-
“ติ่งเนื้อ” จุดเริ่มต้นของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่
หากพูดถึง ติ่งเนื้อ หลายคนคงนึกถึงส่วนเกินที่ไม่มีอันตรายใดๆ แต่หากติ่งเนื้อนี้เกิดขึ้นภายในร่างกายอย่างลำไส้ใหญ่ ซึ่งเป็นอวัยวะที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า หากปล่อยไว้นานเข้าติ่งเนื้ออาจพัฒนากลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ในอนาคต
ติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่เกิดจากอะไร?
ติ่งเนื้อที่เกิดขึ้นภายในลำไส้ใหญ่ เกิดจากการเจริญเติบโตของก้อนเนื้อที่เกิดขึ้นบริเวณผิวหนังลำไส้ใหญ่ โดยก้อนเนื้อจะถูกกระตุ้นด้วยสารพิษที่อยู่ในอาหารโดยเฉพาะอาหารมัน ซึ่งมักจะเป็นผลมาจากอาหารที่รับประทานเข้าไปเป็นเวลานานหลายปี ประกอบกับมีความผิดปกติที่ยีน หรือสารพันธุกรรมจนเกิดการแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้ใหญ่ ทำให้เกิดเป็นเนื้องอกเล็กๆ ขึ้น มีลักษณะเป็นติ่งเนื้อเยื่อยื่นออกมาจากผนังลำไส้ เรียกว่า “Polyp” ซึ่งแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ชนิดมีก้าน (Pedunculated type) และชนิดไม่มีก้าน (Sessile type)
ต่อมาเนื้องอกเล็กๆ นี้จะเกิดการกลายพันธุ์และแบ่งตัวหลายๆ ครั้งขึ้นจนมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งยิ่งมีขนาดใหญ่โอกาสเป็นมะเร็งก็มีสูงขึ้น โดยติ่งเนื้อชนิดมีก้านขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร จะใช้เวลาประมาณ 10 ปี ก่อนที่จะพัฒนากลายเป็นมะเร็ง ดังนั้นถ้าสามารถตรวจพบติ่งเนื้อก่อนตั้งแต่ขนาดเล็ก และตัดออกให้หมดก็จะสามารถตัดวงจรการกลายเป็นมะเร็งได้
ตรวจหาติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่...ทำอย่างไร?
เนื่องจากอาการของติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ โดยทั่วไปมักไม่มีอาการแสดง การตรวจหาจึงสามารถทำได้โดย
การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) : เป็นการส่องกล้องทางทวารหนัก เพื่อดูความผิดปกติภายในลำไส้ใหญ่ หากพบติ่งเนื้อที่น่าสงสัยก็สามารถตัดติ่งเนื้อออกมาเพื่อตรวจผลทางพยาธิวิทยาได้ ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่แม่นยำที่สุดในการตรวจหาติ่งเนื้อ
การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (CT Colonography) : เป็นการตรวจที่เหมาะกับผู้ป่วยที่ไม่มีประวัติใดๆ แต่มีความต้องการที่จะตรวจคัดกรองโรค โดยการตรวจด้วยวิธีนี้จะเห็นทั้งภายในและภายนอกลำไส้ รวมทั้งอวัยวะในช่องท้องทั้งหมด โดยไม่จำเป็นต้องส่องกล้องผ่านทางทวารหนัก แต่จะใช้การเป่าลมเข้าไปทางทวารหนักแทน
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy)
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจ ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาระบายชนิดพิเศษ และปรับชนิดของอาหาร โดยแนะนำให้รับประทานอาหารประเภทเหลวใส หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารประเภทผัก หรือผลไม้ อย่างน้อย 1 วัน เพื่อช่วยล้างลำไส้ให้สะอาด และเพิ่มความแม่นยำในการตรวจ
ดังนั้นการป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ดีที่สุด คือ การตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นประจำสม่ำเสมอ ด้วยวิธีการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) หรือการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (CT Colonography) รวมถึงการควบคุมพฤติกรรมการรับประทานอาหารชนิดต่างๆ เพื่อให้ร่างกายเกิดความสมดุลและปลอดภัยจากโรคร้าย
บทความโดย
นายแพทย์ อัครวุฒิ จันทราพิรัตน์
แพทย์ประจำอายุรกรรมทางเดินอาหาร
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ