พญ.อังค์วรา วงศ์อุดมมงคล

จิตเวช (Let's Talk)

วุฒิบัตร

จิตแพทย์
วัน เวลา
จันทร์ 08:30 - 17:30
พฤหัสบดี 08:30 - 17:30
ศุกร์ 08:30 - 17:30
เสาร์ 08:30 - 17:30
**กรุณานัดหมายล่วงหน้าก่อนเข้ารับบริการ

ประวัติการศึกษา
วุฒิการศึกษาสถาบันการศึกษา

แพทยศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม)

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วุฒิบัตรสาขาจิตเวชศาสตร์

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์



           ปัจจุบันการรับรู้ และความสนใจต่อสุขภาพจิตมีมากขึ้น ผู้คนหันมาใส่ใจเรื่องของความคิด ความรู้สึก และมองว่าสุขภาพจิตนั้นสำคัญไม่แพ้สุขภาพกายเลย มุมมองเหล่านี้ทำให้คนเข้ามาปรึกษาหมอมากขึ้น แบบนี้เป็นซึมเศร้าหรือไม่? อันนี้ ผิดปกติหรือเปล่า? หมออยากให้ทุกคนหมั่นสังเกตตัวเองบ่อยๆ หากอารมณ์ ความคิดตัวเองเปลี่ยนไป และมันรบกวน ยิ่งอาการเยอะ ยิ่งอาการเกิดขึ้นเร็ว บางคนจะบอกได้เลยว่า ที่คิด ที่รู้สึกแบบนี้ มันไม่ใช่นิสัยของตัวเองเลย ในขณะที่บางคนมีอาการน้อย แต่เป็นมานาน หากไม่หมั่นสังเกต อาจไม่รู้ตัวเลยว่ากำลังถูกโรคทางจิตเวชรบกวนอยู่ เพราะมันแนบเนียน เหมือนเป็นความคิด ความรู้สึกของตัวเอง แต่จริงๆ แล้ว มันคือโรคที่ค่อยๆ กัดกินพลังงานชีวิตเราอยู่ ถ้าสงสัยว่าตัวเองมีโรคทางจิตเวช หรือคนรอบข้างทักว่าดูเปลี่ยนไป แนะนำว่าควรมาพบจิตแพทย์ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยดีกว่า



หลังจาก พญ.อังค์วรา วงศ์อุดมมงคล สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้ไปเป็นแพทย์ใช้ทุนและได้กลับมาศึกษาต่อวุฒิบัตรสาขาจิตเวชศาสตร์ ซึ่งคุณหมอได้เล่าถึงแรงบันดาลใจและประสบการณ์ในการศึกษาว่า... หมอเห็นว่าการเรียนแพทย์ นอกจากเป็นประโยชน์กับผู้คนในวงกว้างแล้ว ยังสามารถช่วยเหลือ ดูแลสุขภาพของคนในครอบครัวได้ด้วย ส่วนที่สนใจเป็นจิตแพทย์ และศึกษาต่อด้านจิตเวชศาสตร์นั้น เพราะหมอสนใจเรื่องของจิตใจ อยากรู้ถึงสาเหตุของพฤติกรรมต่างๆ ที่ผิดปกติไป จากผู้คนที่เราพบในชีวิตประจำวัน รวมถึงจากที่เคยเห็นผ่านตัวละคร จากการดูหนังดูซีรีส์ต่างๆ พอได้เห็นตัวละครบางตัวที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต รวมถึงตัวละครที่เป็นจิตแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา หมอรู้สึกว่าเป็นศาสตร์ที่น่าสนใจและน่าศึกษา จนทุกวันนี้ที่ได้มาเป็นจิตแพทย์ ได้ดูแลคนไข้ในหลากหลายปัญหาจิตใจ ยิ่งคิดว่า
สุขภาพจิต เป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นเรื่องสำคัญ ที่สามารถดูแล ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูให้ดีได้
 
จิตใจ ดูแล ได้เองทุกวัน - โรคจิตเวช รักษา โดยผู้เชี่ยวชาญ

ความรู้สึกและความคิดเกิดจาการทำงานของสมอง หากสมองส่วนต่างๆ ทำงานผิดปกติไป จะเกิดโรคต่างกัน เช่น สมองส่วนควบคุมกล้ามเนื้อทำให้ชาอ่อนแรง สมองส่วนของความคิดทำให้เกิดโรควิตกกังวล หลงผิด หรือความจำเสื่อม สมองส่วนของอารมณ์ ทำให้เศร้ามาก หงุดหงิดมาก ครื้นเครงมาก กลายเป็นโรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ และเมื่ออารมณ์ ความคิดผิดปกติไป อาจเกิดปัญหาพฤติกรรมตามมา เช่น มีพฤติกรรมแปลกไป ไม่เหมาะสม เสพติด หรือทำอะไรซ้ำๆ ซึ่งรบกวนทั้งตนเองและผู้อื่น โดยคุณหมออังค์วรา ได้กล่าวถึงการดูแล รักษาสุขภาพจิต และการบำรุงสุขภาพใจไว้ว่า...


ที่ Let's Talk โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน เรามีคนไข้ที่หลากหลาย ตั้งแต่เครียด นอนไม่หลับ ไปจนถึงมีอาการหลงผิด หูแว่ว ทำร้ายตัวเอง อับดับหนึ่งที่มาที่นี่ จะมาด้วยเรื่องความเครียด (Adjustment disorder) โดยปกติเมื่อมีเรื่องมากระทบ จะเกิดความเครียด คิดมาก เพื่อหาทางแก้ปัญหา หาทางปรับตั
(Adjust) แต่ถ้าในช่วงปรับตัว เกิดความเครียดมากเกินไป จนรบกวน ทำให้กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิ รบกวนชีวิตประจำวัน หากใครพยายามจัดการความเครียดด้วยตัวเองแล้วยังไม่ดีขึ้น หรือรู้สึกว่าถูกความเครียดรบกวนอย่างมาก แนะนำให้มาพบผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือนักบำบัดแขนงต่างๆ เพื่อบำบัด หรือพิจารณาการใช้ยาเพื่อคลายเครียด ส่วนคนไข้ที่พบบ่อยรองลงมา เป็นกลุ่มปัญหาโรคซึมเศร้า และโรควิตกกังวล แต่ไม่ว่าจะมีปัญหาด้านไหน หากเป็นเรื่องของจิตใจเราก็ดูแลทั้งหมด

 

ความเข้าใจ ไว้วางใจ หัวใจของการรักษา

คุณหมออังค์วรา ยังบอกด้วยว่า การเป็นจิตแพทย์ที่เก่งต้องมีคุณสมบัติการเป็นผู้ฟังที่ดีด้วย คือตั้งใจฟังสิ่งที่คนไข้อยากจะบอกก่อน เพราะคนที่เข้ามาปรึกษามักมีเรื่องจะเล่ามากมายอยู่แล้ว โดยข้อมูลที่คุยกันจะเป็นความลับของคนไข้ จะเปิดเผยต่อเมื่อคนไข้อนุญาต หรือเพื่อความปลอดภัยเท่านั้น...

สิ่งสำคัญที่จิตแพทย์ต้องมี เพื่อให้ผู้คนได้เข้าถึงการดูแลอย่างแท้จริง คือ empathy การเอาใจเขามาใส่ใจเรา หมอมองว่าเราทุกคนย่อมมีจิตใจ มีความรู้สึกเหมือนๆ กัน ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เขารู้สึกอะไร ถ้าเรารู้สึกเหมือนเขาได้ เข้าใจสถานการณ์ที่เขาเจออยู่ได้ ย่อมทำให้การดูแลรักษาเป็นไปได้ดีและตรงจุดมากขึ้น เมื่อคนที่มาปรึกษารับรู้ได้ว่าหมอมี empathy เขามักจะกล้าแสดงความรู้สึกที่แท้จริง ไม่ต้องกลัวถูกตัดสิน ซึ่งนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ดีในการรักษา ในทางจิตเวช ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างหมอกับคนไข้มีความสำคัญมาก เมื่อเวลาผ่านไป ยิ่งพูดคุย ยิ่งเกิดความเข้าใจ ความไว้ใจ ความร่วมมือระหว่างหมอที่รับฟัง และแนะนำ กับคนไข้ที่ให้ข้อมูลและลงมือปฏิบัติดูแลตนเอง เกิดเป็น พันธมิตรในการรักษา (Therapeutic Alliance) ยิ่งช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทีมงานที่มีอุดมการณ์เดียวกัน สบายใจ และมีประสิทธิภาพ

จิตแพทย์คนเดียวไม่เพียงพอในการดูแลคนไข้จิตเวช โดยเฉพาะคนไข้ที่นอนโรงพยาบาล ยิ่งต้องมีสหวิชาชีพช่วยกันดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด...


ที่ Let's Talk เราทำงานกันเป็นทีม มีจิตแพทย์ นักจิตวิทยา พยาบาล และนักบำบัดแขนงต่างๆ เช่น จิตบำบัด (talk therapy) ศิลปะบำบัด (Art Therapy) ดนตรีบำบัด (Music Therapy) หรือกิจกรรมบำบัด (Occupational therapy) แต่ละคนเก่งและมีความถนัดทางเทคนิคต่างกันไป แต่มีเป้าหมายเหมือนกันคือตั้งใจดูแลสุขภาพจิตใจของผู้ที่มารับคำปรึกษา หลายครั้งหมอก็ปรึกษาทีมงาน ว่ามีมุมมอง มีวิธีการดูแลคนไข้รายนี้ เพิ่มเติมอย่างไรได้บ้าง ถ้าเหมาะกับคนไข้ หมอจะส่งต่อ หรือปรึกษาให้บำบัดคู่กันไป บางคนมาเจอนักบำบัด แล้วต้องการใช้ยาร่วมด้วย ก็ส่งมาปรึกษาหมอ ยิ่งผู้เชี่ยวชาญมารวมตัวช่วยกันคิด ยิ่งได้ประโยชน์กับผู้มารักษามากขึ้น

โดยทั่วไปการรักษาโรคทางจิตเวช มีทั้งการให้คำปรึกษา การใช้ยา การใช้เครื่องมือต่างๆ อย่าง Transcranial Magnetic Stimulation (TMS) แล้วแต่กรณี และลักษณะของโรค ไม่ว่าคนไข้จะประสบปัญหาด้านพฤติกรรม ความคิด หรือปัญหาจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว เมื่อได้รับการรักษา และแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดไปพร้อมๆ กับความร่วมมือจากคนไข้ และผู้ดูแล จะทำให้อาการต่างๆ ดีขึ้นได้

 

ความรู้ ความเข้าใจ เป็นรากฐานของความเชื่อมั่น และกำลังใจ

นอกจากคุณหมออังค์วรา จะเป็นจิตแพทย์ผู้บำบัดรักษาแล้ว คุณหมอยังเป็นวิทยากรให้ความรู้ด้านจิตเวชแก่องค์กรต่างๆ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง รวมถึงการให้ความรู้ทาง Youtube และ facebook page wellness illness คุณหมอเชื่อว่าการให้ความรู้ความเข้าใจในด้านจิตเวชที่ถูกต้อง จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมอย่างมาก ซึ่งแน่นอนว่า คุณหมออยากให้ทุกคนมีสุขภาพจิตที่ดี จึงให้แนวคิดสำหรับการดำเนินชีวิตไว้ว่า...

 หมอเชื่อว่าทุกสิ่งย่อมเปลี่ยนแปลงได้เสมอ หลายๆ ครั้งเราเครียด เราเศร้า เราเจ็บปวด เพราะคิดว่าทุกอย่างจะต้องเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ต้องเป็นอย่างที่เราหวังไว้เสมอ หรือในทางกลับกัน เวลาท้อแท้ หมดหวัง ก็เพราะคิดว่าจะต้องเศร้าตลอดไป ถ้าเราเปลี่ยนความคิดใหม่ มีความเชื่อ และความรู้ที่ถูกต้องว่าทุกอย่างนั้นเปลี่ยนแปลงได้เสมอ วันนี้ดีพรุ่งนี้อาจแย่ วันนี้แย่พรุ่งนี้อาจดี เพราะไม่มีอะไรเที่ยงแท้ เป็นธรรมดา หากเราเข้าใจ และยอมรับในจุดนี้ได้ จิตใจของเราจะทั้งแข็งแรงและยืดหยุ่น ทำให้ปรับตัวกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ง่ายขึ้น


การตรวจประเมินพิเศษ
การตรวจขอใบรับรองแพทย์เพื่อแปลงเพศ
การตรวจขอใบรับรองแพทย์ ประเมินสุขภาพจิตก่อนสมัครงาน/เรียน

กลุ่มโรค
ความเครียด และการปรับตัว
ความผิดปกติทางบุคลิกภาพ
โรคทางอารมณ์ เช่น ซึมเศร้า อารมณ์สองขั้ว
โรควิตกกังวล เช่น แพนิค กลัวเป็นโรคร้าย กลัวการเข้าสังคม กลัวสิ่งของ
โรคย้ำคิดย้ำทำ
โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง เช่น ถูกทำร้ายร่างกาย จิตใจ
โรคจิตเภท โรคจิตชนิดอื่นๆ
ปัญหาความจำ โรคสมองเสื่อม
โรคติกส์ และกลุ่มอาการทูเร็ต (Tics and Tourette Syndrome)

กลุ่มอาการหรือพฤติกรรมผิดปกติ
ปัญหาการนอน เช่น นอนไม่หลับ นอนหลับยาก ฝันรบกวน นอนหลับไม่สนิท
ปัญหาการกิน เช่น การรับประทานมาก/น้อย ผิดปกติ เบื่ออาหาร
คิดลบ คิดมาก กังวลง่าย ตื่นเต้นง่าย ความรู้สึกผิด
อารมณ์ผิดปกติ เช่น หงุดหงิดง่าย เศร้า เบื่อหน่าย ท้อแท้ สิ้นหวัง ไม่มีความสุข
ผิดหวัง สูญเสียคนสำคัญ
บุคลิกภาพ เช่น อารมณ์รุนแรง คิดมาก แยกตัวไม่เข้าสังคม
ไม่มั่นใจในตัวเอง
เจ็บปวดเรื้อรัง
ไม่สบายเรื้อรัง โดยไม่พบสาเหตุทางกาย
ปัญหายาเสพติด เช่น แอลกอฮอล์ บุหรี่ ยาเสพติดอื่นๆ
ปัญหาพฤติกรรมเสพติด เช่น ติดเกมส์ ติดการพนัน
พฤติกรรมซ้ำๆ เช่น ดึงผม กัดเล็บ โกหก
ความคิดหวาดระแวง หูแว่ว ภาพหลอน หลงผิด
ปัญหาความสัมพันธ์ ในครอบครัว คู่สมรส ความรัก
ปัญหาผู้สูงอายุ