แพทย์หญิง ณัฐณิชา สิมะโรจนา

แพทย์ประจำสาขาสูตินรีเวชทั่วไป

วุฒิบัตร

ศูนย์สุขภาพสตรี│WOMEN CENTER
วัน เวลา
จันทร์ 09:00 - 20:00
อังคาร 09:00 - 16:00
พุธ 08:00 - 16:00
พฤหัสบดี 09:00 - 16:00
อาทิตย์ 08:00 - 20:00

พญ.ณัฐณิชา สิมะโรจนา

สูติ-นรีแพทย์
รพ.เปาโล สมุทรปราการ

การศึกษา

  • แพทยศาสตรบัณฑิต วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
  • วุฒิบัตรสูติ-นรีเวช วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

"แม้ผู้หญิงยุคปัจจุบันจะมีลูกช้าลง ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่างๆ เช่น เพิ่มโอกาสที่ลูกจะเป็นดาวน์ซินโดรม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ที่อายุน้อยจะเป็นไม่ได้ หรือการตั้งครรภ์ตอนอายุมากมีโอกาสเป็นเบาหวานเยอะกว่าก็จริง แต่หากคุมอาหารดีก็จะไม่เป็น ตรงกันข้าม หากตั้งครรภ์ตอนอายุน้อยแต่ไม่ระวังการกินอาหารหวานๆ ก็อาจเป็นเบาหวานได้ เรื่องความดันก็เช่นกัน หากคุณแม่มาฝากครรภ์และมาตรวจอย่างสม่ำเสมอ หมอก็จะช่วยเฝ้าระวังและหาทางลดหรือหยุดความเสี่ยงให้ หรือหากมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นก็ต้องประคับประคองไม่ให้ลุกลามรุนแรง สรุปง่ายๆ ว่าหากเรามีการเตรียมตัวที่ดี ก็จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้ทั้งกับคุณแม่และคุณลูกได้นั่นเอง"

พญ.ณัฐณิชา สิมะโรจนา จบการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และด้วยความที่คุณหมอเป็นคนที่ชอบอยู่กับเด็กๆ และในตอนเป็นนักเรียนแพทย์อยู่นั้นก็ประทับใจเมื่อได้ร่วมทำคลอดกับอาจารย์แพทย์ จึงทำให้คุณหมอเลือกศึกษาต่อวุฒิบัตรสูติ-นรีเวช วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ปัจจุบันคุณหมอเป็นสูติ-นรีแพทย์ อยู่ที่ รพ.เปาโล สมุทรปราการ...

"จุดเริ่มต้นที่เลือกเรียนหมอ ก็ด้วยการส่งเสริมจากครอบครัว พอได้มาเรียนจริงๆ ก็รู้สึกชอบและเหตุผลสำคัญที่เลือกศึกษาต่อในสาขาสูติ-นรีเวช เพราะเมื่อได้ทำคลอดทุกครั้งก็จะมีความสุขจากการได้เห็นเด็กน่ารักตัวน้อยๆ ลืมตาดูโลก ประทับใจในความบริสุทธิ์ของเขา ที่หมอชอบอีกอย่างหนึ่งคือ ผู้ที่มาฝากครรภ์หรือทำคลอดส่วนใหญ่ก็เป็นคนไข้ที่แข็งแรงอยู่เดิม เพียงแต่ว่าหมอจะต้องดูแลอย่างดี เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงด้วยการค้นหาและตรวจอย่างรอบด้าน เพื่อให้การตั้งครรภ์ดำเนินไปได้ด้วยดีจนถึงวันคลอด"

สูติ-นรีแพทย์ กับการคาดหวังของคนไข้

คนไข้ในแผนกสูติ-นรีเวช ที่คุณหมอดูแลแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ...

1.กลุ่มสูติ คือสตรีตั้งครรภ์ที่มาฝากครรภ์ หรือคนไข้ที่ตั้งครรภ์แล้วมีภาวะแทรกซ้อนมา เขาก็ต้องอยากกลับออกไปด้วยความแข็งแรงทั้งแม่และลูก หมอก็มีหน้าที่ช่วยให้เขาผ่านไปได้ในทุกๆ ช่วงเวลาของการตั้งครรภ์...

"ส่วนใหญ่แล้วคุณแม่ตั้งครรภ์ก็อยากคลอดแบบธรรมชาติ หมอก็แนะนำอย่างนั้น เพราะจะดีกับลูกมากกว่า แต่ถ้าลูกตัวใหญ่ หรือคนไข้เจ็บท้องมากแล้วแต่มีปัญหาว่าไม่พร้อมกับการคลอดแบบธรรมชาติ ก็จำเป็นต้องผ่าคลอด ซึ่งปัจจุบันก็มีความปลอดภัยสูงกว่าในสมัยก่อนมาก"

ปกติแล้วคุณหมอณัฐณิชา จะไม่แนะนำให้ผ่าคลอดหลายครั้ง เพราะจะมีความเสี่ยงในท้องถัดๆ ไป เช่น มีโอกาสเจ็บท้องก่อนเวลา เสียเลือดมาก มดลูกแตกถ้าท้องใหญ่หรือท้องแข็งเพราะมดลูกบางลง หรือการมีรกผิดปกติ ผู้ที่เคยผ่าคลอดและตั้งครรภ์ถัดมาจึงต้องระวังและดูแลตัวเองให้มากกว่าปกติ ทั้งนี้ คุณหมอก็จะให้ความรู้ คำแนะนำ ทั้งการดูแลตนเอง และการเลือกวิธีคลอดที่เหมาะสมเพื่อความปลอดภัยสูงสุด

ในด้านสุขภาพของเด็กในครรภ์ ก็จะมีการตรวจหาโรคทางพันธุกรรมและดูความผิดปกติของโครโมโซมต่างๆ เช่น การตรวจดาวน์ซินโดรม จะตรวจได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 3-4 เดือน โดยการเจาะเลือด ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงจากการเจาะน้ำคร่ำได้ หากพบความผิดปกติคนไข้ก็สามารถเลือกยุติการตั้งครรภ์ หรือจะเก็บรักษาลูกไว้ก็ได้...

"ถ้าลูกเขาผิดปกติ เขาก็ไม่อยากให้ลูกมีความทุกข์ ส่วนใหญ่ก็มักจะเลือกยุติการตั้งครรภ์ แต่ก็มีบางรายที่พบว่าลูกเขาเป็นดาวน์ซินโดรม แต่เขาก็ขอตรวจอัลตราซาวด์เพิ่มว่ามีอย่างอื่นผิดปกติอีกไหม พอไม่มีอย่างอื่นที่ผิดปกติ เขาก็ตั้งครรภ์ต่อจนคลอด และเลี้ยงลูกจนโต ก็นับเป็นคุณแม่ที่เข้มแข็งมาก"

การรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ คุณหมอณัฐณิชา จะใช้วิธีการพูดคุยกับคนไข้ให้เข้าใจทุกขั้นตอนว่า การตรวจแบบไหนจะทำให้ทราบอะไร มีการรักษาหรือทางออกอย่างไรบ้าง จะบอกถึงข้อดี ข้อเสีย ประโยชน์ของการทำสิ่งต่างๆ ทุกอย่าง แม้จะต้องใช้เวลาอธิบายแต่ก็เพื่อให้คนไข้มีทางออกในแต่ละปัญหา และสามารถดูแลหรือสังเกตร่างกายของตนเองได้ดีขึ้น จะได้รีบมาพบแพทย์เพื่อรักษาได้ทันทีเมื่อเห็นความผิดปกติ

2.กลุ่มนรีเวช คือรักษาโรคต่างๆ ที่เกี่ยวกับผู้หญิง เกี่ยวกับมดลูก รังไข่ เนื้องอก ถุงน้ำรังไข่ หรือผู้หญิงวัยประจำเดือน ซึ่งอาจจะมาด้วยเพราะมีอาการ หรือมาตรวจหาความเสี่ยงเพื่อการป้องกันก็ได้ อย่างมะเร็งปากมดลูกที่ผู้หญิงทุกคนควรได้รับการตรวจ...

"มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่ตรวจได้ตั้งแต่ยังไม่เป็น ผู้หญิงส่วนหนึ่งมักเลือกที่จะตรวจอัลตราซาวด์มดลูก รังไข่ โดยที่คิดว่ามะเร็งปากมดลูกยังไม่ต้องตรวจเพราะยังไม่มีอาการ แต่ในความเป็นจริง ถ้าเราตรวจมะเร็งปากมดลูกทุกปี เราสามารถลดจำนวนผู้ป่วยลงได้เยอะมากๆ คือแทบจะเรียกว่าป้องกันได้ เพราะการตรวจเราหวังผลเพื่อให้รู้ก่อนเป็นมะเร็ง ตั้งแต่เซลล์ผิดปกติ เพื่อเราจะรักษาหรือตัดออกตั้งแต่ตอนนั้น หมออยากให้ทุกคนมาตรวจปีละครั้ง ทำให้เหมือนมาตรวจสุขภาพทั่วไป ไม่ต้องอาย เพราะถ้าเป็นขึ้นมาแล้วจะน่าเสียดายที่ไม่ยอมตรวจก่อน"

เป็นสูติ-นรีแพทย์ที่รับฟังอย่างเปิดใจ

ด้วยความเป็นผู้หญิงด้วยกัน พญ.ณัฐณิชา จะทราบดีว่า คนไข้ทุกคนต้องการความเข้าใจและการรับฟัง แรกๆ คนไข้อาจจะไม่กล้าพูด แต่คุณหมอจะเปิดใจให้ทุกคนได้กล้าคุยกับคุณหมอ และเพราะเป็นผู้หญิงเหมือนกัน เมื่อได้รับฟังในหลายๆ ปัญหาอย่างละเอียดลึกซึ้ง ก็จะเกิดความเข้าใจว่าคนไข้ต้องการอะไร มีอะไรที่เขากังวล คุณหมอก็จะหาทางแก้ไข มีทางออกและตัวเลือกให้ในทุกๆ ปัญหา คุณหมอบอกว่า การพูดคุยถือเป็นขั้นตอนสำคัญในการวินิจฉัยโรคอย่างหนึ่ง บางครั้งคนไข้ก็ต้องการเพียงกำลังใจ อยากได้ยินหมอบอกว่า “ไม่เป็นไรนะ หมอจะดูแลอย่างดีที่สุด” เท่านี้ คนไข้ก็มีความหวังแล้ว หรือบางทีคนไข้พาสามีมาด้วยก็เพื่อให้สามีมาฟังด้วยว่า สิ่งที่เขาเป็นมันคืออะไร มันเป็นภาวะผิดปกติแบบไหน ปัญหาคืออะไร จะได้ร่วมกันแก้ไข