มะเร็งปากมดลูก หมั่นตรวจภายใน ป้องกันได้ด้วยวัคซีน
โรงพยาบาลเปาโล
25-ม.ค.-2567
ก่อนแต่งงาน คู่รักส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับการตรวจเลือดหรือตรวจสุขภาพทั่วไป จนอาจลืมไปว่า สุขภาพระบบสืบพันธุ์ก็เป็นอีกหัวใจสำคัญที่ไม่ควรละเลย โดยเฉพาะการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โรคร้ายในผู้หญิงที่พบได้บ่อยและสามารถติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้! ดังนั้น เพื่อการเตรียมความพร้อมก่อนสร้างครอบครัว ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองและฉีดวัคซีนป้องกัน ขอแค่เพียงไม่เขินไม่อายที่จะเข้ารับการตรวจ คุณก็สามารถป้องกันและลดความเสี่ยงเพื่อความห่างไกลจากคำว่ามะเร็งปากมดลูกได้

สาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูก

โดยทั่วไปแล้ว สาเหตุหลักๆ ของการเกิดโรคมะเร็งก็คือการที่เซลล์ได้รับกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างผิดปกติเป็นเวลานาน แต่สำหรับมะเร็งปากมดลูกนั้นพบว่ามีสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่พอจะป้องกันหรือหลีกเลี่ยงได้ นั่นก็คือ การได้รับเชื้อไวรัส เอชพีวี (Human Papilloma Virus) นั่นเอง

อาการของมะเร็งปากมดลูก ตั้งแต่ขั้นต้นจนรุนแรง

นับเป็นโชคดีอย่างหนึ่งของผู้หญิง ที่มะเร็งปากมดลูกนี้ สามารถตรวจได้ง่าย จึงตรวจพบได้ตั้งแต่ก่อนแสดงอาการ และยังสามารถตรวจพบภาวะผิดปกติของเซลล์ปากมดลูกได้ตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนไปเป็นเซลล์มะเร็ง ดังนั้น หากจะถามว่าอาการของมะเร็งปากมดลูกมีอะไรบ้าง
  • ไม่มีอาการ แต่ตรวจพบจากการตรวจภายใน
  • ประจำเดือนมาน้อยหรือมามากผิดปกติ หรือนานกว่าปกติ หรือมีเลือดออกในวัยหลังหมดประจําเดือน
  • มีเลือดออกทางช่องคลอดหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือมีเลือดออกกะปริบกะปรอยระหว่างรอบเดือน
  • มีเลือดออกทางช่องคลอดหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือมีเลือดออกกะปริบกะปรอยระหว่างรอบเดือน
  • เกิดการปวดถ่วงบริเวณท้องน้อย ปัสสาวะขัดหรือถ่ายอุจจาระลำบาก หรือกดเบียดท่อไตทำให้ไตทำงานผิดปกติ จนอาจถึงไตวายได้ ซึ่งมักแสดงอาการในระยะลุกลามแล้ว
  • ในระยะแพร่กระจาย อาจกระจายตามระบบน้ำเหลืองไปยังต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง อาการที่พบคือ ปวดหลัง ปวดจุกลิ้นปี่ และที่พบบ่อยคือการแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองที่ไหปลาร้า เข้าสู่กระแสเลือดไปยังปอด ตับ กระดูก และสมองด้วย เกิดอาการอ่อนเพลีย ซีด เบื่ออาหาร น้ำหนักลด มีขาบวมทั้งสองข้าง ปวดท้องน้อย
  • ปัสสาวะไม่ออก หรือปัสสาวะไหลไม่หยุด ปัสสาวะเป็นเลือด ไตวาย หรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือด เนื่องจากก้อนมะเร็งลุกลามไปโดนท่อปัสสาวะหรือลำไส้

การรักษามะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูกที่พบส่วนใหญ่ มักเป็นการลุกลามเฉพาะที่มากกว่าจะแพร่กระจายไปตามกระแสเลือด ดังนั้นการรักษาจึงเป็นการรักษาเฉพาะจุด ทั้งนี้วิธีรักษาก็ขึ้นอยู่กับระยะที่ตรวจพบ
  • ระยะที่ 0-1 เซลล์มะเร็งจำกัดอยู่เฉพาะในบริเวณปากมดลูก
ในระยะ 0 หมายถึงระยะที่โรคเริ่มเกิดที่ชั้นผิวเยื่อบุปากมดลูก จึงอาจตัดออกเฉพาะปากมดลูกอย่างเดียวได้ แต่เมื่อโรคเป็นระยะที่ 1 คือลามลงชั้นใต้เยื่อบุมดลูก ต้องตัดมดลูกออกด้วย แต่การตัดมดลูกอย่างเดียวหรือเลาะต่อมน้ำเหลืองในช่องเชิงกรานออกด้วยหรือไม่ขึ้นอยู่กับความลึกของการลุกลามลงสู่ชั้นใต้เยื่อบุปากมดลูก นอกจากนี้ ประโยชน์ของการผ่าตัดจะทำให้ได้ชิ้นเนื้อ มดลูก และต่อมน้ำเหลืองมาตรวจ ทำให้ได้ข้อมูลของระยะโรคแม่นยำกว่าการรักษาด้วยรังสี ซึ่งจะทำให้แผนการรักษาแม่นยำขึ้น แต่หากผู้ป่วยมีภาวะที่ไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ การรักษาด้วยรังสีก็สามารถให้ผลการรักษาที่ดีไม่แพ้กัน ส่วนเคมีบำบัดมักจะใช้ในมะเร็งปากมดลูกที่เป็นก้อนขนาดใหญ่หรือลุกลามแล้ว โดยร่วมใช้ในช่วงการฉายรังสี ซึ่งจะทำให้ก้อนมะเร็งตอบสนองกับการรักษาด้วยรังสีดีขึ้น
  • ระยะที่ 2 เซลล์มะเร็งลุกลามไปบริเวณโดยรอบ
ระยะนี้มักลุกลามไปที่ช่องคลอดแล้ว อาจจะเป็นที่ส่วนบนเนื้อเยื่อที่อยู่ติดกับปากมดลูก การรักษาส่วนใหญ่ใช้การฉายรังสีรักษาร่วมกับให้ยาเคมี ซึ่งผลการรักษาก็มักจะดีพอสมควรเมื่อเทียบกับมะเร็งหลายชนิด
  • ระยะที่ 3 เซลล์มะเร็งแพร่ไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียง
หากเซลล์แพร่กระจายไปยังช่องคลอดส่วนล่าง ต่อมน้ำเหลือง เนื้อเยื่อภายในอุ้งเชิงกราน จะรักษาคล้ายๆ กับระยะที่ 2 คือการฉายรังสีรักษาร่วมกับให้ยาเคมีบำบัด แต่ผลการรักษาอาจจะไม่ดีเท่า
  • ระยะที่ 4 เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆ
ระยะแพร่กระจาย เซลล์มะเร็งจะลุกลามอาจลุกลามไปยังกระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ หรือออกนอกอุ้งเชิงกราน รวมทั้งปอด ตับ กระดูก ซึ่งค่อนข้างจะรักษาได้ยากแล้ว การรักษาส่วนใหญ่ทำได้เพียงแค่ประคับประคองอาการ บำบัดอาการเจ็บปวดของผู้ป่วยเท่านั้น เหนืออื่นใด... การรับวัคซีน HPV และการหมั่นตรวจคัดกรองเมื่อถึงวัยที่เหมาะสมหรือเป็นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงมากย่อมเป็นสิ่งที่ดีกว่าหากมีความพร้อมที่จะทำได้ เพราะนอกจากการฉีดวัคซีนจะเป็นการช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคจากการติดเชื้อ HPV แล้ว การตรวจคัดกรองจะทำให้พบความผิดปกติก่อนที่โรคจะลุกลามไปในระยะที่รักษาได้ยาก ด้วยว่ามะเร็งทุกชนิดหากพบเร็วเท่าไหร่ โอกาสในการรักษาให้หายขาดก็มีมากขึ้นเท่านั้น