โรคเบาหวาน โดยเฉพาะโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในระยะเริ่มต้นอาจไม่ทำให้เกิดอาการผิดปกติต่อร่างกายอย่างชัดเจน จะตรวจพบโรคเบาหวานเมื่อมีอาการผิดปกติของร่างกายแล้ว ดังนั้น บุคคลที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นเบาหวาน ควรได้รับการตรวจ คัดกรองโรค เพื่อให้ได้รับการรักษาที่รวดเร็ว
.jpg)
การตรวจคัดกรองเบาหวาน เป็นการตรวจเพื่อลดความเสี่ยงของผู้เป็นเบาหวาน และผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นเบาหวาน และยังช่วยยับยั้งโรคแทรกซ้อนที่อาจจะตามมากับผู้สูงอายุและคนที่คุณรัก เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ รวมไปถึงปัญหาการมองเห็น หรือการสูญเสียดวงตาที่เกิดจากเบาหวาน เมื่อใด เราควรได้รับการตรวจคัดกรองเบาหวาน
- ผู้ที่มีอายุเกิน 45 ปี ควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อหาความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานทุก 3 ปี
- อ้วน (ดัชนีมวลกาย มากกว่า 25 kg/m2 หรือ เส้นรอบเอวสำหรับผู้ชายมากกว่า 90 ซม.หรือผู้หญิงมากกว่า 80 ซม.)
- มีประวัติในครอบครัวสายตรงเป็นเบาหวาน
- เคยคลอดบุตรแรกเกิด น้ำหนักมากกว่า 4 กก.
- มีภาวะความดันโลหิตสูง
- มีโรคหัวใจและหลอดเลือด
- ไขมันในเลือดชนิด HDL น้อยกว่า 35 มก./ ดล.
- มีประวัติของการตรวจความน้ำตาลกลูโคส ผิดปกติ
.jpg)
วิธีการตรวจคัดกรองเบาหวาน
- การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด ขณะอดอาหาร(fasting plasma glucose; FPG) ด้วยการงดอาหาร ก่อนเจาะเลือด 8 ชม.
- การตรวจเลือดปลายนิ้ว (capillary fasting blood glucose) ถ้าระดับน้ำตาลในเลือด (FPG) สูงกว่า126 มก./ดล.ให้ทำซ้ำอีกครั้ง หากยังสูงกว่า126 มก./ดล.ถือว่าเป็นเบาหวาน ในกรณีที่ตรวจวัดได้ 100-125 ให้จัดว่าเป็นผู้ที่มีระดับน้ำตาลผิดปกติ แต่ยังไม่เป็นโรคเบาหวาน และควรจะตรวจซ้ำทุก 1-3 ปี
- การตรวจความทนต่อน้ำตาลกลูโคส โดยให้ดื่มน้ำตาลกลูโคส ถ้าทำการตรวจระดับน้ำตาลหลังจากดื่มไปแล้ว 2 ชั่วโมง ยังสูงกว่า 200 มก./ดล.ถือว่าเป็นเบาหวาน
- ถ้ามีอาการของเบาหวานแล้ว เจาะเลือดโดยไม่ต้องอดอาหารแล้วระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 200 มก./มล. ถือว่าเป็นเบาหวาน
ในกรณีที่ไม่สะดวกที่อดอาหาร สามารถเจาะเลือดบริเวณปลายนิ้วขณะที่ไม่ได้อดอาหาร หากได้มากกว่า 110 มก./มล. ควรได้รับการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร แต่ถ้าได้น้อยกว่า 110 มก./มล. ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงน้อย ไม่จำเป็นต้องได้รับการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร แต่ควรตรวจซ้ำทุก 3 ปี
.jpg)
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานแล้ว ถ้ามีข้อสงสัยในการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ควรปรึกษาแพทย์ที่ทำการรักษา เนื่องจากเป้าหมายของระดับน้ำตาลในเลือด และความถี่ในการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอาจจะมีความแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย
การคัดกรองโรคแทรกซ้อนจากเบาหวาน
สำหรับผู้เป็นเบาหวาน ควรตรวจคัดกรองโรคแทรกซ้อนอื่นที่สามารถเกิดขึ้นได้ ดังนี้
- การตรวจจอตา อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เนื่องจากน้ำตาลที่สูงอยู่นาน จะทำลายจอประสาทตา ทำให้ตาบอด และผู้ป่วยจะไม่มีอาการใดๆปรากฎให้เห็น ยกเว้นการตรวจจอตาเท่านั้น
- การตรวจไมโครอัลบูมินในปัสสาวะ ผู้เป็นเบาหวานจะมีการทำงานของไตเสื่อมลงตามระยะเวลาที่เป็นเบาหวาน จะไม่มีอาการแสดงภายนอกให้เห็น จึงต้องตรวจหาความผิดปกตินี้ตั้งแต่เริ่มแรก และรักษาความผิดปกติให้กลับสู่สภาพเดิม
- การตรวจหัวใจ ผู้เป็นเบาหวานทุกคน ถือว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ บางรายมีกล้ามเนื้อหัวใจเน่า ตาย โดยไม่มีอาการรุนแรง แต่การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจจะพบได้ หากพบความผิดปกติก็จะประสานงานกับศูนย์หัวใจของโรงพยาบาลในทันที
อ้างอิงข้อมูลจาก: สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย
เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
ชมรมเบาหวานในเด็ก และวัยรุ่น
ศูนย์เบาหวานและเฉพาะโรค อาคาร 1 ชั้น 2
โทร. 02-271 7000 ต่อ เบาหวานและเฉพาะโรค