อัลตร้าซาวด์ช่องท้อง...ตัวช่วยมองเห็นความผิดปกติภายใน
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
05-ม.ค.-2567

อัลตร้าซาวด์ช่องท้อง...ตัวช่วยมองเห็นความผิดปกติภายใน

โปรแกรมตรวจสุขภาพส่วนใหญ่มักมีรายการตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้องอยู่ในนั้นทั้งส่วนบนและส่วนล่าง แต่ปัญหาคือเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราควรตรวจอัลตร้าซาวด์ส่วนบนหรือส่วนล่างเพื่อให้เหมาะกับการตรวจสุขภาพของเรา วันนี้เรามีคำตอบให้กับปัญหานั้น

ทำความรู้จัก “การอัลตร้าซาวด์”

การอัลตร้าซาวด์ (Ultrasound) เป็นการตรวจวินิจฉัยหาความผิดปกติในร่างกาย โดยการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงสะท้อนให้เกิดภาพบริเวณที่ต้องการตรวจ ภาพที่แสดงออกมาสามารถทำให้เห็นถึงความผิดปกติของโรคบางชนิด ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยและเห็นถึงโรคที่แฝงอยู่ในร่างกายได้ ซึ่งการตรวจอัลตร้าซาวด์สามารถทำได้หลายส่วนโดยเฉพาะการ “อัลตร้าซาวด์ช่องท้อง” ที่มีความซับซ้อนเป็นอย่างมาก

 


อัลตร้าซาวด์ช่องท้อง...สามารถตรวจส่วนไหนได้บ้าง?

การอัลตร้าซาวด์ช่องท้องสามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ
1.
อัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนบน (Ultrasound Upper Abdomen) : เป็นการตรวจดูอวัยวะภายในช่องท้องส่วนบนเหนือระดับสะดือขึ้นไป ซึ่งได้แก่ ตับ ตับอ่อน ม้าม ถุงน้ำดี ท่อน้ำดี ไต และหลอดเลือดแดงใหญ่

การเตรียมตัวก่อนการตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนบน ควรงดน้ำและอาหาร (สามารถดื่มน้ำเปล่าได้) 4-6 ชม. ก่อนการตรวจ เพื่อให้เห็นอวัยวะต่างๆ ได้อย่างชัดเจน
2.
อัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง (Ultrasound Lower Abdomen) : เป็นการตรวจดูอวัยวะภายในช่องท้องส่วนล่างที่อยู่ต่ำกว่าระดับสะดือลงไป ซึ่งได้แก่ มดลูก รังไข่ ต่อมลูกหมาก ไส้ติ่ง (จะเห็นเฉพาะเมื่อมีการอักเสบของไส้ติ่ง) และกระเพาะปัสสาวะ

การเตรียมตัวก่อนการตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง ผู้ป่วยจำเป็นต้องดื่มน้ำเพื่อให้ปวดปัสสาวะให้มาก โดยต้องกลั้นปัสสาวะไว้ เพื่อให้มีน้ำในกระเพาะปัสสาวะมากพอที่จะดันลำไส้ขึ้นไปส่วนบน ช่วยให้เห็นอวัยวะต่างๆ เช่น มดลูก รังไข่ หรือต่อมลูกหมากในผู้ชายได้ชัดเจนขึ้น

นอกจากนี้ยังมีการตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้องทั้งหมด (Ultrasound Whole Abdomen) ซึ่งเป็นการตรวจดูอวัยวะในช่องท้องทั้งหมด โดยตรวจทั้งช่องท้องส่วนบนและส่วนล่าง ในการเตรียมตัวสำหรับตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้องทั้งหมด ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตามการเตรียมตัวของการอัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนบนและล่าง เพื่อให้ผลการตรวจออกมามีประสิทธิภาพมากที่สุด

 

ข้อจำกัดของการอัลตร้าซาวด์

  • การตรวจอัลตร้าซาวด์ไม่สามารถใช้การตรวจอวัยวะส่วนที่มีลมได้ เช่น ปอด กระเพาะอาหาร หรือลำไส้
  • การตรวจอัลตร้าซาวด์ไม่สามารถใช้ตรวจอวัยวะที่เป็นกระดูกได้

 


ขั้นตอนการตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้อง

เริ่มต้นแพทย์จะให้ผู้เข้ารับการตรวจนอนลงบนเตียง จากนั้นแพทย์จะทำการทาเจลเย็นๆ ลงบนผิวหนังบริเวณท้อง เพื่อช่วยให้คลื่นเสียงส่งที่ส่งจากหัวตรวจผ่านผิวหนังเข้าไปดูอวัยวะต่างๆ โดยแพทย์จะทำการกดหัวตรวจเบาๆ ลงไปบริเวณผิวหนังส่วนท้อง พร้อมกับดูภาพที่แสดงขณะตรวจไปพร้อมกัน โดยการตรวจจะใช้ระยะเวลาประมาณ 10 - 45 นาที ขึ้นอยู่กับตำแหน่งหรืออวัยวะที่ต้องการตรวจ

 

จะเห็นได้ว่าการอัลตร้าซาวด์ช่องท้อง สามารถทำให้เราเห็นถึงอวัยต่างๆ ภายในร่างกายที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ทั้งนี้ก็การอัลตร้าซาวด์ก็เป็นเพียงการ Screening เบื้องต้น สามารถวินิจฉัยได้แค่บางรอยโรค หรือบางอวัยวะเท่านั้น หากพบความผิดปกติหรือรอยโรคสงสัยที่อาจก่อให้เกิดความผิดปกติในอนาคต ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อวางแผนการรักษาได้ทันก่อนที่โรคจะลุกลาม

บทความโดย
แพทย์หญิงพรทิพย์ เรืองสีสมบูรณ์
แพทย์ประจำสาขาศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ 
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ 
โทร.02-363-2000 ต่อ 2310-2312
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn