“โรคทางหู คอ จมูก ส่วนใหญ่เป็นโรคที่ไม่ได้ร้ายแรงถึงกับทำให้เสียชีวิต แต่ก็ควรได้รับการดูแลจากแพทย์เฉพาะทาง คนไข้ของหมอส่วนใหญ่ที่รักษาหายแล้ว เมื่อได้เจอกันก็จะมักมีคำทักทายและรอยยิ้มให้กันเสมอ แล้วก็มีบ้างบางเคสที่เพิ่งจะมาหายดีเมื่อได้มารักษากับหมอ ก็เลยมีการแนะนำบอกต่อกับคนรู้จักหรือพากันมารักษาทั้งครอบครัว ซึ่งก็เป็นความภูมิใจของหมอที่ได้รับความไว้วางใจจากคนไข้ ทำให้ทุกวันนี้ไม่ว่าจะรักษาโรคอะไร จะอาการน้อยหรือเยอะ หมอก็ตั้งใจในทุกๆ เคส โดยตั้งเป้าว่าต้องดูแลทุกเคสในทุกวันอย่างเต็มที่ และรักษาให้ดีที่สุด”
พญ.ศิริกัญญา ศุภพันธุ์ เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหู คอ และจมูก สำเร็จการศึกษาวุฒิบัตรเฉพาะทางสาขาโสตศอนาสิกวิทยา จากโรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งคุณหมอบอกว่า…
“ตอนที่เรียนแพทย์ หมอรู้สึกสนใจและมีความชอบเมื่อได้ไปตรวจคนไข้ในวอร์ดหู คอ จมูก เพราะหมอชอบการทำหัตถการ แต่ต้องเป็นหัตถการที่ไม่ใหญ่มาก และ anatomy ของอวัยวะต่างๆ ในช่วงหู คอ จมูก ก็มีความน่าสนใจ มีรายละเอียดที่น่าค้นหา เมื่อมีโอกาสหมอจึงเลือกเรียนต่อในสาขานี้”
การตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้องนำไปสู่การรักษาที่ตรงจุด
การรักษาโรคหู คอ จมูก ปกติแล้วก็จะเหมือนการตรวจโรคอื่นๆ คือ คุณหมอศิริกัญญา จะเริ่มต้นจากการซักประวัติคนไข้ สอบถามอาการต่างๆ โดยละเอียด เพื่อเข้าสู่การวินิจฉัยโรค อันดับถัดมาคือการตรวจร่างกาย ซึ่งในกรณีที่พบอาการอื่นๆ ร่วมด้วย คุณหมอก็จะทำงานร่วมกับแพทย์เฉพาะทางด้านนั้นๆ เพื่อช่วยกันดูแลรักษาคนไข้ให้ได้ผลการรักษาที่ครอบคลุม…
“ปัจจุบันคนไข้หลักๆ ที่หมอเจอ อันดับหนึ่งคือโรคภูมิแพ้ ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์สูงใกล้เคียงกับโรคหวัด รวมทั้งโรคไซนัสอักเสบ นอกจากนี้ก็มีปัญหาเกี่ยวกับหูอื้อ หูอักเสบ ในเปอร์เซ็นต์ที่รองๆ ลงมา คนไข้ก็จะมีทั้งคนไข้เก่าแก่ที่รักษากันมานานตั้งแต่รุ่นคุณพ่อคุณแม่ และคนไข้ใหม่ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน”
นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่โดดเด่น
ในการตรวจของ คุณหมอศิริกัญญา ส่วนใหญ่ก็จะมีการใช้เครื่องมือแพทย์ เช่น การตรวจหู จะมีการส่องกล้อง ซึ่งคุณหมอจะใช้กล้องจุลทรรศน์ไมโครสโคปขนาดใหญ่ที่แตกต่างจากกล้องในแผนกตรวจสุขภาพทั่วไป โดยคนไข้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหูทุกคน คุณหมอจะใช้เครื่องมือนี้ในการส่องเพื่อให้เห็นภาพสิ่งแปลกปลอมหรือความผิดปกติในหูของคนไข้ เป็นการขยายภาพขนาดใหญ่แบบที่มีความคมชัด ทั้งนี้ หากคนไข้ต้องการเห็นภาพภายในหูของตัวเอง คุณหมอก็จะเปิดให้ดูด้วย…
“ในกรณีที่มีแมลงหรือสิ่งแปลกปลอมหลุดเข้าไปในหู ส่วนมากถ้าส่องเห็น หมอก็จะใช้เครื่องมือที่เหมาะสมกับสิ่งแปลกปลอมนั้นๆ อาจเป็นตัวคีบ เกี่ยว ตัวลาก หรือตัวดูด เพื่อนำเอาสิ่งแปลกปลอมออกมา สำหรับในเด็กเล็กมากๆ บางครั้งเด็กจะไม่ให้ความร่วมมือ ก็อาจจะใช้การดมยาสลบในห้องผ่าตัด เพื่อใช้เครื่องมือที่เหมาะสมดึงหรือคีบออกมา แม้ว่าจะต้องทำในห้องผ่าตัด แต่ไม่ได้เป็นการผ่าตัด ดังนั้นจึงไม่มีอะไรที่น่ากังวล
นอกจากกล้องจุลทรรศน์ส่องหูไมโครสโคป ยังมีการใช้เครื่องมืออื่นๆ อีก เช่น เครื่องมือส่องตรวจไฟเบอร์ออฟติกสำหรับใช้ส่องตรวจลานลิ้น ทำให้ดูได้ตั้งแต่หลังโพรงจมูกจนถึงกล่องเสียง สมัยก่อนที่ยังไม่มีเครื่องมือนี้ หมอจะต้องใช้วิธีดึงลิ้นแล้วเอากระจกส่องดู ซึ่งค่อนข้างลำบากสำหรับคนไข้ที่มีลิ้นใหญ่หรืออ๊อกง่ายเวลามีเครื่องมือดันเข้าไปในคอ เมื่อใช้ไฟเบอร์ออฟติกตัวนี้จึงตรวจได้ง่ายขึ้นและมองเห็นภายในคอคนไข้ได้ชัดเจนยิ่งกว่าเดิม ทำให้การวินิจฉัยโรคทำได้ง่ายขึ้น คนไข้ก็สบายตัวขึ้นด้วย”