ระมัดระวังอุบัติเหตุ หลีกเลี่ยงการเกิดภาวะกระดูกหัก
โรงพยาบาลเปาโลเกษตร
20-เม.ย.-2566

ภาวะกระดูกหัก เสี่ยงเกิดได้ทุกเวลา


ภาวะกระดูกหัก คือ ภาวะที่เกิดจากอุบัติเหตุหรือเกิดจากภาวะอื่น ๆ แต่ส่วนใหญ่จะเจอน้อยกว่าอุบัติเหตุ ส่งผลทำให้กระดูกมีการหักหรือเคลื่อน ซึ่งจะสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุจนทำให้เกิดอาการปวด บวม หรือมีเลือดออกตรงบริเวณที่หักตามมา

กระดูกหักสามารถแบ่งออกได้ ดังนี้
1. กระดูกหักแบบปกติ คือ เกิดจากอุบัติเหตุ ที่แรงนั้นทำให้กระดูกปกติหักได้
2. กระดูกหักแบบผิดปกติ (Pathologic fractures) คือภาวะที่กระดูกหักได้ภายใต้แรงภายที่เกิดกับกระดูกเพียงเล็กน้อยหรือแรงนั้นไม่สามารถที่จะทำให้กระดูกปกตินั้นหักได้ ซึ่งประเภทนี้จะเจอได้น้อยกว่ากระดูกหักแบบปกติ สามารถเจอได้ในสาเหตุต่างๆกันเช่น
- เกิดจากโรคมะเร็งที่ลุกลามถึงกระดูก ส่งผลให้กระดูกสามารถหักได้ง่าย เช่น ผู้ป่วยแค่ลุกขึ้นเดินลงมาจากเตียงกระดูกก็หักแล้ว
- เกิดจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น และมีภาวะโรคกระดูกพรุน ก็จะเสี่ยงที่จะเกิดภาวะกระดูกหักตามมาได้ง่าย
- เกิดจากภาวะอื่นใดที่ทำให้กระดูกนั้นนิ่มลง

อาการกระดูกหัก
อาการที่สงสัยภาวะกระดูกหัก มีดังต่อไปนี้
1. มีอาการ แขนผิดรูป หรือ ขาผิดรูป หลังจากที่ผู้ป่วยเกิดอุบัติเหตุมา
2. มีอาการปวดมากจนไม่สามารถขยับแขน ขา  หรือบริเวณที่สงสัยกระดูกหักได้
3. เมื่อคลำหรือจับบริเวณที่ได้รับการบาดเจ็บจะมีเสียงดัง กรอบแกรบ
4.
อาการอื่นๆที่มีความน่าจะเป็นภาวะกระดูกหักหรือไม่ก็ได้ เช่น ปวด บวม มีรอยช้ำ

ผู้ป่วยที่มาด้วยอาการเหล่านี้ จะมีการตรวจ X-Ray
ประกอบการวินิจฉัยเพิ่มเติม ว่ามีภาวะกระดูกหักจริงหรือไม่ หักที่ตำแหน่งใดของกระดูกนั้น ๆ และต้องทำการรักษาอย่างไรต่อไป

สาเหตุกระดูกหักแบบปกติที่เกิดจากอุบัติเหตุ
สามารถแบ่งสาเหตุได้จากแรงที่ทำให้เกิดดังนี้คือ Low energy mechanism และ high energy mechanism
Low energy mechanism เช่น
- นักกล้ามแข่งงัดข้อกัน บิดแล้วต้นแขนหัก เกิดจากแรงที่ไม่ได้รุนแรงมากแต่ทำให้กระดูกหักได้จากแรงหมุน
High energy mechanism
เช่น
- เกิดจากการตกตึก ที่สูงกว่า 3 เมตร
- เกิดจากอุบัติเหตุบนท้องถนน

ซึ่งความสำคัญของการแยกสาเหตุข้างต้นก็เพื่อทำให้รู้ถึงความบอบช้ำของเนื้อเยื่ออ่อนรอบๆกระดูกที่หักด้วย เพราะการรักษากระดูกหักไม่ควรคำนึงแค่เรื่องกระดูกที่หักอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงเนื้อเยื่ออ่อนด้วย ว่าพร้อมที่ผ่าตัดเข้าไปรักษาเลยหรือรอให้เนื้อเยื่ออ่อนนั้นพร้อมก่อน ในกรณีที่เกิดจาก low energy mechanism ถ้ากระดูกนั้นมีข้อบ่งชี้ผ่าตัด ก็อาจจะสามารถทำการผ่าตัดได้เลย เพราะเนื้อเยื่ออ่อนไม่บอบช้ำมาก แต่กลับกัน ถ้าเกิดจาก high energy mechanism ก็ควรรอให้เนื้อเยื่ออ่อนนั้นพร้อมที่จะผ่าตัดเสียก่อน

การรักษากระดูกหัก
สำหรับการรักษาผู้ป่วยที่วินิจฉัยแล้วว่ากระดูกหักจริง จะมีการรักษาอยู่ 2 ทางเลือกคือการรักษาด้วยการผ่าตัดและไม่ผ่าตัด

ดังนั้นทางแพทย์ผู้รักษาจะดูว่าผู้ป่วยรายนั้นมีข้อบ่งชี้ถึงการรักษาด้วยการผ่าตัดหรือไม่ ถ้าไม่มีก็จะแนะนำไปในการรักษาด้วยวิธีการไม่ได้ผ่าตัด (conservative treatment) เช่น การใส่เฝือก หรือใส่ที่คล้องแขน หรือแม้แต่นอนบนเตียงเพื่อลดปวด เป็นต้น

แต่ถ้าผู้ป่วยมีข้อบ่งชี้ที่ต้องผ่าตัด ก็มีวิธีการรักษาหลายแบบเช่น ใส่แผ่นเหล็ก (Plate) หรือใส่เหล็กแท่งภายในโพรงกระดูก (nail) ขึ้นกับตำแหน่งของกระดูกที่หักและข้อบ่งชี้ในการใช้อุปกรณ์แต่ละอย่างด้วย เป็นต้น

เกณฑ์ที่มักใช้ในการเลือกเข้ารับการผ่าตัด ดูจากปัจจัยหลักๆ ดังนี้
1. ปัจจัยจากกระดูก ก็คือดูว่าลักษณะหรือตำแหน่งของกระดูกที่หักนั้น ควรหรือต้องได้รับการพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดหรือไม่ เช่น หักที่ตำแหน่งกระดูกต้นขา เนื่องจากเป็นกระดูกที่โอกาสกระดูกสบกันดีไม่เคลื่อนจากกันเป็นไปได้ยากถ้ารักษาด้วยการไม่ผ่าตัด ทำให้ถ้าไม่ผ่าตัด จะติดได้ไม่ดีส่งผลถึงความพิการในการเดิน การใช้ชีวิต ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องรับการรักษาด้วยการผ่าตัด
2.
ปัจจัยจากสิ่งที่เกี่ยวข้องอื่นของกระดูกที่หัก เช่น กระดูกหักแบบมีแผลเปิด ซึ่งด้วยความที่กระดูกมีแผลเปิดเสี่ยงต่อการติดเชื้อถ้าไม่ได้รับการล้างกระดูกที่หักอย่างเหมาะสม ก็เลี่ยงไม่ได้เลยที่จะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเป็นต้น หรือการที่กระดูกข้อมือหัก2ข้าง การรักษาด้วยการผ่าตัดก็จะฟื้นตัวได้ไวกว่า และกลับไปใช้ง่ายได้เร็วกว่าที่จะต้องรักษาด้วยการใส่เฝือก
3.
ปัจจัยจากผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยที่ไม่ประสงค์ที่ใส่เฝือกเป็นเวลานาน ต้องการกลับไปใช้งานที่รวดเร็วขึ้น ก็เลือกแบบผ่าตัดได้

รายละเอียดวิธีการรักษา
การรักษาแบบไม่ผ่าตัด
- การใส่เฝือก เพื่อช่วยพยุงกระดูกและกล้ามเนื้อที่ได้รับการบาดเจ็บ ให้อยู่นิ่งที่สุดเพื่อรอกระดูกสมานกัน
- การใส่ที่คล้องแขน (Arm Sling) ช่วยพยุงลดความรุนแรง ของอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นบริเวณหัวไหล่ เช่น กระดูกไหปลาร้าหัก สามารถรักษาด้วยการใส่ที่คล้องแขนเพื่อพยุงไหล่ เพื่อรอกระดูกสมานกันได้
-
นอนพักรักษาตัวเฉย ๆ บนเตียง (bed rest) เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ลดอาการปวด เพื่อปล่อยให้กระดูกเริ่มมีการติดระดับนึงแล้วค่อยขยับตัว โดยจะดูตามวัตถุประสงค์ เช่น ผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับสะโพกหัก ในกลุ่มของผู้ป่วยที่มีอายุเยอะ มีโรคประจำตัวมาก ๆ หรือทางญาติปฏิเสธการผ่าตัด รวมไปถึงผู้ป่วยหลังหักที่ไม่ได้มีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด แพทย์ผู้รักษาก็จะให้ผู้ป่วยนอนพักรักษาตัวบนเตียงเพื่อลดอาการปวด เมื่อผู้ป่วยหายปวด แพทย์ก็จะให้ผู้ป่วยใส่ชุดเกราะเพื่อช่วยพยุงหลัง
ข้อดีการรักษาแบบไม่ผ่าตัด คือ ไม่เจ็บปวดจากการผ่าตัด ไม่ต้องเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด
ข้อเสียการรักษาแบบไม่ผ่าตัด คือ เคลื่อนไหวอวัยวะนั้นได้ช้า อาจจะมีอาการปวดเรื้อรังได้ในอนาคต กระดูกที่แตกร้าวอาจสมานตัวเองได้ไม่เหมาะสม

การรักษาแบบผ่าตัด
- การใส่เหล็กภายนอก (External Fixation) ส่วนใหญ่จะใช้รักษาแบบชั่วคราว เพื่อรอให้เนื้อเยื่อยุบบวม ดีขึ้นก่อน หรือใช้สำหรับการรักษาผ่าตัดกระดูกหักแบบมีแผลเปิด เป็นการใส่เหล็กภายนอกเพื่อรอให้แผลดีแล้วหลังจากนั้นค่อยเปลี่ยนเป็นการใส่เหล็กภายใน

- การใส่เหล็กภายใน (Internal Fixation) จะแบ่งออกเป็น
แผ่นเหล็ก (plate) และ แท่งเหล็กภายในโพรงกระดูก (nail) ซึ่งการจะเลือกใส่แผ่นเหล็กหรือแท่งเหล็กก็จะขึ้นอยู่กับแต่ละกระดูกและขึ้นอยู่กับบริบทหลายปัจจัย เช่น  มีแผลตรงบริเวณนั้นๆ หรือเนื่อเยื่ออ่อนที่ไม่ค่อยดี ไม่ต้องการจะเปิดแผลเยอะ ก็อาจจะใส่เป็นแท่งเหล็ก หรือตรงบริเวณที่หักไม่สามารถที่จะใส่แท่งเหล็กได้จริง ๆหรือหักบริเวณใกล้ข้อ หรือเข้าข้อ ก็จำเป็นที่จะต้องเลือกใส่เป็นแผ่นเหล็ก เป็นต้น ซึ่งปกติแล้วเวลาใส่ ปัจจุบันไม่จำเป็นต้องเอาเหล็กออก ถ้าไม่มีข้อบ่งชี้ ซึ่งการเอาแผ่นเหล็กหรือแท่งเหล็กออกอาจส่งผลเสีย เช่น จะต้องผ่าตัดใหม่ เปิดแผลทำให้เนื่อเยื่ออ่อนได้รับบาดเจ็บอีกครั้ง และเหล็กที่นำออกไปมีรู จึงจำเป็นต้องรอให้รูมีกระดูกงอกใหม่เต็มก่อนถึงจะเริ่มกลับมาลงน้ำหนักได้เต็มอีกครั้ง

ข้อดีของการผ่าตัด คือ ทำให้เคลื่อนไหวอวัยวะนั้นได้เร็ว กระดูกได้รับการจัดเรียงอยู่ในแนวที่ดีขึ้น
ข้อเสียการรักษาแบบผ่าตัด คือ การติดเชื้อจากแผลผ่าตัด การเสียเลือดจากการผ่าตัด ปวดบริเวณที่ผ่าตัด มีโอกาสบาดเจ็บต่อเส้นเลือดเส้นประสาท


ภาวะแทรกซ้อนของกระดูกหัก
- โรคติดเชื้อในปอด เกิดจากการที่ผู้ป่วยไม่ค่อยขยับร่างกาย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุที่กระดูกสะโพกหัก จึงส่งผลให้ ปอดไม่ขยาย ทำให้เสี่ยงติดเชื้อในปอดตามมาได้
- โรคติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ เมื่อไม่ค่อยได้ขยับร่างกาย ทำให้ไม่มีการกระตุ้นให้มีการขับถ่ายที่ปกติ ส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะมีน้ำปัสสาวะคลั่งอยู่ในกระเพาะปัสสาวะนานเกิน ทำให้เกิดการติดเชื้อ
- เกิดเป็นแผลกดทับ เนื่องจากไม่ขยับตัวนอนนิ่งๆ หรือไม่ค่อยขยับลุกนั่ง กดทับบริเวณนั้นจนเป็นแผลกดทับได้
- เกิดลิ่มเลือดอุดตัน โดยเฉพาะกระดูกส่วนล่าง และเชิงกราน ที่หัก จะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ง่ายกว่าการหักบริเวณอื่น


การดูแลตนเองหลังการรักษากระดูกหัก

มักจะแบ่งการรักษาตามช่วงกลไกการสมานกระดูก

โดยช่วงแรกคือช่วงระยะอักเสบเกิดในช่วง 4 - 5 วันแรก การรักษาช่วงนี้คือ งดกิจกรรมที่ต้องใช้แรงหนัก ๆ หรือการลดการขยับบริเวณอวัยวะที่หักในช่วงแรกหลังการรักษาเพื่อลดอาการปวด

ช่วงต่อมาคือช่วงกระดูกเริ่มมีการติดเหนียวไปจนกระทั่งมีก้อนกระดูกสร้างใหม่ มักเกิดในช่วงหลัง 6สัปดาห์นับจากช่วงที่มีการหักของกระดูก แต่การสมานตัวของกระดูกก็จะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยเช่น หาก ผู้ป่วยอายุน้อยกระดูกก็จะติดเร็วกว่า ผู้ป่วยที่อายุเยอะ ผู้ป่วยที่ไม่สูบบุหรี่ก็จะติดเร็วกว่าผู้ป่วยที่สูบบุหรี่ เป็นต้น ในช่วงนี้ ในผู้ป่วยที่รักษาโดยการใส่เฝือกก็จะได้รับการถอดเฝือกให้เริ่มขยับอวัยวะนั้นได้มากขึ้น หรือผู้ป่วยที่ผ่าตัด ก็ได้รับอนุญาตให้ลงน้ำหนักได้มากขึ้นเป็นต้น

ช่วงสุดท้ายที่คือฟื้นฟู ผู้ป่วยจะได้รับการกระตุ้นให้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและเอ็นกล้ามเนื้อกลับมาแข็งแรงเพื่อให้ใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงเดิมที่สุด


อนึ่ง ในปัจจุบันการผ่าตัดโดยใช้ แผ่นเหล็ก (plate) และ แท่งเหล็ก (nail) มีวัสดุที่ดีขึ้น เทคนิคการผ่าตัดใน ปัจจุบันไม่จำเป็นต้องผ่าเปิดแผลใหญ่ ลดการทำลายเนื้อเยื่ออ่อนได้และ มีการผ่าตัดแผลที่เล็กลงที่เรียกว่า Minimally Invasive Plate Osteosynthesis (MIPO) จึงทำให้การฟื้นตัวของผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น ลดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่ออ่อนให้น้อยลง เสียเลือดน้อยลง และยังคงรักษาชีวภาพรอบๆ กระดูกที่หัก หรือหลอดเลือดไว้ได้มากขึ้นกว่าเดิม ส่งผลให้มีการฟื้นตัวที่ไวขึ้น กระดูกมีโอกาสสมานตัวได้มากขึ้นหลังการผ่าตัด

อุบัติเหตุมักจะเกิดจากความไม่คาดคิด ดังนั้น จึงควรเริ่มจากการใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวัง





🔹บทความสุขภาพ🔹 
➮ 
อุบัติเหตุ กระดูกไหปลาร้าหัก
➮ กระดูกหัก (BONE FRACTURE) อาการบาดเจ็บที่ต้องรักษาอย่างถูกวิธี 
อุบัติเหตุฉุกเฉิน เพราะทุกนาที มีค่าต่อชีวิต
เอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีก หากไม่รีบรักษา เสี่ยงข้อเข่าเสื่อมในอนาคต





สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
แผนกศัลยกรรม กระดูกและข้อ โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
โทร. 02 1500 900 ต่อ 5114
Facebook : โรงพยาบาลเปาโล เกษตร

Line official account : Paolo Hospital Kaset
Line ID : @paolokaset