง และมีอาการคล้ายสำลัก หรือสะดุ้งตื่นกลางดึก ตื่นขึ้นมาด้วยอาการอ่อนเพลียไม่สดชื่น หรือปวดศีรษะ และต้องการนอนต่ออีกทั้งที่ใช้เวลานอน 7- 8 ชม.แล้ว กลางวันบางคนอาจมีอาการง่วงนอน หลงลืม ไม่มีสมาธิ หงุดหงิดง่าย ขี้โมโห รวมทั้งมีความรู้สึกทางเพศลดลงซึ่งการนอนกรนชนิดนี้อาจนําไปสู่การหยุดหายใจขณะหลับได้

โรคนอนกรน และหยุดหายใจขณะหลับ Obstructive Sleep Apnea (OSA)

โรคนอนกรน และหยุดหายใจเกิดขึ้นเฉพาะขณะหลับเท่านั้น เพราะสมองกําลังพักผ่อนทําให้กล้ามเนื้อบริเวณนี้ทํางานน้อยลง ท่อทางเดินหายใจส่วนต้นก็จะฟีบเข้าหากันเหมือนการดูดหลอดกาแฟ ทําให้ออกซิเจนในเลือดต่ำ เนื่องจากขาดอากาศหายใจจึงต้องพยายามหายใจแรงขึ้น เพื่อเปิดทางเดินหายใจนี้เมื่อสมองถูกกระตุ้นให้ตื่นบ่อยๆ ทําให้หลับไม่ลึกและรู้สึกง่วงนอนตอนกลางวัน เพลีย และไม่สดชื่นเหมือนพักผ่อนไม่เพียงพอ ส่งผลกระทบอื่นๆ ตามมา เช่น

  • ประสิทธิภาพการทํางานลดลง
  • ความจําไม่ดี หงุดหงิดง่าย ง่วง หลับใน และหากทิ้งไว้ในระยะยาวโดยไม่ได้รักษาอาจนําไปสู่
  • โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาตและโรคซึมเศร้า

แนวทางรักษาโรคนอนกรน

การผ่าตัดร่วมกับการจัดฟัน รวมถึงการใส่เครื่องมือในช่องปาก เป็นหนึ่งในทางเลือกของการรักษาอาการนอนกรน การใส่เครื่องมือในช่องปากปัจจุบันเป็นที่นิยมมากขึ้น เพราะไม่จำเป็นต้องรับการผ่าตัดใดๆ ค่ารักษาพยาบาลถูกกว่าวิธีอื่น ใส่ได้ง่าย สบายทำให้ใส่ได้ตลอดทั้งคืน

ขั้นตอนการใส่เครื่องมือ

  • ครั้งแรกคนไข้จะต้องเข้ามาปรึกษาทันตแพทย์ เพื่อตรวจในช่องปาก
  • แพทย์จะส่งทำ Sleep Test (ตรวจการนอนหลับ) เพื่อแยกความผิดปกติ เพราะหากเกิดจากระบบประสาทก็จะไม่สามารถใช้เครื่องมือกันกรนได้เมื่อแพทย์ลงความเห็นว่าสามารถใช้เครื่องมือได้แล้ว ทันตแพทย์จะทำการพิมพ์ปากเพื่อส่ง Lab จัดทำเครื่องมือ จะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์แล้วนัดหมายคนไข้ให้มาลองใส่เครื่องมือนอนกรน
  • คนไข้จะได้ทดลองใช้เครื่องมือกันกรน 2 สัปดาห์ และนัดหมาย ติดตามอาการ
  • หลังจากนั้นอีก 1 เดือน แพทย์จะทำการนัดหมาย Check เครื่องมือกันกรน ว่าจะต้องเพิ่มขนาด Elastic เพื่อให้เหมาะกับการใช้งานของแต่ละบุคคล หรือไม่

เครื่องมือชนิดนี้มีหลายแบบ หลายรูปร่าง แต่หลักการทำงานเหมือนกันคือ ยึดขากรรไกรล่างให้เคลื่อนมาข้างหน้า โคนลิ้นจะถูกดันออกมาด้วยทำให้ช่องคอเปิดออก และทำให้อากาศผ่านเข้าได้ง่ายขึ้น ช่วยให้หายใจได้สะดวกขึ้น และเสียงกรนเบาลง แต่ข้อเสีย คือจะต้องนอนคาบเครื่องมือกันกรนทั้งคืน แต่เมื่อชินแล้วก็จะช่วยให้หลับสบายมากขึ้นทำให้ร่างกายได้นอนเต็มอิ่มแบบไม่ต้องหยุดหายใจชั่วขณะอีกต่อไป ทั้งนี้ อาจมีผลข้างเคียงจากการใส่เครื่องมือกันกรน เพราะถ้าหากยื่นขากรรไกรมากเกินไป ผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บปวดบริเวณข้อต่อขากรรไกร หรือกระทั่งมีอาการฟันไม่สบกันหลังจากถอดเครื่องมือกันนอนกรนได้ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่ร้ายแรง เพราะฉะนั้นผู้ป่วยจึงควรได้รับการรักษากับทันตแพทย์เฉพาะทาง ที่เหมาะสม และต้องมาตรวจเครื่องมือกันกรนเป็นระยะอย่างเคร่งครัด การรักษาด้วยวิธีนี้จะเหมาะกับผู้ป่วยที่มีความรุนแรงของอาการตั้งแต่น้อยถึงปานกลาง เมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาด้วยการผ่าตัดจะมีความปลอดภัยกว่าทำง่ายกว่า และที่สำคัญราคาถูกกว่า จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น ใครที่รู้ตัวว่าเริ่มมีอาการเหล่านี้สามารถไปพบแพทย์ได้


การดูแลรักษาเครื่องมือกันนอนกรน

การดูแลรักษาทำความสะอาดเหมือนฟันปลอมทั่วๆ ไป มีขั้นตอน ดังนี้

  • ก่อนใส่เครื่องมือกันกรน ให้ใช้แปรงสีฟันขนอ่อนๆ ขัดล้างกับน้ำสบู่ หรือยาสีฟัน
  • ควรทำความสะอาดทุกครั้ง ก่อนและหลังใส่เครื่องมือกันกรน
  • ไม่เก็บเครื่องมือกันกรนในบริเวณที่มีความร้อน หรือแห้ง ไม่จำเป็นต้องแช่น้ำแต่ให้มีความชื้นอยู่เสมอเพื่อไม่ให้วัสดุแห้งกรอบ

ข้อควรระวัง

          1. ห้ามใช้ผงขัดกับแปรงที่แข็งเกินไป

          2. หลีกเลี่ยงการใช้น้ำร้อนทำความสะอาด เพราะจะทำให้เครื่องมือกันกรนบิดงอได้

          3. ห้ามแช่ในน้ำยาบ้วนปาก หากต้องการทำความสะอาดให้แช่ในเม็ดฟู่แช่ฟันปลอมตามทันตแพทย์สั่ง

          4. เครื่องมือกันกรนจะมีส่วนข้อต่อระหว่างบนและล่าง ซึ่งอาจเป็นพลาสติก หรือโลหะ หรือยางแล้วแต่ระบบที่จะเลือกใช้เวลาทำความสะอาดควรทำด้วยความนุ่มนวล

          5. เมื่อใช้งานไปถ้าข้อยึดของเครื่องมือกันกรนได้รับความเสียหาย คด งอ ควรนำเครื่องมือกันกรนมาให้ทันตแพทย์ที่เป็นผู้ทำเครื่องมือให้แก่ผู้ป่วยทำการปรับแต่งใน 

          6. ส่วนของเครื่องมือกันนอนกรน อีกทั้ง เป็นการตรวจประเมินผลการรักษาด้วย


ศูนย์ทันตกรรมและรากเทียม
Call Center. 1772 ต่อ ทันตกรรม หรือ โทร. 02-271-7040