นพ. บัณฑิต สุนทรเลขา

ศัลยกรรม

วุฒิบัตร

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดส่องกล้องศูนย์ศัลยกรรม
วัน เวลา
อาทิตย์ 08:00 - 12:00

คุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยหลังผ่าตัด คือกำลังใจของหมอ
สิ่งที่หมอนึกถึงแล้วทำให้ยิ้มเสมอคือ รอยยิ้มของผู้ป่วย”
เมื่อหมอผ่าตัดเรียบร้อยแล้วถึงเวลาที่ต้องนัดผู้ป่วยเข้ามาดูอาการต่อเนื่อง สิ่งที่เห็นคือคนไข้สามารถลุกเดินมาเอง ร่างกายฟื้นตัวแข็งแรง ยิ้มออก อยู่กับครอบครัวอย่างมีความสุข เท่านี้ในฐานะหมอก็รู้สึกยิ้มได้อย่างสุขใจแล้ว

ภาพแวบแรกเมื่อเรานึกถึง ศัลยแพทย์ หลายคนอาจเผลอเข้าใจไปว่า ศัลยแพทย์ต้องดูขรึมๆ นิ่งๆ พร้อมลงมีดได้ตลอดเวลา แต่เมื่อเราได้ทำความรู้จักกับคุณหมอร่างสูงโปร่งที่มาพร้อมกับประสบการณ์ในวงการศัลยแพทย์กว่า 30 ปี ท่านนี้ อาจทำให้เราแปลกใจ เพราะท่านดูใจดี และยังเป็นที่รักใคร่ของคนไข้มากมาย


กว่า 30 ปีของศัลยแพทย์ และอีก 20 ปี กับประสบการณ์การผ่าตัดผ่านกล้อง

ปัจจุบันโลกเราหมุนไปอย่างไม่หยุดนิ่ง ผมเชื่อว่าศัลยแพทย์ทุกคนหยุดอยู่กับที่ไม่ได้ เราจึงต้องหมุนตามไปกับมัน ตามมันทันให้โดยเฉพาะโรคต่างๆ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ๆ ที่เราต้องตามให้ทัน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ให้ดีขึ้น ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อเทคโนโลยีทางการแพทย์มีความก้าวหน้า และเราสามารถก้าวตามได้เป็นเรื่องดีมีประโยชน์ ยกตัวอย่างง่ายๆ วิธีการผ่าตัดผ่านกล้องสามารถช่วยชีวิตคนไข้ได้มากกว่าการผ่าตัดแบบธรรมดาเปิดแผลกว้าง (ยกเว้นแต่ในบางกรณีเท่านั้น) และปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่าทุกอย่างนั้นต้องมาจากการฝึกฝน ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ที่สั่งสม

“ยิ่งได้ทำการผ่าตัดผ่านกล้องมากขึ้น พบว่าช่วยให้คุณภาพชีวิตคนไข้หลังผ่าตัดดีขึ้น ทำให้ผมเกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไข้ทุกราย”


รับรู้ความกังวลของคนไข้…เพื่อการแก้ไขที่ตรงจุด

จากความก้าวหน้าทางด้านการแพทย์ทำให้เกิดการพัฒนาในการผ่าตัดมากมาย เมื่อลองมองย้อนมาที่ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด ความกังวลเรื่องอาการเจ็บปวดจากแผลผ่าตัด รอยแผลเป็น หรือแม้แต่เรื่องการงานที่ทำ เป็นจุดเริ่มต้นให้ นายแพทย์บัณฑิต สุนทรเลขา เลือกศึกษาต่อด้านการผ่าตัดผ่านกล้อง (Minimally Invasive Surgery) เพื่อสร้างทางเลือกที่จะตอบโจทย์ของผู้ป่วย และเป็นการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้ในการผ่าตัด เริ่มฝึกฝน สั่งสมเก็บเกี่ยวประสบการณ์ มาอย่างยาวนาน จนวันนี้กว่า 30 ปีแล้วที่ได้ช่วยเหลือผู้ป่วย โดยให้ความสำคัญกับโรคทางช่องท้อง เช่น การผ่าตัดโรคตับ โรคลำไส้ นิ่วในถุงน้ำดี ไส้ติ่ง ไส้เลื่อน เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นโรคที่คนไทยเจ็บป่วยมากที่สุด

การผ่าตัด ตับ ผ่านกล้อง เทคโนโลยีที่ควบคู่กับความชำนาญ

วิธีการผ่าตัดผ่านกล้องเป็นการผ่าตัดที่แพทย์ต้องฝึกฝนเพิ่มเติม แพทย์ที่ผ่าตัดผ่านกล้องได้จะต้องมีความเชี่ยวชาญในการผ่าตัดแบบธรรมดาเปิดแผลกว้าง แล้วจึงฝึกฝนวิธีการผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อให้มีความชำนาญ หลักการผ่าตัดคล้ายคลึงกัน เพียงแต่ผ่าตัดผ่านกล้องต้องผ่าตัดผ่านเครื่องมือที่เจาะรูเข้าไปในร่างกายคนไข้ และทำงานผ่านจอมอนิเตอร์ โดยกล้องมีจุดเด่นด้านกำลังการขยายที่มีมากกว่าตามนุษย์หลายเท่า เห็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ชัดเจน จึงผ่าตัดเก็บรายละเอียดได้ดีกว่ามองผ่านด้วยตามนุษย์ และการตัดก้อนเนื้อต้องค่อย ๆ ทำ เพราะทำได้เพียงไม่กี่มิลลิเมตรต่อการตัด 1 ครั้ง คนไข้จึงเสียเลือดน้อยกว่า แผลเล็ก เจ็บตัวน้อย คือฟื้นตัวเร็ว

สิ่งดีๆ จากเทคโนโลยีการผ่าตัดส่องกล้องแผลเล็ก

จากประสบการณ์การผ่าตัดผ่านกล้องกว่า 20 ปีช่วงเริ่มต้นผมจะผ่ากับนิ่วในถุงน้ำดี ต่อมากล้องคมชัดขึ้นเรื่อยๆ เครื่องมือพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเมื่อ 10 ปีที่แล้วจึงเริ่มใช้ในการผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ผลเป็นอย่างดี และพัฒนามาใช้ในการผ่าตัดมะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน ต่อมหมวกไต มะเร็งในไต ยิ่งทำก็ยิ่งมีความสุข เพราะผลการผ่าตัดมีประสิทธิภาพ ให้ผลที่ดีแม่นยำ ทำให้แพทย์ผู้ผ่าตัดรู้สึกดีไปด้วย การผ่าตัดผ่านกล้องนอกจากเป็นเทคโนโลยีผ่าตัดที่ทันสมัย มีข้อดีหลายประการ ตั้งแต่เรื่องของขนาดแผลที่เล็กกว่าวิธีการผ่าตัดธรรมดาแบบเปิดแผลกว้างอย่างเห็นได้ชัด คนไข้จะรู้สึกเจ็บปวดหลังผ่าตัดน้อยกว่า ร่างกายสามารถฟื้นตัวได้เร็ว เพราะเนื้อเยื่อได้รับบาดเจ็บน้อยในระหว่างผ่าตัด และด้วยขนาดแผลที่เล็กจึงส่งผลให้เกิดพังผืดน้อย พร้อมทั้งลดโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนด้านแผลติดเชื้อได้มาก จึงฟื้นตัวได้เร็ว สิ่งสุดท้าย คือ ค่าใช้จ่ายพักฟื้นในโรงพยาบาลไม่สูง เพราะพักฟื้นระยะสั้นกว่าแบบเปิดแผลกว้าง

นพ.บัณฑิต

“การผ่าตัดผ่านกล้องช่วยให้อุณหภูมิของอวัยวะในช่องท้องระหว่างผ่าตัดไม่มีการเปลี่ยนแปลง”

อีกหนึ่งความสำคัญของการผ่าตัดผ่านกล้อง คือ อุณหภูมิของอวัยวะในช่องท้องระหว่างผ่าตัดจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากกล้องมีตัวควบคุมอุณหภูมิที่ 37 องศาเซลเซียส แต่ในทางกลับกันหากผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องความเย็นในห้องผ่าตัดที่เย็นจัดจะเข้าไปในอวัยวะภายใน ส่งผลให้อุณหภูมิในร่างกายเปลี่ยนแปลง การผ่าตัดผ่านกล้องช่วยให้อุณหภูมิในร่างกายเป็นปกติ แม้ต้องใช้ระยะเวลาผ่าตัดนานเท่าใด หลังออกจากห้องผ่าตัดสามารถยกมือ พูดคุย และขยับลุกได้ เสียเลือดน้อย ร่างกายดูไม่บอบช้ำ คนไข้บางรายมีเพียงน้ำเกลือขวดเดียว ไม่มีอาการปวดมากนัก ถึงแม้จะอายุมาก สามารถบอกได้เลยว่าการผ่าตัดผ่านกล้องเป็นประโยชน์อย่างมากต่อคุณภาพชีวิตของคนไข้ แค่เพียงได้เห็นคนไข้หายดี ครอบครัวมีความสุข เท่านี้ในฐานะหมอก็รู้สึกยิ้มได้อย่างสุขใจแล้ว

จากข้อดีหลายประการที่กล่าวมา เมื่อต้องผ่าตัดโรคทางช่องท้อง หมอจะเลือกใช้วิธีผ่าตัดผ่านกล้องโดยเฉลี่ย 80 - 90 %ส่วนที่ไม่สามารถทำได้จะเป็นคนไข้ที่มีข้อห้ามในการผ่าตัดผ่านกล้อง เช่น ติดเชื้อเอชไอวี (HIV), คนไข้มีก้อนเนื้อขนาดใหญ่ เคยผ่าตัดมามาก และมีพังผืดจำนวนมาก แต่ถ้ามีเพียงพังผืดขนาดเล็กก็ยังสามารถผ่าตัดผ่านกล้องได้