ความดันโลหิตสูง ภัยเงียบใกล้ตัวคุณ!! กับคำถามยอดฮิตที่ทุกคนอยากรู้
โรงพยาบาลเปาโลรังสิต
03-ต.ค.-2566
title
ความดันโลหิตสูง ภัยเงียบใกล้ตัว!!
กับคำถามยอดฮิตที่ทุกคนอยากรู้

  • ทำไมต้องกินยา
  • หรือต้องรักษาต่อเนื่องทั้ง ๆ ที่ไม่มีอาการผิดปกติ?
  • ต้องกินยานานแค่ไหน?
  • กินยาทุกวันจะมีผลต่อไตหรือตับไหม?
  • การวัดความดันเป็นประจำที่บ้านเป็นสิ่งสำคัญหรือไม่?

          คำถามมากมายเกี่ยวกับการรักษาภาวะความดันโลหิตสูง ที่ต้องกินยาเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ การวัดความดันที่ด้วยตัวเองที่ไม่รู้ว่าจะทำไปอีกนานแค่ไหน มีความสำคัญอย่างไร วันนี้เรามีคำตอบ

Q: ทำไมต้องกินยา หรือต้องรักษาต่อเนื่องทั้ง ๆ ที่ไม่มีอาการผิดปกติ?

A: ความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยให้เกิดเส้นเลือดหัวใจอุดตัน เส้นเลือดสมองตีบหรือแตก ไตวายเฉียบพลันหรือเรื้อรังได้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเตือนของความดันโลหิตสูงผิดปกติ เช่น ปวดศีรษะ มึนศีรษะ นำผู้ป่วยเข้าสู่การรักษา แต่บางรายอาจไม่มีอาการใด ๆ จนทำให้เกิดผลแทรกซ้อนของภาวะความดันโลหิตสูงเสียแล้ว เช่น แขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว เจ็บแน่นหน้าอก หมดสติ ซึ่งก่อให้เกิดความทุพพลภาพ จึงจำเป็นที่ต้องทานยาควบคุมความดันโลหิตอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาระดับความดันโลหิตเฉลี่ยให้ต่ำกว่า 130/80 มิลลิเมตรปรอท ยกเว้นผู้ที่อายุมากหรือมีโรคไตเรื้อรังอาจผ่อนผันให้ตั้งเป้าหมายต่ำกว่า 140/85 มิลลิเมตรปรอทได้



Q: ต้องกินยานานแค่ไหน?

A: ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงควรใช้ยาลดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง ไม่ขาดยา ลดขนาดยา หรือเพิ่มขนาดยาเอง และควรพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง นอกจากนี้ผู้ป่วยไม่ควรใช้ยาลดความดันโลหิตของผู้อื่น เพราะร่างกายแต่ละคนไม่เหมือนกัน เช่น มีการทำงานของไต โรคร่วมหรือยาอื่นที่ใช้อยู่เดิมแตกต่างกัน แต่ยาลดความดันโลหิตสูง ไม่ใช่ทางออกสุดท้าย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อช่วยลดความดันโลหิต เช่น การงดสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ ลดทานเค็ม ลดปริมาณไขมัน รับประทานผักและผลไม้ ลดน้ำหนัก ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ30นาทีอย่างสม่ำเสมอ ก็สามารถทำให้ลดการใช้ยาได้



Q: กินยาทุกวันจะมีผลต่อไตหรือตับไหม?

A: การใช้ยาลดความดันโลหิตสูงด้วยขนาดที่เหมาะสม และติดตามผลข้างเคียงอย่างใกล้ชิด จะช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดผลแทรกซ้อนที่รุนแรงจากภาวะความดันโลหิตสูงได้ ผู้ป่วยจะได้ประโยชน์มากกว่าโทษอย่างมาก



Q: การวัดความดันเป็นประจำที่บ้านเป็นสิ่งสำคัญหรือไม่?

A: การวัดความดันโลหิตที่บ้านมีส่วนช่วยกระตุ้นให้ผู้ป่วยรับประทานยาและควบคุมความดันโลหิตได้ดีอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งที่มักมีความดันโลหิตสูงขึ้น (White-coat hypertension) หรือต่ำกว่าค่าปกติเฉพาะเวลามาโรงพยาบาลซึ่งการวัดความดันโลหิตที่บ้านและบันทึกค่าเป็นประจำ (โดยความดันโลหิตเฉลี่ยที่บ้านไม่ควรเกิน135/85 มิลลิเมตรปรอท) จะช่วยให้แพทย์ทราบค่าความดันโลหิตเฉลี่ยของผู้ป่วย และช่วยในการปรับยาควบคุมความดันโลหิตได้ดีสม่ำเสมอ

ขอขอบคุณบทความดีๆ จาก
พญ. มนธวัล เวชอนันนุรักษ์
อายุรศาสตร์โรคหัวใจ
ประจำโรงพยาบาลเปาโล รังสิต

โปรแกรมตรวจสุขภาพ Paolo Life 26 รายการ



ปรึกษาปัญหาสุขภาพ
โรงพยาบาลเปาโล รังสิต โทร 0-2577-8111
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่
Facebook : โรงพยาบาลเปาโล รังสิต
Line ID : @paolorangsit

เพิ่มเพื่อน