พญ.ณัฐชฎา กนกพัชรกุล

จักษุแพทย์

วุฒิบัตร

จักษุแพทย์
วัน เวลา
จันทร์ 08:00 - 16:00
อังคาร 12:00 - 16:00
พุธ 08:00 - 16:00
พฤหัสบดี 12:00 - 16:00
ศุกร์ 08:00 - 16:00

พญ.ณัฐชฎา กนกพัชรกุล

จักษุแพทย์, เชี่ยวชาญโรคต้อหิน
โรงพยาบาลเปาโล เกษตร

การศึกษา

  • แพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
  • วุฒิบัตรสาขาจักษุวิทยา โรงพยาบาลราชวิถี

"ปัญหาการมองเห็นก็ถือเป็นปัญหาสำคัญของคนทุกช่วงวัยนะคะ จริงๆ แล้วโรคทางตาที่มีผลกับการมองเห็นนั้นมีหลายโรค แต่หมอจะพูดถึงโรคหลักๆ แค่บางโรคเท่านั้น สาเหตุของการตาบอด "ชนิดที่รักษาได้" อันดับหนึ่งของไทยและของโลก คือ ต้อกระจก ซึ่งสาเหตุของการเกิดต้อกระจกมีหลายอย่าง แบ่งไปตามช่วงอายุ แต่มันไม่น่ากลัวเพราะมันสามารถผ่าตัดรักษาให้เห็นดีขึ้นได้ แต่อีกโรคที่น่ากลัวกว่าคือ ต้อหิน เพราะต้อหินคือสาเหตุของการตาบอด "ชนิดที่รักษาไม่ได้" เป็นอันดับหนึ่งของไทยและของโลก จริงๆ แล้วสาเหตุของโรคต้อหินก็มีหลากหลาย และส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ เมื่อเริ่มเป็นแรกๆ คนไข้มักจะมาพบแพทย์เมื่อมีการมองเห็นผิดปกติไปมากแล้ว เช่น มองเห็นภาพดำเป็นแถบๆ เริ่มเดินชนของ หรือเวลามองหน้าคนอื่นจะเห็นใบหน้าไม่ครบ เป็นต้น ความน่ากลัวของโรคต้อหินไม่ได้อยู่ที่ตัวโรคเองซะทีเดียว มันอยู่ที่ระยะของโรคตอนที่คนไข้มาพบแพทย์มากกว่า เรียกว่า ถ้าตรวจเจอตั้งแต่เนิ่นๆ เราก็จะสามารถควบคุมไม่ให้ความเสียหายมันลุกลาม หรือไม่ให้แย่ลงเร็วได้ หมอเคยตรวจคนไข้ที่ตั้งใจบินมาจากประเทศลาว ลูกพาพ่อมาเพื่อรับการรักษา แต่วันที่พามานั้น เส้นประสาทตาถูกทำลายไปมากแล้ว การมองเห็นของคุณพ่อเหลือแค่ 10% มองเห็นเพียงจุดตรงกลางเล็กๆ เท่านั้น... แบบนี้ เราเองก็ทำได้เพียงให้ข้อมูลกับคนไข้คะ ว่าโรคต้อหินนั้น คือโรคที่เส้นประสาทมีการถูกทำลายไปทีละน้อย เมื่อเราเริ่มต้นรักษา เราสามารถทำได้แค่ประคับประคองให้เส้นประสาทตาที่เหลืออยู่คงอยู่กับคนไข้ไปให้นานที่สุด ส่วนการมองเห็นที่เสียไปแล้วจะไม่สามารถกู้กลับคืนมาได้ เพราะฉะนั้น การได้รับการตรวจตาอย่างสม่ำเสมอทุกปี ถือเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างมากค่ะ"

หลังจาก พญ.ณัฐชฎา กนกพัชรกุล สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต แล้ว คุณหมอได้ศึกษาต่อวุฒิบัตรจักษุวิทยา ที่โรงพยาบาลราชวิถี ปัจจุบันคุณหมอมีความเชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคต้อหิน คุณหมอได้เล่าถึงแรงบันดาลใจและประสบการณ์ในการศึกษาว่า...

"ตอนที่หมอเป็นนักศึกษาแพทย์ หมอมีความชอบและสนใจในการรักษาด้านการผ่าตัดเป็นพิเศษ แต่ด้วยความที่เป็นผู้หญิง การจะเลือกเป็นศัลยแพทย์ตรงๆ เลย ก็อาจจะยังไม่เหมาะกับแรงของเรา และหมอมองว่าการเป็นจักษุแพทย์นั้นมีการรักษาคนไข้ทั้งด้วยผ่าตัดและการรักษาด้วยการใช้ยา ซึ่งทำให้เราได้ใช้ความรู้และทักษะที่ร่ำเรียนมาครบทั้งสองด้าน พอได้มาศึกษาต่อในสาขาจักษุวิทยา ที่โรงพยาบาลราชวิถี ก็ทำให้หมอมีโอกาสได้เจอคนไข้จำนวนมาก ส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนสูงอายุที่มีการมองเห็นผิดปกติ ก็จะต้องมีลูกหลานพานั่งรถมาหรือเดินประคองกันมา ภาพที่เห็นยิ่งทำให้เรารู้สึกว่าตาและการมองเห็นที่ดี มันเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งจริงๆ ในการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะเมื่อเราอายุมากขึ้นถ้าเรามองไม่เห็นหรือเห็นไม่ดีจะทำให้เราใช้ชีวิตประจำวันลำบาก ดูโทรทัศน์ไม่เห็น อ่านฉลากยาไม่ได้ หรือแม่แต่มีใครเดินไปมาเราก็ไม่เห็น แบบนี้ชิวิตจะยิ่งไม่มีความสุข จากภาพตรงนี้ยิ่งทำให้หมอรู้สึกว่าอยากจะพัฒนาความรู้และความสามารถของตัวเองให้มากยิ่งขึ้น จึงกลับมาศึกษาต่อเฉพาะทางโรคต้อหิน ซึ่งเป็นโรคที่สำคัญดังที่ได้กล่าวไปตอนต้น"

ดูแลรักษาโรคตาด้วยความเชี่ยวชาญ

คนไข้โรคตาของ รพ.เปาโล เกษตร ส่วนใหญ่ราว 70% จะเป็นผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน อาการที่มาก็จะมีทั่วไป เช่น ตาแห้ง ปวดตา ตาพร่ามัว ซึ่งสาเหตุหลักก็มักเกี่ยวข้องกับการทำงานที่ต้องใช้อุปกรณ์สื่อสารอย่างสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่การดูทีวีนานๆ ซึ่งจะเรียกว่าเป็นกลุ่มโรค computer vision syndrome นั่นเอง ส่วนอีกราว 30% จะเป็นคนไข้โรคตาที่เกี่ยวกับการติดเชื้อ เช่น ตาแดง ตากุ้งยิง ตาอักเสบ ผิวตาอักเสบจากการใส่คอนแทคเลนส์ เป็นต้น ที่เหลือก็จะเป็นกลุ่มโรคเรื้อรัง เช่น ต้อหิน ต้อลม ต้อเนื้อ ต้อกระจก ซึ่งคุณหมอณัฐชฎา ก็จะเป็นผู้ทำการรักษาในทุกๆ โรค

ตรวจสุขภาพดวงตา หาความผิดปกติเพื่อป้องกัน

ปกติแล้ว คุณหมอณัฐชฎา จะให้ความสำคัญกับการตรวจคัดกรองสุขภาพดวงตาในทุกๆ ด้าน และโดยเฉพาะการตรวจหาความเสี่ยงโรคต้อหิน เพราะจุดสำคัญของโรคนี้คือไม่มีสัญญาณบอกล่วงหน้าหรือมีอาการบ่งบอกที่คนไข้จะสังเกตได้เองในระดับเริ่มต้น ผู้ป่วยจึงมักไม่รู้ตัวว่าเริ่มมีโรคแล้ว...

"หมออยากให้คนที่อายุ 35 ปีขึ้นไป ได้เข้ามาตรวจสุขภาพตาทุกปี เพราะถ้าไม่ตรวจก็จะไม่ทราบเลยว่าเรามีภาวะต้อหินหรือไม่ และเป็นในระดับไหนแล้ว ยิ่งถ้าหากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคต้อหินก็ยิ่งจำเป็นต้องตรวจ รวมถึงคนที่มีปัญหาเรื่องสายตามากๆ ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่ค่อนข้างสูง หมอจึงแนะนำให้ตรวจตาตั้งแต่เนิ่นๆ ส่วนพฤติกรรมการใช้ชีวิตอยู่กับสมาร์ทโฟนหรือการใช้หน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ นั้นก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงทางอ้อม ดังนั้นผู้ที่มีสายตาสั้นหรือตาแห้งจากการใช้สายตานานๆ หากเข้ามาตรวจรักษาตาที่โรงพยาบาล หมอก็จะแนะนำให้ตรวจให้ครบทั้งหมด หากมีภาวะเป็นโรคต้อหรือโรคทางตาอื่นๆ จะได้พบตั้งแต่เนิ่นๆ แล้วรีบรักษา ก่อนที่จะสายเกินไป"

ใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือทางการแพทย์ เพื่อประโยชน์สูงสุด

ปัจจุบันการตรวจสุขภาพดวงตา ทางโรงพยาบาลจะใช้เครื่อง Auto Reflection สำหรับการตรวจสายตาขั้นพื้นฐาน เช่น ระดับความสั้น ยาว เอียงของสายตา นอกจากนี้ยังมีเครื่องเป่าลมวัดความดันตาที่เรียกว่า pneumotonometer โดยใช้ลมเป่าไปที่ตาดำ แรงลมเป่าจะทำให้ทราบค่าความดันตา หากพบความผิดปกติจะได้ทำการตรวจวินิจฉัยในเชิงลึกต่อไป...

"เมื่อคนไข้ได้ผ่านขั้นตอนการตรวจวัดระยะการมองเห็นเบื้องต้น และการตรวจวัดสายตาอย่างละเอียดแล้ว หมอก็จะทำการตรวจตาเพื่อประเมินสุขภาพตาโดยรวม ตรงนี้หมอจะใช้ Slit lamp ซึ่งเป็นกล้องจุลทรรศน์ที่จะส่องเห็นทั้งภายนอกและภายในดวงตาที่ให้ภาพ 3 มิติ เป็นการตรวจเช็กได้ตั้งแต่ผิวหนังรอบดวงตาและลึกลงไปจนถึงเลนส์ตา ขั้วประสาทตา อันจะมีประโยชน์มากในการประเมินสุขภาพดวงตาและหาความเสี่ยงต่างๆ"

ความภาคภูมิใจในการทำหน้าที่จักษุแพทย์

จากประสบการณ์ในการดูแลรักษาคนไข้มาอย่างยาวนาน คุณหมอณัฐชฎา ได้ผ่านเคสการรักษาที่หลากหลาย คุณหมอได้เห็นปัญหาและความทุกข์ของคนไข้จำนวนมาก ในทุกการรักษาคุณหมอจึงทุ่มเทเพื่อให้คนไข้หายดี หรืออย่างน้อยต้องรักษาสภาพดวงตาไว้ให้ได้นานที่สุด เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีพอ...

"แน่นอนว่าคนไข้ที่มาหาหมอ แล้วหมอตรวจรักษาให้หายจากอาการของโรค นั่นคือความสุขของทั้งคนไข้และผู้รักษา ไม่ว่าจะเป็นโรคอะไรก็ตาม เวลาคนไข้เปิดตามาหลังผ่าตัดเสร็จ เขาสามารถกลับมามองเห็นได้ชัดเจนจากที่เคยตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัดเจนมาหลายปี คนไข้ก็จะดีใจ มีความสุขที่แสดงออกชัดทางสีหน้า และมักกล่าวขอบคุณหมอเสมอ ตรงนี้ก็ทำให้หมอมีความรู้สึกภาคภูมิใจ และในฐานะจักษุแพทย์โรคต้อหิน การได้ให้ข้อมูลชุดใหญ่กับคนไข้และญาติคนไข้ การได้อธิบายอย่างละเอียดและให้เวลาอย่างเต็มที่เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะคนไข้โรคต้อหินที่มาตรวจเจอครั้งแรก หมอมักจะให้ญาติหรือผู้ดูแลคนไข้เข้ามาร่วมฟังการวินิจฉัยด้วยทุกครั้ง เพื่อให้เขาเข้าใจตัวโรคและการดูแลคนไข้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะคนไข้สูงวัยที่มีปัญหาเกี่ยวกับตา ญาติจะต้องให้ความเอาใจใส่และดูแลอย่างใกล้ชิด บางครั้งหมอก็เหมือนครู ต้องอธิบาย แนะนำ เพื่อให้คนไข้และญาติสามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อทั้งการรักษาและคุณภาพชีวิตของคนไข้วันข้างหน้า"