โรคหัด ไม่ใช่แค่ไข้ผื่นแดง แต่อันตรายกว่าที่คิด!
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
27-มี.ค.-2568

โรคหัด ไม่ใช่แค่ไข้ผื่นแดง แต่อันตรายกว่าที่คิด!
โรคหัด Measles ไม่ใช่แค่โรคในวัยเด็ก ที่หลายคนมองข้าม เพราะปัจจุบัน โรคนี้ได้กลายเป็นเชื้อที่แพร่กระจายได้รวดเร็ว และรุนแรงมากขึ้น ผู้ใหญ่ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน ก็มีโอกาสที่จะเป็นได้เช่นกัน อาการเริ่มแรกของโรคนี้ อาจคล้ายไข้หวัดธรรมดาทั่วไป แต่อาจลุกลาม จนเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ มาทำความรู้จักกับ “โรคหัด” ให้มากขึ้น เพื่อพร้อมป้องกันตัวเองและคนรอบข้างกัน!

โรคหัด เป็นเชื้อไวรัสที่เกิดจาก  Measles สามารถติดต่อง่ายมาก ผ่านทางลมหายใจ การสัมผัส แพร่กระจายผ่านละอองฝอย การไอ จาม หรือพูดคุยระยะใกล้ชิด โดยเฉพาะในเด็กเล็กและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกัน แม้เป็นแล้วจะหายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ในผู้ป่วยบางรายก็อาจพบภาวะแทรกซ้อนที่ถึงแก่ชีวิตได้




อาการของ "โรคหัด"

เริ่มแรกจะคล้ายไข้หวัดธรรมดา และเพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แต่จะแสดงอาการที่ชัดเจน สังเกตได้ง่าย โดยมีระยะฝักตัวอยู่ที่ 7-21 วัน มีระยะแพร่เชื้ออยู่ที่ 4 วันก่อนผื่นขึ้น จนถึงหลังผื่นขึ้น 4 วัน

  • ระยะไข้ 2-4 วันแรก จะมีอาการคัดจมูก ไอแห้ง ไข้สูง น้ำมูกไหล ตาแดง อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามร่างกาย ไม่อยากอาหาร และที่เห็นได้ชัดก็คือ จะมีจุดขาวเล็กๆ เกิดขึ้นในกระพุ้งแก้ม 
  • ระยะที่มีผื่น 3-5 วันหลังเริ่มมีไข้ เกิดจุดขาวในกระพุ้งแก้มมากขึ้น มีผื่นแดงขึ้นที่ใบหน้า กระจายไปทั่วร่างกาย ผื่นจะนูนขึ้น ติดกันเป็นปื้นๆ บางรายอาจมีอาการคันร่วมด้วย 




"โรคหัด" อันตราย แค่ไหน?
หลายคนมองว่า โรคหัด เป็นแค่ผื่นแดงที่ขึ้นตามตัวเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว โรคนี้สามารถเกิด "ภาวะแทรกซ้อน" จนเกิดภาวะอื่นๆ ตามมาได้ เช่น หูอักเสบจนสูญเสียการได้ยิน ภาวะปอดอักเสบ ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต ในกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกัน จะมีโอกาสเสียชีวิตได้มากกว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ อย่างผู้ป่วยโรคมะเร็ง หรือโรคเอดส์ บางรายการมีอาการรุนแรง หายใจลำบาก ซึม หรือไข้สูงไม่ลด ต้องรีบพบแพทย์ทันที!

การป้องกันและรักษา "โรคหัด"

เมื่อตรวจแน่ชัดแล้วว่า ป่วยเป็นโรคนี้ แพทย์จะทำการรักษาไปตามอาการ โดยผู้ป่วยที่มีไข้ จะได้รับยาลดไข้ พักผ่อนและดื่มน้ำให้มากๆ แยกการรักษาออกจากคนอื่นๆ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ อยู่ในการเฝ้าดูอาการของแพทย์ เพื่อสังเกตุภาวะแทรกซ้อนต่างๆ จนอาการดีขึ้น และหายดีในที่สุด ซึ่งจะใช้เวลา 7-10 วัน

การฉีดวัคซีนป้องกัน "โรคหัด"
วัคซีนสามารถป้องกันได้ทั้ง โรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ลดความเสี่ยง และการแพร่ระบาดได้เกือบ 100%

  • เข็มแรก อายุ 9-12 เดือน
  • เข็มที่ 2 อายุ 2 ปีครึ่ง
  • เข็มกระตุ้น ทุก 10 ปี

ส่วนผู้ใหญ่ที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน สามารถรับวัคซีนได้ 2 เข็ม แต่ต้องเว้นช่วงการฉีดแต่ละรอบให้ห่างกัน
อย่างน้อย 30 วัน




แม้
"โรคหัด" จะเป็นโรคที่สามารถหายเองได้ก็ตาม แต่การป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้ น่าจะดีกับสุขภาพมากกว่า ไม่ต้องเสี่ยงกับภาวะแทรกซ้อนที่จะตามมา ซึ่งจะส่งผลแก่ชีวิตทั้งตัวเราและคนรอบข้าง ดังนั้น อย่ารอให้ระบาด ป้องกันไว้ดีกว่า!



บทความโดย

นายแพทย์ณัฏฐ์ บุญตะวัน

แพทย์ประจำสาขาอายุรกรรมทั่วไป

โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ



สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม

แผนก อายุรกรรมทั่วไป
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร 02-363-2000 ต่อ 2145-2146

รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn