แผลเบาหวานที่เท้า ดูแลก่อน... ต้องเสียขา
โรงพยาบาลเปาโลพระประแดง
01-มี.ค.-2565
เบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่ยากต่อการรักษาและจัดว่ารุนแรง นอกจากทำให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมายังต้องระวังเรื่องการอักเสบของเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกาย และอันตรายจากภายนอกที่ไม่ควรมองข้ามคือเรื่อง “แผล”เพราะอาจเกิดการติดเชื้อและลุกลามง่ายกว่าปกติ

ทำไมเป็นเบาหวานแล้วแผลหายยาก
ผู้ป่วยโรคเบาหวานนั้น ไขมันและน้ำตาลที่ไม่ถูกย่อยสลายจะไปจับเส้นเลือด ทำให้เส้นเลือดตีบและแข็งกระทั่งเกิดการอุดตัน อาจทำให้เกิดแผลขึ้นเองโดยเฉพาะที่เท้าเนื่องจากขาดเนื้อเยื่อไปเลี้ยง ซึ่งหากเป็นแผลก็จะหายยากเพราะหลอดเลือดตีบ ไม่มีเลือดไปหล่อเลี้ยง หรือเลือดไปหล่อเลี้ยงไม่พอ หากไม่อยากต้องสูญเสียอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง ก็ควรหันมาใส่ใจ “แผลเบาหวาน” ก่อนสายเกินไป!!



สาเหตุสำคัญ…ก่อให้เกิด “แผลเบาหวาน”
  • ภาวะปลายประสาทเสื่อม เพราะน้ำตาลในเลือดมีผลทำให้ระบบประสาทผิดปกติ ก่อให้เกิดภาวะเส้นประสาทเสื่อม ผู้ป่วยจึงมักมีอาการชาหรือไร้ความรู้สึกบริเวณเท้า เมื่อเกิดบาดแผลบริเวณเท้า ผู้ป่วยจึงมักไม่รู้ตัวและปล่อยให้เกิดบาดแผลลุกลาม
  • ความผิดปกติของหลอดเลือด การเกิดภาวะหลอดเลือดตีบแข็งจนเกิดอุดตัน ทำให้เนื้อเยื่อขาดเลือดไปเลี้ยง รวมไปถึงการเกิดบาดแผลเรื้อรัง เนื่องจากเลือดไม่สามารถไหลเวียนมาหล่อเลี้ยงได้เพียงพอ การสมานแผลจึงเป็นไปได้ยาก และมักพบมากที่บริเวณปลายนิ้วเท้าหรือส้นเท้า
  • ภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ บาดแผลของผู้ป่วยเบาหวานมักเกิดการติดเชื้อร่วมด้วย โดยเฉพาะบริเวณเท้าที่สัมผัสกับเชื้อแบคทีเรียได้ง่าย ซึ่งมีผลกระทบมาจากการสมานแผลช้าเพราะเนื้อเยื่อขาดเลือดมาหล่อเลี้ยง ทำให้แผลเกิดอักเสบลุกลาม และอาจร้ายแรงถึงขั้นต้องตัดขา หรืออวัยวะส่วนนั้นๆ ที่เกิดแผลได้

ลักษณะแผลเบาหวานแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ แผลเส้นประสาทเสื่อม แผลขาดเลือด และแผลติดเชื้อ
โดยแผลขาดเลือดนั้นหายยากและอันตรายที่สุด ซึ่งเกิดจากหลอดเลือดแดงในส่วนต่างๆของขาอุดตัน ทำให้เลือดไปเลี้ยงไม่พอ มักเกิดบริเวณนิ้วเท้าและลุกลามสูงขึ้นมาเรื่อยๆ โดยแผลจะแห้ง ก้นแผลซีด ยิ่งหากมีการติดเชื้อในแผลขาดเลือด อาจถึงกับต้องตัดขา





จะเห็นได้ว่า เรื่องแผลเป็นเรื่องใหญ่สำหรับผู้ป่วยเบาหวานอย่างมาก ดังนั้น ควรดูแลตัวเองและคนใกล้ชิดให้ห่างไกลโรคนี้ และหากป่วยเป็นโรคนี้แล้ว ต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ระดับไขมันในเลือด และควบคุมความดันโลหิตให้ดี เพื่อลดความเสี่ยงจากการเกิดแผลเรื้อรังจากเบาหวาน หากแพทย์พบว่าแผลผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ หรือพบว่ามีการติดเชื้อ อาจใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาร่วมด้วย หรือหากพบภาวะหลอดเลือดตีบแข็ง อาจต้องผ่าตัดหลอดเลือดเพื่อให้เลือดสามารถไหลเวียนไปยังบริเวณแผลได้ ทั้งนี้ แนวทางการดูแลรักษาแผลเบาหวาน…แพทย์จะพิจารณาตามความพร้อมของผู้ป่วยและสภาพความรุนแรงของบาดแผลร่วมด้วย

ศูนย์กระดูกและข้อ คลินิกเท้าและข้อเท้า
โรงพยาบาลเปาโล พระประแดง
โทร. 02-818-9000