ภาวะเสี่ยงที่คุณแม่ท้องอ่อนต้องระวัง
โรงพยาบาลเปาโลเกษตร
10-มี.ค.-2567

ภาวะเสี่ยงที่คุณแม่ท้องอ่อนต้องระวัง

การตั้งครรภ์ในไตรมาสแรกเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ร่างกายของลูกน้อยจะค่อย ๆ  มีพัฒนาการ ซึ่งคุณแม่ในช่วงนี้จึงเสี่ยงเกิดภาวะอันตรายต่อครรภ์ได้ทุกเวลา โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีอายุน้อยกว่า 16 ปี หรือมากกว่า 40 ปี อาจเสี่ยงเพิ่มขึ้นอีก จึงควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

3 ภาวะเสี่ยงที่พบบ่อยในคุณแม่ท้องอ่อน
1. การแท้งบุตร (Miscarriage) เป็นภาวะยุติการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ ซึ่งพบบ่อยในช่วงไตรมาสแรก และเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่สามารถระบุให้แน่ชัดได้ แต่สันนิษฐานว่าเกิดจากปัจจัยดังต่อไปนี้
 ความผิดปกติทางโครโมโซมของทารก
 ใช้สารเสพติด สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มกาเฟอีน การใช้ยาบางชนิด
 การติดเชื้อไวรัส เริม หัดเยอรมัน
 โรคเกี่ยวกับฮอร์โมน เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ
 มดลูกผิดปกติ
 น้ำหนักตัวมากหรือน้อยเกินไป
 ความเครียด ความวิตกกังวลอย่างรุนแรง
 คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปี หรือมากกว่า 40 ปีขึ้นไป
 เผชิญกับมลพิษและได้รับสารพิษอันตราย เช่น ยาฆ่าแมลง สารตะกั่ว สารปรอท
 ทำงานหนัก ออกแรงมาก เดินมากเกินไป พักผ่อนน้อย
 เคยมีประวัติแท้งซ้ำ ซึ่งจะเพิ่มโอกาสแท้งในท้องปัจจุบันได้มากขึ้น

อาการที่เสี่ยงการแท้งบุตร
ปวดท้องน้อย มีน้ำใส ๆ เลือดหรือมูกเลือดออกทางช่องคลอด รู้สึกว่ามดลูกแข็งตัวหรือบีบตัว หากคุณแม่มีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบสูตินรีแพทย์ให้เร็วที่สุด


2.ท้องนอกมดลูก (Ectopic Pregnancy) เกิดจากตัวอ่อนเกิดไปฝังตัวอยู่ในท่อนำไข่ หรือปีกมดลูก รังไข่ ปากมดลูก หรือพื้นที่ว่างในช่องท้องแทนที่จะเป็นโพรงมดลูก
ภาวะท้องนอกมดลูกเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ
 มีประวัติเคยท้องนอกมดลูกมาก่อน
 คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี ขึ้นไป
 มีประวัติการอักเสบและติดเชื้ออุ้งเชิงกรานบ่อย ๆ หรือเคยผ่าตัดในอุ้งเชิงกราน
 เคยเข้ารับการผ่าตัดเพื่อรักษาภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก ทำให้เกิดแผลเป็นและพังผืดในอุ้งเชิงกราน ท่อนำไข่ผิดปกติ ตีบตันหรืออักเสบ มดลูกอักเสบ
 ใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิดหรือเคยใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินหลังมีเพศสัมพันธ์
 มีประวัติสูบบุหรี่ เพราะมีสารพิษทำให้การเคลื่อนไหวของปีกมดลูกและการโบกพัดของขนเล็ก ๆ ในท่อนำไข่ด้อยลง ตัวอ่อนจึงไม่สามารถไปฝังตัวยังโพรงมดลูกได้
 เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ซิฟิลิส

อาการที่เสี่ยงท้องนอกมดลูก

มีเลือดออกจากช่องคลอด ปวดท้อง เหนื่อยเพลีย ซีด เป็นลม วิงเวียนมีอาการช็อค (จากการที่มีเลือดออกในช่องท้อง)

คุณแม่ตั้งครรภ์

3. ครรภ์ไข่ปลาอุก (Molar Pregnancy , Hydatidiform Mole) เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมขณะปฏิสนธิของไข่และสเปิร์ม ทำให้เกิดความผิดปกติของรก กลายเป็นถุงน้ำเล็ก ๆ จำนวนมากแทน อาการมักจะเกิดขึ้นในอายุครรภ์ภายใน 12 สัปดาห์ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในคุณแม่วัยรุ่นหรือตั้งครรภ์ตอนอายุมาก
สาเหตุของครรภ์ไข่ปลาอุก
ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด สันนิษฐานว่ามีแนวโน้มเกิดจากปัจจัยดังนี้
 กรรมพันธุ์ของคุณแม่ที่มีญาติเคยตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกมาก่อน รวมถึงตัวคุณแม่เองที่เคยมีประวัตินี้มาก่อน
 คุณแม่ที่มีประวัติการแท้งเองมากกว่า 2 ครั้ง
 คุณแม่ขาดสารอาหารบางอย่าง เช่น กรดโฟลิก วิตามิน B12
 ร่างกายคุณแม่มีการสร้างฮอร์โมนผิดปกติ
 คุณแม่อายุมากกว่า 35 ปี
 คุณแม่ที่มีภาวะมีบุตรยาก

อาการของครรภ์ไข่ปลาอุก
ในช่วงแรกร่างกายของคุณแม่จะมีอาการคล้ายกับการตั้งครรภ์ปกติ เช่น ประจำเดือนขาด แพ้ท้อง เวียนศีรษะ คลื่นไส้ แต่ค่อนข้างรุนแรง ความดันโลหิตสูงขึ้น บางรายยังอาจมีครรภ์โตกว่าปกติและมีอาการบวมน้ำ เมื่ออายุครรภ์มากขึ้นจะเริ่มมีเลือดออกทางช่องคลอด บางครั้งยังอาจมีเม็ดกลม ๆ ใส ๆ ปะปนออกมาด้วย หากมีภาวะเช่นนี้ควรรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพื่อดูดถุงน้ำออกจนหมด ป้องกันการเกิดภาวะตกเลือด การอักเสบและโอกาสที่จะพัฒนาไปเป็นเซลล์มะเร็งเยื่อรก

การป้องกันภาวะเสี่ยงระหว่างการตั้งครรภ์
 ตรวจสุขภาพก่อนการมีบุตร เพื่อตรวจวัดชีพจร ความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ปริมาณเม็ดเลือดแดง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคติดเชื้อ โรคทางพันธุกรรม และภูมิคุ้มกันโรคหัดเยอรมัน
 บริโภคกรดโฟลิกอย่างน้อย 3 เดือน ก่อนตั้งครรภ์ ซึ่งได้ทั้งจากเม็ดวิตามินและอาหารตามธรรมชาติ
 ลด ละ เลิกการสูบบุหรี่ การใช้สารเสพติด และการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
 กินอาหารที่มีประโยชน์
 ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
 ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ
 พักผ่อนให้เพียงพอ
 รีบฝากครรภ์ทันที เพื่อลดความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์
 ระมัดระวังการเคลื่อนไหวทุกประเภทที่เสี่ยงต่อการแท้ง

พญ.พชรพร ศรีเดช











สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม

แผนกสูตินรีเวช โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
โทร. 02 1500 900 ต่อ 5
420
Facebook : โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
Line official account : Paolo Hospital Kaset
Line ID : @paolokaset