ไขข้อสงสัย! เป็นมะเร็งเต้านมจำเป็นต้องตัดเต้านมหรือไม่?
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
28-ก.พ.-2567

ไขข้อสงสัย! เป็นมะเร็งเต้านมจำเป็นต้องตัดเต้านมหรือไม่?

เมื่อทราบว่าตนเองเป็นโรคะมะเร็งเต้านม สิ่งที่ตามมาย่อมเป็นความกังวลต่อการรักษา ซึ่งหลายคนมักคิดว่าต้องรักษาด้วยการตัดเต้านมออกเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงการรักษาไม่จำเป็นต้องตัดเต้านมออกเสมอไป ในปัจจุบันการรักษามะเร็งเต้านมมีทางเลือกในการรักษาที่มากยิ่งขึ้น โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาและวางแผนการรักษาตามภาวะและอาการของผู้ป่วย

 

ไม่จำเป็นต้องตัดเต้านมออกทั้งหมด ก็สามารถรักษามะเร็งเต้านมได้!

การรักษามะเร็งเต้านมในปัจจุบันมีทางเลือกในการรักษาด้วยกันหลายวิธี แม้จะบอกได้ว่าไม่จำเป็นต้องตัดเต้านมออกทั้งหมด แต่การรักษาโรคมะเร็งเต้านมก็ต้องมีการตัดชิ้นเนื้อร้ายนั้นๆ ออก ร่วมกับการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ประสิทธิภาพการรักษาจึงจะได้ผลดีที่สุด ซึ่งวิธีการรักษาในแต่ละวิธีมีดังต่อไปนี้

 


1. การรักษาด้วยการผ่าตัด
             
เป็นการผ่าตัดเพื่อกำจัดชิ้นเนื้อมะเร็ง โดยรูปแบบการรักษามะเร็งเต้านมด้วยการผ่าตัดสามารถแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่

การผ่าตัดเต้านมแบบสงวนเต้านม : เป็นเพียงการผ่าตัดเต้านมออกเพียงบางส่วน มักรักษาร่วมกับการฉายแสงหลังการผ่าตัด เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งที่อาจยังหลงเหลืออยู่ และยังสามารถทำการผ่าตัดสร้างเสริมเต้านมให้รูปร่างของเต้านมใกล้เคียงกับของเดิมได้ทันที โดยส่วนมากมักเลือกใช้ในรายที่มะเร็งยังมีขนาดเล็ก ทราบถึงตำแหน่งของมะเร็งที่ชัดเจน และเต้านมมีขนาดใหญ่พอสมควร

การผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด : เป็นการผ่าตัดเพื่อนำเอาเต้านมออกทั้งหมด โดยแบ่งเป็น 2 แบบ คือ ตัดเฉพาะเต้านมและเก็บผิวหนังไว้ หรือตัดเต้านมและผิวหนังออก ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ประเมินว่าผู้ป่วยไม่สามารถเก็บเต้านมไว้ได้ หรือผู้ป่วยไม่มีความประสงค์จะเก็บเต้านมไว้ มักเป็นวิธีที่พบว่าผู้ป่วยมีก้อนมะเร็งขนาดใหญ่ มีมะเร็งหลายก้อน เต้านมมีขนาดเล็ก หรือหากผ่าตัดเต้านมแบบสงวนเต้านมแล้วมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ รวมถึงผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีอื่นๆ ทั้งนี้การผ่าตัดด้วยวิธีนี้สามารถผ่าตัดสร้างเสริมเต้านมทันทีได้เช่นกัน

การประเมินรูปแบบการผ่าตัด แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าควรผ่าตัดด้วยวิธีใด ชนิด ระยะ หรืออาการของมะเร็งสมควรต่อการเก็บเต้านมหรือไม่ ซึ่งทั้งสองวิธีถือเป็นวิธีมาตรฐานที่ให้ผลการรักษาไม่แตกต่างกัน

 

2. การรักษาด้วยการฉายแสง

              เป็นการใช้รังสีที่มีพลังงานสูงฉายเข้าไปบริเวณเต้านม เพื่อไปหยุดยั้งการเจริญเติบโตและการแบ่งตัวของเซลล์ โดยทำลายดีเอ็นเอของเนื้อเยื่อนั้นให้ตาย มักใช้ร่วมกับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเต้านมแบบสงวนเต้านม หรือใช้เพื่อเสริมการรักษาในกรณีที่มะเร็งก้อนใหญ่ หรือกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง โดยการรักษามะเร็งเต้านมด้วยการฉายแสงมักใช้เวลารักษาเฉลี่ยประมาณ 2-6 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 5 วัน พัก 2 วันเพื่อให้ผิวหนังได้พักและซ่อมแซมส่วนที่ถูกทำลาย ซึ่งในแต่ละวันที่ฉายแสงจะใช้เวลาเพียง 3-5 นาที และในระหว่างที่ฉายแสงก็ไม่ส่งผลให้เกิดความเจ็บปวด

 

3. การรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือคีโม

              เป็นการรักษาโดยการใช้ยาที่มีฤทธิ์ทำลายและยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง เพื่อหยุดการแพร่กระจาย โดยยาจะออกฤทธิ์ไปทั่วร่างกาย ทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษามะเร็งเต้านมที่อาจกระจายไปยังระบบอื่นๆ มักใช้ยาเคมีหลายชนิดร่วมกันในการรักษาโรคมะเร็ง เนื่องจากมีประสิทธิภาพที่ดีการใช้ยาชนิดเดียว ขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของเซลล์มะเร็ง

แม้การรักษาด้วยเคมีบำบัดจะสามารถรักษามะเร็งที่ซ่อนเร้นอยู่ได้ แต่ฤทธิ์ของยาก็อาจมีผลต่อเซลล์ปกติที่มีการแบ่งตัวเร็วในร่างกายได้ เช่น ไขกระดูก เยื่อบุทางเดินอาหาร เส้นผมหรือขนตามร่างกาย หรือระบบสืบพันธุ์ ทำให้เกิดอาการข้างเคียงจากยาได้ ทั้งนี้เซลล์ปกติที่ถูกทำลายก็สามารถสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาทดแทนได้ ผลข้างเคียงจึงเป็นผลแค่ชั่วคราวเท่านั้น ทำให้เมื่อสิ้นสุดการรักษาก็สามารถกลับไปใกล้เคียงปกติได้

 

4. การรักษาด้วยยาต้านฮอร์โมน

              เป็นการรักษาด้วยการทานยาเพื่อยับยั้งฮอร์โมนนั้นๆ ที่เป็นตัวกระตุ้นของเซลล์มะเร็ง โดยจะเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นมะเร็งเต้านมชนิดที่มีตัวรับฮอร์โมนเพศ เนื่องจากการเจริญเติบโตของมะเร็งเต้านมบางชนิดขึ้นอยู่กับฮอร์โมนเพศในร่างกาย การทานยาต้านฮอร์โมนจึงออกฤทธิ์เพื่อทำให้เซลล์มะเร็งขาดฮอร์โมนที่เป็นตัวกระตุ้นการเจริญเติบโต และทำลายตัวรับฮอร์โมนให้สลายตัวไป ซึ่งฤทธิ์ของยาจะมีผลทั่วร่างกายทำให้สามารถเข้าถึงเซลล์มะเร็งที่แพร่กระจายหรือเล็ดลอดออกไปคล้ายกับการรักษาด้วยเคมีบำบัด และการรักษาด้วยวิธีนี้มักใช้ระยะเวลาในการรักษาประมาณ 5-10 ปี

ทั้งนี้ฤทธิ์ของยาอาจทำให้มีผลข้างเคียงได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับยาต้านฮอร์โมนที่ใช้ในการรักษา เช่น มีเลือดออกกระปริดประปรอยทางช่องคลอด หรือมีอาการปวดตามข้อได้

 

5. การรักษาด้วยการใช้ยาแบบพุ่งเป้า

              เป็นการให้ยาที่จำเพาะในการยับยั้งการเจริญเติบโตและแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง จำเป็นต้องผ่านการวินิจฉัยลักษณะของเซลล์มะเร็งก่อน ซึ่งยาจะมีหน้าที่รบกวนการทำงานของโมเลกุลที่มีความจำเพาะต่อการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ทำให้มีการรักษาที่มีความเฉพาะเจาะจงกว่า โดยวิธีนี้จะมีผลข้างเคียงต่อเซลล์ปกติน้อยกว่าการรักษาด้วยเคมีบำบัด แต่ก็มีข้อจำกัดที่สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยบางรายเท่านั้น

 


 ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมจะต้องได้รับการวินิจฉัยเพื่อประเมินระยะของมะเร็งก่อน จากนั้นแพทย์จึงแนะนำแนวทางการรักษาที่เหมาะสมในแต่ละราย

              สำหรับผู้ที่มีความกังวลหรือมีความสงสัยว่าตนเองอาจมีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งเต้านม “การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม” ไม่ว่าจะเป็นการตรวจแมมโมแกรม หรือการตรวจอัลตร้าซาวด์เต้านม ก็เป็นวิธีที่สามารถช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเต้านมได้

บทความโดย
นายแพทย์สุรินทร์ ดิกิจ
แพทย์ประจำสาขาศัลยกรรมทั่วไป
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ



สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม

แผนก ศัลยกรรมทั่วไป อาคาร 1 ชั้น 1
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร 02-363-2000 ต่อ 2145-2146

รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn