ปวดประจำเดือน...แต่ไม่อยากกินยา เรามีเคล็ดลับมาบอก!
โรงพยาบาลเปาโล
05-ม.ค.-2567
ปวดประจำเดือน ปัญหาโลกแตกของผู้หญิงที่นอกจากจะบรรเทาได้ด้วยการกินยาแก้ปวด ยังสามารถลดอาการปวดได้ด้วยวิธีเหล่านี้ด้วยนะ กี่ครั้งกี่หนที่ต้องทนกับ “อาการปวดประจำเดือน” จนตัวขดตัวงอทุกเดือน ถ้าลำพังนานๆ ทีถึงจะปวดก็คงพอกินยาบรรเทาได้ แต่สำหรับใครที่ปวดหนัก ปวดบ่อย ปวดทุกครั้ง และบางทีก็ปวดหลายวันติดต่อกัน เลยไม่กล้ากินยาแก้ปวดถี่ๆ เพราะกลัวไตจะพังก่อนวัยอันควร นี่คือวิธีแก้ปวดประจำเดือนแบบไม่ต้องพึ่งยาที่เราอยากแนะนำ

ออกกำลังกายเบาๆ

สาวๆ หลายคนเข้าใจว่าช่วงมีประจำเดือนไม่ควรออกกำลังกาย เพราะเป็นช่วงที่ร่างกายอ่อนเพลียและเสี่ยงต่อการเป็นลมได้ง่าย แต่จริงๆ แล้วผู้หญิงทุกคนสามารถออกกำลังกายได้ขณะมีประจำเดือน เพียงแต่ต้องเลือกให้เหมาะสมกับความแข็งแรงของตัวเอง อาจจะเลือกเป็นกิจกรรมที่ไม่หนักมาก เช่น การเดินเร็ว หรือ เล่นโยคะในท่าง่ายๆ ซึ่งการออกกำลังกายช่วงมีประจำเดือนนั้นไม่เพียงแต่ช่วยปรับอารมณ์ในวันที่ฮอร์โมนแปรปรวน แต่สาร Endorphins ที่หลั่งออกมา... ยังช่วยลดอาการปวดประจำเดือนได้ดีอีกด้วย


ประคบร้อน

กระเป๋าประคบร้อน...น่าจะเป็นไอเท็มที่สาวๆ ทุกคนมีติดบ้านหรือที่ทำงาน เพราะเป็นวิธีที่ง่ายและได้ผลดี เนื่องจากความร้อนมีส่วนช่วยให้กล้ามเนื้อที่ตึงอยู่ค่อยๆ ผ่อนคลาย ทำให้อาการปวดประจำเดือนทุเลาลง รวมไปถึงการอาบน้ำอุ่นก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยลดอาการปวดประจำเดือนได้


จิบเครื่องดื่มอุ่นๆ ที่ไม่ใช่ชาหรือกาแฟร้อน

นอกจากการสัมผัสความร้อนจากภายนอก การปรับให้ภายในร่างกายอุ่นขึ้นด้วยการจิบเครื่องดื่มอุ่นๆ ระหว่างวันก็ช่วยลดอาการปวดประจำเดือนลงได้ แต่ไม่ควรดื่มเป็นชาหรือกาแฟร้อน เพราะเครื่องดื่มประเภทคาเฟอีนจะมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ส่งผลให้อาการปวดประจำเดือนเพิ่มความรุนแรงขึ้นได้ ควรเลือกเป็นน้ำอุ่นธรรมดา น้ำผึ้งผสมมะนาว หรือน้ำขิงอุ่นๆ จะดีกว่า


เน้นกินอาหารกลุ่มที่มีแมกนีเซียม

รู้หรือไม่ว่า แค่เลือกกินให้ถูกก็ช่วยลดอาการปวดประจำเดือนได้โดยไม่ต้องพึ่งยาเลยทีเดียว ซึ่งอาหารที่เหมาะสำหรับช่วงมีประจำเดือน คือกลุ่มที่มีแมกนีเซียม เช่น ผักโขม ผักปวยเล้ง ตำลึง หรือกล้วย เพราะแมกนีเซียมมีส่วนช่วยคลายกล้ามเนื้อ ลดอาการปวดเกร็งในช่องท้อง ทำให้อาการปวดประจำเดือนทุเลาลงได้


นวดบริเวณท้องน้อยเบาๆ

หากมีอาการปวดท้องประจำเดือนขณะนั่งทำงาน ก็สามารถบรรเทาด้วยการนวดบริเวณท้องน้อยเบาๆ โดยนวดวนเป็นวงกลมเพื่อให้กล้ามเนื้อบริเวณท้องผ่อนคลายลง อาการปวดประจำเดือนจากการตึงของกล้ามเนื้อก็จะลดลงตามไปด้วย


การฝังเข็มระงับปวด

อีกวิธีที่ใช้เทคนิคทางการแพทย์เข้าช่วย ก็คือการฝังเข็มระงับปวด เป็นการฝังเข็มเพื่อกระตุ้นการทำงานของส่วนต่างๆ ในร่างกาย ช่วยให้ระบบเลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น มดลูกคลายตัวจากการบีบรัด ป้องกันอาการปวดประจำเดือน... หรือช่วยให้อาการปวดประจำเดือนไม่รุนแรงมากนัก หากออกกำลังกายก็แล้ว จิบน้ำอุ่นก็แล้ว หรือกินยาบรรเทาปวดก็แล้ว แต่อาการปวดประจำเดือนก็ยังไม่ดีขึ้น หรืออาการปวดกลับเพิ่มระดับความรุนแรง นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงโรคที่ซ่อนอยู่ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดจะดีกว่า

ปรึกษาแพทย์ออนไลน์