ท้องผูกมีเลือดปน หนีไม่พ้นริดสีดวง
โรคริดสีดวงทวารเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในผู้สูงอายุและหญิงตั้งครรภ์มักจะมีความเสี่ยงสูงขึ้น ปัจจุบันขอสรุปทางการแพทย์บ่งชี้ว่า โรคนี้พบบ่อยในผู้ที่มีพฤติกรรมการเบ่งถ่ายอุจจาระที่รุนแรงและเรื้อรัง โดยเฉพาะผู้ที่ท้องผูกบ่อยๆ ทำให้เกิดเลือดคั่งในเส้นเลือดดำที่ผนังรูทวารหนักจนกลุ่มเส้นเลือดและเนื้อเยื่อบริเวณส่วนปลายของลำไส้โตขึ้น เกิดเป็นริดสีดวงทวารในที่สุด ดังนั้น ผู้ที่มีอาการท้องผูกเรื้อรัง หรือมีพฤติกรรมถ่ายอุจจาระเบ่งแรงๆ ถ่ายบ่อยๆ นั่งถ่ายเป็นเวลานานๆ เช่น เล่นโทรศัพท์มือถือหรืออ่านหนังสือไปด้วย ควรหาทางแก้ไขและปรับปรุงระบบขับถ่ายให้ดีขึ้น
ริดสีดวงทวารแบ่งได้เป็น 2 ประเภท
- ริดสีดวงทวารภายใน คือริดสีดวงที่อยู่เหนือเส้นสมมุติ (Dentate line)
แบ่งออกเป็น 4 ระยะคือ
ระยะที่ 1 ไม่มีก้อนยื่นออกมานอกทวารหนัก
ระยะที่ 2 มีก้อนยื่นออกมาขณะเบ่งอุจจาระและหดกลับเข้าไปได้เอง
ระยะที่ 3 มีก้อนยื่นออกมาขณะเบ่งอุจจาระแต่ไม่หดกลับเข้าไปต้องใช้มือช่วยดันเข้าไป
ระยะที่ 4 มีก้อนยื่นออกมาและไม่สามารถใช้มือดันเข้าไปได้ต้องผ่าตัดริดสีดวงทวาร
- ริดสีดวงภายนอก คือริดสีดวงที่อยู่ใต้เส้นสมมุติ (Dentate line) ซึ่งจะอยู่นอกบริเวณทวารหนัก อาจมีก้อนคลำได้ ส่วนที่คลุมก้อนจะเป็นผิวหนังมักมีอาการคันและเจ็บ ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ด้วยอาการ ดังนี้
- ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด หลังการถ่ายอุจจาระ ลักษณะเลือดจะเป็นเลือดสดๆ ไม่มีมูกเลือดปน
- มีก้อนยื่นออกมาระหว่างถ่ายอุจจาระ หรือมีก้อนออกมาตลอดเวลา หรือคลำพบก้อนที่บริเวณทวารหนัก
- เจ็บบริเวณทวารหนัก โดยเฉพาะเวลาถ่ายอุจจาระ
- ทวารหนักเปียกแฉะ คันรอบๆ ปากทวารหนัก
การรักษาริดสีดวงทวารแบบไม่ต้องผ่าตัด
เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ แพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาโดยดูจากอาการ และความรุนแรงของโรค ถ้ายังเป็นไม่มากก็จะเน้นที่การให้ยาและแนะนำการปฏิบัติตัว ติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ ในบางกรณีอาจจะต้องใช้ยางชนิดพิเศษเพื่อรัดริดสีดวงทวารไว้ แต่หากเป็นระยะที่รุนแรงหรือใช้การรักษาด้วยยาและอุปกรณ์ต่างๆ แล้วไม่ได้ผล ก็จะพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดเป็นลำดับต่อไป
การรักษาริดสีดวงทวารด้วยการผ่าตัด
การผ่าตัดริดสีดวงทวารมักใช้เป็นทางเลือกสุดท้าย ทั้งนี้แพทย์และผู้ป่วยยังสามารถพิจารณาร่วมกันว่า ควรเลือกการผ่าตัดด้วยวิธีใด ตามอาการและความรุนแรง ดังนี้
- การตัดริดสีดวง มักใช้ในกรณีที่มีริดสีดวงภายนอกขนาดใหญ่หรือริดสีดวงภายในหย่อนออกจากลำไส้ตรง ขั้นตอนการผ่าตัด แพทย์จะฉีดยาระงับความรู้สึก แล้วเริ่มผ่ารอบๆ ทวารหนักเพื่อนำริดสีดวงออก ปกติแล้วผู้ป่วยจะใช้เวลาพักฟื้นราว 2 สัปดาห์ หรือไม่เกิน 6 สัปดาห์
- การตัดเย็บหัวริดสีดวง ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีริดสีดวงหย่อนออกมาภายนอก แพทย์จะใช้เครื่องมือทำการตัดและเย็บริดสีดวงให้กลับเข้าไปในลำไส้ตรง เพื่อให้เนื้อเยื่อนั่นหดเล็กลงและตายไปจากการที่ไม่มีเลือดไปหล่อเลี้ยง การผ่าตัดแบบนี้มักมีเลือดออกน้อย ไม่ค่อยรู้สึกระคายเคือง ใช้เวลาพักฟื้นน้อยกว่ารักษาด้วยการตัดริดสีดวง
- การเย็บผูกริดสีดวงทวาร วิธีนี้เป็นวิธีผ่าตัดเพื่อลดการไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงริดสีดวง ทำให้ริดสีดวงเล็กลง โดยหลังจากฉีดยาระงับความรู้สึก แพทย์จะสอดอุปกรณ์อัลตราซาวด์เข้าไปในทวารหนัก และทำการเย็บหลอดเลือดที่ลำเลียงเลือดไปเลี้ยงริดสีดวงให้ปิดสนิท
ปรับพฤติกรรมลดเสี่ยงริดสีดวงทวาร
อย่างที่ทราบกันดีว่า โรคริดสีดวงทวารส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมการกินและการขับถ่าย หากท่านเป็นผู้หนึ่งที่มีความเสี่ยง ก็ยังไม่สายที่จะปรับพฤติกรรมเพื่อลดเสี่ยง ซึ่งนอกจากจะทำให้ท่านไม่เป็นริดสีดวงทวารแล้ว ยังจะส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวม แถมทำได้ง่ายๆ ดังนี้
- รับประทานอาหาร ผักและผลไม้ที่มีกากใยสูง เพื่อให้ขับถ่ายคล่อง ลดอาการท้องผูก
- ดื่มน้ำอย่างน้อยกว่าวันละ 2 ลิตร เพื่อให้อุจจาระมีความอ่อนตัวมากขึ้น ถ่ายสะดวก
- หลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ด มัน และสัตว์เนื้อแดงที่ย่อยยาก หนึ่งในสาเหตุทำท้องผูก
- หลีกเลี่ยงการเบ่งถ่ายอุจจาระแรงๆ หากพบว่าเป็นโรคท้องผูกควรเข้ารับการรักษา
- ไม่ใช้เวลาในการถ่ายอุจจาระนานเกินไป หลีกเลี่ยงการเล่นโทรศัพท์มือถือขณะขับถ่าย
- ฝึกขับถ่ายให้เป็นเวลา เพื่อไม่ให้มีอุจจาระตกค้างในสำไส้ใหญ่นานเกินไปจนเป็นก้อนแข็ง
- หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อให้ลำไส้มีการเคลื่อนไหว และทำงานได้ดีขึ้น
สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
แผนก ศัลยกรรมทั่วไป อาคาร 1 ชั้น 1
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร 02-363-2000 ต่อ 2145-2146
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn