ฝากครรภ์แต่ละครั้ง ตรวจอะไรบ้าง?
โรงพยาบาลเปาโลรังสิต
11-ส.ค.-2566
ฝากครรภ์แต่ละครั้ง ตรวจอะไรบ้าง?

          เมื่อรู้ว่ามีการตั้งครรภ์ คุณพ่อคุณแม่คงมีความตื่นเต้น และสับสนกับการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่จะเกิดขึ้น รวมถึงต้องเตรียมตัววางแผนการดูแลในระหว่างตั้งครรภ์ และการดูแลลูกน้อย การฝากครรภ์ที่ดีจะช่วยให้คุณแม่ได้ตั้งครรภ์อย่างมีคุณภาพ ปลอดภัย สามารถตรวจคัดกรอง ป้องกันและรักษาความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้นกับคุณแม่และทารกในครรภ์ได้

          หากคุณแม่มีอาการหรือสงสัยว่าจะตั้งครรภ์ สามารถซื้อที่ตรวจการตั้งครรภ์มาทดสอบเองเพื่อความแน่ใจก่อนได้ และควรมาพบสูตินรีแพทย์ เพื่อรับคำปรึกษาและตรวจสุขภาพเพื่อวางแผนการตั้งครรภ์ต่อไป การฝากครรภ์ที่ดีควรเริ่มเร็วที่สุดเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ หรือในช่วงอายุครรภ์ 6-10 สัปดาห์ แต่หากคุณแม่มีอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้องน้อย หรือเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดควรมาพบแพทย์ในทันที

อายุครรภ์ไตรมาสไหน ควรตรวจอะไรบ้าง

         เมื่อฝากครรภ์ครั้งแรก หรือช่วงอายุ ครรภ์ 10-14 สัปดาห์



ไตรมาสแรก
  1. ซักประวัติสุขภาพทั่วไปของคุณแม่ ประวัติการตั้งครรภ์ก่อน ประเมินค่าดัชนีมวลกาย วัดความดันโลหิต และตรวจร่างกายเบื้องต้น เพื่อมองหาโรคซ่อนเร้นของคุณแม่ และค้นหาความเสี่ยงอื่นๆ ที่อาจทำให้เกิดปัญหาระหว่างตั้งครรภ์ได้ ในกรณีที่คุณแม่มีโรคประจำตัวก็จะมีการให้คำปรึกษาเพื่อวางแผนการดูแลรักษาที่เหมาะสมในระหว่างการตั้งครรภ์ต่อไป
  2. ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
  3. การตรวจทางห้องปฏิบัติการสำหรับการฝากครรภ์ โดยประกอบโดย
    - โรคติดเชื้อต่างๆ เช่น HIV ซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบ
    - พาหะธาลัสซีเมีย หรือโรคโลหิตจาง
    - ตรวจระดับภูมิต้านทานต่อโรคหัดเยอรมัน
    - ตรวจความเข้มข้นของเลือด และหมู่เลือด
    - ตรวจปัสสาวะเพื่อคัดกรองการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ
    - ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อคัดกรองภาวะเบาหวานในรายที่มีความเสี่ยงสูง
  4. อัลตราซาวด์เพื่อประเมินการตั้งครรภ์ โดยประกอบไปด้วยการประเมินอายุครรภ์ ประเมินกำหนดคลอด จำนวนถุงการตั้งครรภ์/วินิจฉัยภาวะครรภ์แฝด ประเมินตำแหน่งของถุงการตั้งครรภ์ วินิจฉัยภาวะครรภ์ผิดปกติ เช่น ท้องลม หรือท้องนอกมดลูก รวมถึงความผิดปกติต่างๆ ของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน เช่น เนื้องอกมดลูก หรือถุงน้ำรังไข่
    ในช่วยอายุครรภ์ 11-13 สัปดาห์ ยังสามารถทำการประเมินความหนาของถุงน้ำหลังคอ (Nuchal translucency) เพื่อคัดกรองความเสี่ยงของการมีโครโมโซมผิดปกติ หรือภาวะดาวน์ซินโดรมได้ด้วย
  5. การตรวจประเมินความเสี่ยงภาวะโครโมโซมผิดปกติของทารกในครรภ์ หรือดาวน์ซินโดรม ในปัจจุบันสามารถตรวจได้ตั้งแต่ไตรมาสแรกด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การตรวจด้วย Cell-free fetal DNA/NIPT หรือการตรวจค่าสารชีวเคมีในเลือดคุณแม่
  6. การประเมินความเสี่ยงของภาวะครรภ์เป็นพิษ และให้ยาป้องกันในรายที่มีความเสี่ยงสูง โดยอาจประเมินได้จากการซักประวัติ วัดความดันโลหิต และตรวจอัลตราซาวด์เส้นเลือดบริเวณมดลูก
  7. วิตามินและอาหารเสริมที่จำเป็น โดยในช่วงไตรมาสแรก วิตามินเสริมที่จำเป็นสำหรับทารกในครรภ์คือ Folic acid อย่างน้อย 400 mcg ในช่วงก่อนตั้งครรภ์จนถึงไตรมาสแรก

ไตรมาสที่สอง
14 – 28 สัปดาห์
  1. ตรวจสัญญาณชีพต่างๆ ของคุณแม่ ชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิตสูง และตรวจปัสสาวะเพื่อคัดกรองภาวะโปรตีนและน้ำตาลรั่ว
  2. ตรวจขนาดยอดมดลูกเพื่อประเมินการเจริญเติบโตและประเมินอัตราการเต้นหัวใจทารกในแต่ละครั้งที่ฝากครรภ์
  3. การตรวจประเมินความเสี่ยงภาวะโครโมโซมผิดปกติของทารกในครรภ์ หรือดาวน์ซินโดรมในกรณีที่ไม่ได้ตรวจในไตรมาสแรก ซึ่งสามารถตรวจได้จากค่าสารชีวเคมีในเลือด (Quadruple test) หรือการตรวจด้วย Cell-free fetal DNA/NIPT
  4. การอัลตราซาวด์เพื่อประเมินความสมบูรณ์ของทารกในครรภ์ในช่วงอายุครรภ์ 18-22 สัปดาห์ โดยจะสามารถประเมินได้ทั้งการเจริญเติบโต เพศ วินิจฉัยภาวะพิการแต่กำเนิด ประเมินตำแหน่งของรก ปริมาณน้ำคร่ำ และวัดความยาวปากมดลูกเพื่อคัดกรองความเสี่ยงการคลอดก่อนกำหนด
  5. ตรวจคัดกรองภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ในช่วงอายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์
  6. การฉีดวัคซีนที่จำเป็นสำหรับสตรีตั้งครรภ์ อันได้แก่ บาดทะยัก คอตีบ ไอกรน และไข้หวัดใหญ่
  7. วิตามินเสริมที่จำเป็นสำหรับช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 คือธาตุเหล็ก ไอโอดีน โฟลิก แคลเซียม



ไตรมาสที่สาม
28 - 40 สัปดาห์ขึ้นไป
  1. ตรวจสัญญาณชีพต่างๆ ของคุณแม่ ชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิตสูง และตรวจปัสสาวะเพื่อคัดกรองภาวะโปรตีนและน้ำตาลรั่ว
  2. การตรวจเลือดเพื่อประเมินภาวะโลหิตจางในขณะตั้งครรภ์ซึ่งพบได้บ่อย รวมถึงการตรวจโรคติดเชื้อต่างๆ ซ้ำอีกครั้ง ได้แก่ HIV และซิฟิลิส
  3. ตรวจขนาดยอดมดลูกเพื่อประเมินการเจริญเติบโตและประเมินอัตราการเต้นหัวใจทารกในแต่ละครั้งที่ฝากครรภ์
  4. อัลตราซาวด์ในไตรมาสที่ 3 หรือช่วงอายุครรภ์ 32-36 สัปดาห์ เพื่อประเมินการเจริญเติบโต ส่วนนำของทารก วินิจฉัยภาวะรกเกาะต่ำ ประเมินปริมาณน้ำคร่ำ รวมถึงประเมินโครงสร้างและความผิดปกติของทารกในครรภ์ที่อาจขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์
  5. การเตรียมตัวและวางแผนสำหรับการคลอด โดยควรจะได้รับการพูดคุยกับสูติแพทย์ถึงระยะเวลา และช่องทางการคลอดที่เหมาะสมสำหรับคุณแม่แต่ละท่าน รวมถึงให้คำแนะนำการสังเกตุอาการผิดปกติต่างๆ ที่ควรมาพบแพทย์ทันที เช่น ลูกดิ้นน้อยลง ท้องแข็ง เลือดออกจากช่องคลอด หรือมีน้ำเดิน

          การฝากครรภ์ จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคุณพ่อคุณแม่ เพราะเป็นการวางแผนครอบครัวที่ลดความเสี่ยงได้ดีที่สุด


ขอบคุณบทความดีๆ จาก
แพทย์หญิง ราชาวดี ตันวิสุทธิ์
แพทย์เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์