ผ่าตัดกระดูกสันหลังผ่านกล้อง ดีอย่างไร เหมาะกับใครบ้าง?
โรงพยาบาลเปาโล
21-ก.ค.-2563
หากพูดถึงโรคที่เกี่ยวกับกระดูกสันหลัง หรืออาการปวดหลังจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทนั้น หลายคนอาจคิดว่าเป็นโรคของผู้สูงวัย 50 หรือ 60 ปีขึ้นไปที่เกิดจากความเสื่อมของหมอนรองกระดูกตามอายุ แต่ในความเป็นจริงแล้ว โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทนั้น ปัจจุบันพบได้มากขึ้นในกลุ่มคนทำงาน ที่มีอายุระหว่าง 25–50 ปี อันมีสาเหตุหลักมาจากการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการมีอิริยาบถที่ใช้หลังอย่างผิดวิธี เช่น
  • การนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์นานๆ ในท่าที่ไม่เหมาะสม (นั่งหลังค่อม)
  • การขับรถระยะทางไกลโดยไม่พักเป็นประจำ
  • การต้องยกของหนักบ่อยๆ

ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้เมื่อทำเป็นประจำเป็นเวลานานหลายปี เมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะส่งผลต่อความเสื่อมของหมอนรองกระดูกทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือฉีดขาดจนของเหลวที่อยู่ภายในเคลื่อนออกมาทับเส้นประสาท โดยคนไข้มักมีอาการปวดหลังร้าวไปตามเส้นประสาทที่ถูกกดทับ และหากทิ้งไว้โรคก็มักลุกลามหนักขึ้นจนมีอาการชาและอ่อนแรงร่วมด้วยได้

ขั้นตอนการรักษาโรคหมอนกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท
จากสถิติผู้ป่วยโรคหมอนรองกระดูกสับเส้นประสาทนั้น
  • ผู้ป่วยส่วนใหญ่กว่า 80% มักจะหายได้จากการรักษาแบบประคับประคอง เช่น การให้ยา การทำกายภาพบำบัด ร่วมกับการปรับพฤติกรรม
  • ผู้ป่วย 20% มักจะอาการไม่ดีขึ้น หรือมีการกดทับขั้นรุนแรง จนจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด เพื่อนำส่วนที่กดทับเส้นประสาทออกและทำการซ่อมแซมกระดูก ซึ่งการผ่าตัดที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันคือการผ่าตัดผ่านกล้อง ENDOSCOPE

กล้อง ENDOSCOPE คืออะไร และดีอย่างไรเมื่อนำมาใช้ในการผ่าตัด?
Endoscope คือ เป็นนวัตกรรมกล้องขนาดเล็กที่ออกแบบมาเพื่อใช้ในการผ่าตัด ด้วยขนาดที่เล็กมากๆ แผลจึงมีขนาดเล็กเพียง 1 ซม. เท่านั้น
ในขณะผ่าตัดแพทย์จะสอดกล้องเข้าไปส่องยังอวัยวะส่วนที่ต้องการรักษา ทำให้มองเห็นตำแหน่งและลักษณะของรอยโรคได้อย่างชัดเจนผ่านหน้าจอมอนิเตอร์ ซึ่งเป็นเทคนิคการผ่าตัดแบบบาดเจ็บน้อย (Minimally invasive spine surgery)

ข้อดีของการผ่าตัดด้วยกล้อง Endoscope
ปลอดภัยมากขึ้น เพราะการมองเห็นรายละเอียดของรอยโรคหรือความผิดปกติที่ชัดเจน ทำให้การรักษาแม่นยำ ลดปริมาณเลือดออกในการผ่าตัด มีอัตราการติดเชื้อต่ำ ลดความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียง
แผลเล็กเจ็บน้อย แพทย์จะทำการเปิดแผลเพียง 1 ซม. เพื่อสอดกล้อง เมื่อเปิดปากแผลน้อย ก็กระทบต่อเนื้อเยื่อและอวัยวะข้างเคียงน้อย ความเจ็บปวดจึงน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเดิมมาก
ฟื้นตัวเร็ว อยู่โรงพยาบาลน้อยวัน ลดค่าใช้จ่าย เพราะแผลเล็กจึงใช้เวลาพักฟื้นน้อยลง ฟื้นตัวไว ไม่ต้องนอน รพ.นาน จึงประหยัดค่าใช้จ่าย

การผ่าตัดผ่านกล้อง Endoscope เหมาะกับใคร?
การผ่าตัดผ่านกล้อง Endoscope นั้น เหมาะกับคนไข้ที่ทำการรักษาด้วยยา การกายภาพบำบัด และวิธีต่างๆ แล้วไม่ดีขึ้น โรคยังคงลุกลาม มีความเจ็บปวดจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
ในคนไข้บางรายที่มาพบแพทย์เมื่อมีอาการปวดหลังรุนแรง น้ำหนักลด มีไข้ มีกล้ามเนื้อลีบ กล้ามเนื้อ มือ แขน ไหล่ ขา เข่า ข้อเท้าอ่อนกำลังจนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้อย่างปกติ แพทย์อาจพิจารณาให้เข้ารับการผ่าตัดรักษาให้เร็วที่สุด แต่ทั้งนี้จะต้องเตรียมความพร้อมของคนไข้ให้มีร่างกายแข็งแรงพอเสียก่อน
ในกรณีผู้สูงอายุก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของสภาพร่างกาย ในบางรายที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคปอด โรคเบาหวาน ก็จำเป็นต้องได้รับการประเมินสุขภาพก่อนว่าแข็งแรงพอสำหรับการผ่าตัดหรือไม่ หากมีโรคใดที่จะเป็นปัญหากับการผ่าตัด ก็ต้องรักษาอาการของโรคนั้นๆ ให้ดีขึ้นก่อน

การดูแลตนเองหลังผ่าตัดกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท
ถึงแม้การผ่าตัดจะสำเร็จได้ด้วยดี แต่คนไข้ก็มีโอกาสกลับมาเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทซ้ำได้อีก คนไข้จึงควรปฏิบัติตน ดังนี้
  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ระวังการนั่ง ไม่นั่งหลังค่อม หรือนั่งนานเกินไป การยืน นอน เดิน ต้องระวังเรื่องการใช้หลังให้มากขึ้น
  • ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วน เพื่อลดภาระการแบกรับน้ำหนักตัวของกระดูกสันหลัง
  • ออกกำลังกายในท่าทางและความหนักที่เหมาะสม หมั่นทำกายภาพบำบัดเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อหลัง เป็นการช่วยพยุงกระดูกสันหลังอีกทางหนึ่ง
  • หากพบว่าเริ่มกลับมามีอาการปวดหลัง ปวดร้าวลงขา หรือปวดคอร้าวลงแขน ควรรีบพบแพทย์ทันที