อร่อยได้...สุขภาพดี เทศกาลแบบนี้ต้องกินแบบไหน?
โรงพยาบาลเปาโลรังสิต
19-ม.ค.-2566
รับประทานอาหารอย่างไร... ช่วงเทศกาลตรุษจีน

          เทศกาลตรุษจีนหรือวันขึ้นปีใหม่ของคนจีน ถือเป็นเทศกาลสำคัญที่จะมีการไหว้เทพยาดาฟ้าดิน และบรรพบุรุษผู้ล่วงลับด้วยของมงคลต่างๆ และที่ขาดไม่ได้คืออาหารคาวหวานแบบจัดเต็ม รวมถึงขนมสารพัดชนิด ซึ่งหลังจากเสร็จพิธีไหว้ต่างๆ แล้ว ก็จะเป็นการเฉลิมฉลองด้วยการกินอาหารร่วมกันในหมู่ญาติพี่น้อง โดยนำอาหารที่ผ่านการไหว้มารับประทานเพื่อความเป็นสิริมงคลในการเริ่มต้นปีใหม่นั่นเอง ด้วยความที่มีอาหารหลากหลายและขนมมากมาย อาจทำให้หลายคนกินมากกว่าปกติ จึงส่งผลต่อสุขภาพและน้ำหนักตัว วันนี้เราจึงนำเทคนิคดีๆ ในการกินอาหารเพื่อการมีสุขภาพดี ที่สามารถนำไปใช้ในช่วงเทศกาลตรุษจีน หรือแม้แต่ในการเฉลิมฉลองต่างๆ ก็ได้ด้วยเช่นกัน


เคล็ดลับการรับประทานอาหารและขนมตรุษจีนให้ดีต่อสุขภาพ
  1. รับประทานอาหารในปริมาณและสัดส่วนที่เหมาะสม ช่วงเทศกาลตรุษจีน อาหารที่ขาดไม่ได้เลยคือประเภทเนื้อสัตว์ อย่างไก่ต้ม เป็ดต้ม หมูสามชั้น การกินอาหารโปรตีนที่ย่อยยากอาจทำให้เกิดอาการท้องอืดไปจนถึงท้องผูกได้ง่าย จึงควรจัดสมดุลสัดส่วนของอาหารประเภทต่างๆ ให้เหมาะสม โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มักมีปัญหาเรื่องการเคี้ยวและระบบย่อยอาหาร ยังควรเลือกวิธีการปรุงให้เหมาะด้วย เช่น นำเนื้อสัตว์ไปต้มหรือตุ๋นแทนการทอดหรือผัดเพื่อให้มีความนุ่ม เคี้ยวและย่อยง่าย ไม่มันเกินไป รวมถึงใส่ผักต่างๆ หรือกินผักด้วยในแต่ละมื้อ
  2. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสหวานจัด เค็มจัด และอาหารมันๆ เพราะอาจไปกระตุ้นอาการของโรคบางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต หากจำเป็นต้องกินอาหารรสหวาน มัน เค็ม ควรดื่มน้ำตามมากๆ หรือจิบน้ำตลอดวัน สำหรับอาหารที่ติดมัน หากเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง เช่น เลาะหนังไก่ออกกินแต่ส่วนเนื้อ หันมากินเนื้อปลาให้มากกว่ากินหมูสามชั้นหรือเนื้อติดมันอื่นๆ
  3. การนำเนื้อสัตว์จากการไหว้มาปรุงอาหารต่อ ควรเลือกวิธีการที่ดีต่อสุขภาพ เช่น เลือกใช้การนึ่ง ต้ม แทนการทอดหรือผัด ถ้าจำเป็นต้องผัดควรใช้น้ำมันน้อยๆ และเลือกใช้น้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง และปรุงรสเพียงอ่อนๆ เพื่อลดความเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง
  4. จำกัดปริมาณในการรับประทานขนมไหว้ เช่น ขนมถ้วยฟู ขนมเข่ง ขนมเทียน กินให้น้อยที่สุด เพราะอาหารเหล่านี้จะมีแป้ง ไขมัน และน้ำตาลค่อนข้างมาก แนะนำปริมาณที่เหมาะสมคือทานอย่างละ 1 ชิ้น หรือน้อยกว่านั้นหากกินหลายอย่างร่วมกันในแต่ละครั้ง
  5. เพิ่มสัดส่วนการรับประทานผัก ผลไม้ และธัญพืชให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มวิตามิน เกลือแร่ และกากใยอาหารให้แก่ร่างกาย ควรเน้นการทานผัก ผลไม้ที่ไม่หวานมากและมีใยอาหารสูง สารอาหารที่ครบถ้วนจะช่วยให้ระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ เป็นไปด้วยดี กากใยอาหารจะช่วยกระตุ้นให้ระบบขับถ่ายทำงานดีขึ้น ลดเสี่ยงท้องผูก
  6. ถ้าหากรับประทานไม่หมดในคราวเดียว ไม่ควรทิ้งอาหารไว้บนโต๊ะ ควรเก็บอาหารแยกชนิดใส่กล่องพลาสติกแล้วแช่ตู้เย็นให้เรียบร้อย และรีบนำกลับมาอุ่นรับประทานเพื่อไม่ให้อาหารค้างนานเกินไป เพราะยิ่งแช่ตู้เย็นไว้นานคุณค่าทางโภชนาการก็ยิ่งลดลง และมีโอกาสที่อาหารจะเสียก่อนที่จะนำมารับประทาน

ขอบคุณบทความดีๆ จาก
นายพนมพร ชัยทอง
นักกำหนดอาหาร แผนกโภชนาการ
ประจำโรงพยาบาลเปาโล รังสิต




ปรึกษาปัญหาสุขภาพ
โรงพยาบาลเปาโล รังสิต โทร 0-2577-8111 ต่อ 2 หรือ 1772
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่
Facebook : โรงพยาบาลเปาโล รังสิต

เพิ่มเพื่อน