ไขข้อสงสัย การตรวจ EST กับ ECHO ต่างกันอย่างไร
โรงพยาบาลเปาโลเกษตร
18-มี.ค.-2567

ไขข้อสงสัย การตรวจ EST กับ ECHO ต่างกันอย่างไร

เพราะ “หัวใจ” เป็นอวัยวะที่ทำงาน 24 ชั่วโมง และยังมีผลต่อการทำงานของอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกายอีกด้วย การตรวจสมรรถภาพการทำงานของ หัวใจ จึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่เราจะเลือกตรวจแบบไหนให้เหมาะกับเรา และการตรวจแต่ละแบบแตกต่างกันอย่างไร

การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย EST (Exercise Stress Test) : เป็นการตรวจโดยใช้หลักการกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นโดยการออกกำลังกาย การตรวจด้วยวิธีนี้จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือหัวใจเต้นผิดปกติ หากผู้ป่วยมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือหลอดเลือดหัวใจตีบจะทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ ส่งผลให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังมีความผิดปกติ มักใช้เป็นการตรวจวินิจฉัยขั้นต้น (Sgreening Test)


การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย EST (Exercise Stress Test) เหมาะกับใคร ?
เหมาะกับผู้ใหญ่อายุ 40 ปีขึ้นไป ทั้งที่ไม่มีและมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ตีบ เช่น ผู้ที่สูบบุหรี่ ระดับไขมันในเลือดสูง ผู้ป่วยเบาหวาน และความดันโลหิตสูง หรือผู้ที่มีอาการเจ็บแน่นหน้าอกบ่อยๆ ขณะการออกแรงหรือออกกำลังกาย


การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจ EST (Exercise Stress Test)

1. งดอาหารและเครื่องดื่มก่อนทำการทดสอบ 2-3 ชั่วโมง มื้อสุดท้ายควรงดอาหารมัน งดดื่มชา กาแฟและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
2. สามารถรับประทานยาประจำในวันที่มาตรวจได้ตามปกติ **ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับยาที่รับประทานเป็นประจำก่อนเข้ารับการตรวจ**
3. ควรนำยาที่รับประทานเป็นประจำหรือจดรายการยามาด้วย
4.ควรสวมหรือเตรียมชุดกีฬาและรองเท้าผ้าใบที่เหมาะสมกับการออกกำลังกาย


ข้อจำกัดในการตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย EST (Exercise Stress Test)
 การตรวจ EST ไม่สามารถเห็นโครงสร้างของหัวใจได้
 การตรวจ EST ไม่เหมาะกับผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับกระดูกและข้อเข่า และผู้ที่อายุมากกว่า 70 ปี (หรือออกกำลังไม่ไหว)
 การตรวจ EST ไม่เหมาะผู้ที่มีภาวะถุงลมโป่ง และ หอบหืด 

หัวใจ


การตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง
(ECHO , Echocardiogram) 
เป็นการตรวจวัดประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ โดยใช้การสะท้อนกลับของคลื่นเสียงความถี่สูงที่ถูกปล่อยออกมาจากหัวตรวจส่งผ่านผนังทรวงอกไปถึงหัวใจ เมื่อคลื่นเสียงผ่านอวัยวะต่าง ๆ ก็จะเกิดสัญญาณสะท้อนกลับที่แตกต่างกันระหว่างน้ำกับเนื้อเยื่อ ซึ่งคอมพิวเตอร์จะนำสัญญาณเหล่านี้มาแปลเป็นภาพให้เห็นบนจอ ทำให้ทราบถึงประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ เช่น การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ขนาดของห้องหัวใจ ลิ้นหัวใจ การไหลเวียนเลือดในหัวใจ การเกิดลิ่มเลือดในหัวใจ ผนังกั้นหัวใจรั่ว  เยื่อหุ้มหัวใจผิดปกติ และตำแหน่งหลอดเลือดต่าง ๆ ที่เข้าและออกจากหัวใจ

 

การตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (ECHO , Echocardiogram) เหมาะกับใคร ?

1. ผู้ป่วยที่มีอาการหอบ เหนื่อย หายใจลำบาก ตัวบวม นอนราบไม่ได้
2.
ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ
3. ผู้ป่วยที่มีหัวใจโต การบีบตัวน้อยกว่าปกติ
4.
ผู้ป่วยเส้นเลือดหัวใจตีบ หรือเคยมีอาการเนื้อหัวใจตาย (Myocardial Infarction)
5.
ผู้ป่วยที่มีลิ้นหัวใจผิดปกติ (ตีบ,รั่ว)
6.
ผู้ป่วยที่มีภาวะโรคหัวใจแต่กำเนิด (Congenital Heart Disease)
7.
ผู้ป่วยความดันสูงเรื้อรังเพื่อประเมินภาวะหัวใจโต
8. เพื่อดูภาวะหลอดเลือดแดงผิดปกติ (โป่งพอง)
9. ผู้ป่วยที่สงสัยกล้ามเนื้อหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ เช่น ผู้ป่วยที่เคยมีอาการหลังจากฉีดวัคซีนโควิด

 

ข้อจำกัดในการตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (ECHO , Echocardiogram)   

1. ดูได้เฉพาะโครงสร้างหัวใจ แต่จะไม่สามารถเห็นหลอดเลือดหัวใจได้
2.
อาจมองเห็นภาพไม่ชัดในผู้ที่อ้วนมาก ตัวบวม หรือโรคปอด ถุงลมอุดกั้นเรื้อรัง

 

       อย่างไรก็ตาม การตรวจสุขภาพหัวใจทั้ง 2 แบบ มีจุดประสงค์เดียวกันก็คือ การตรวจเพื่อค้นหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเกี่ยวกับหัวใจ หากคุณรู้สึก เหนื่อยง่าย หรือ เจ็บหน้าอก ใจสั่น เป็นลมหน้ามืด ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจ วินิจฉัย และรับการรักษาให้ หัวใจ กลับมาแข็งแรงหรือเพื่อป้องกันการลุกลามของโรค จะทำให้สุขภาพหัวใจแข็งแรง และมีอายุยืนยาว




สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
แผนก อายุรกรรม โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
โทร. 02 1500 900 ต่อ 5113
Facebook : โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
Line official account : Paolo Hospital Kaset
Line ID : @paolokaset