การผ่าตัดไทรอยด์ ไร้แผล ผ่านกล้องทางช่องปาก
โรงพยาบาลเปาโลเกษตร
20-ธ.ค.-2565


Line official account : Paolo Hospital Kaset
Line ID : @paolokaset


ต่อมไทรอยด์ ทำหน้าที่ในการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมระบบการเผาผลาญของร่างกาย หรือ เมตาบอลิซึม (Metabolism) โดยหากต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนมากเกินไป หรือน้อยเกินไป ก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ 

สังเกตอาการ ไทรอยด์ ผิดปกติ
1.ไทรอยด์ทำงาน มากเกินไป คนไข้จะมีลักษณะอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น ร้อนง่าย นอนไม่หลับ น้ำหนักตัวลด แม้ว่าจะกินอาหารตามปกติหรือเพิ่มขึ้น
2.ไทรอยด์ทำงาน น้อยเกินไป คนไข้จะมีลักษณะอาการน้ำหนักเพิ่ม อ่อนเพลีย ง่วงนอนตลอดเวลา เฉื่อยชา เซื่องซึม ทนอากาศหนาวไม่ได้ เหนื่อยง่าย และท้องผูก
3.ไทรอยด์ทำงานปกติ อาการก็จะปกติ แต่สามารถคลำพบก้อนบริเวณคอตำแหน่งด้านหน้าที่มีต่อมไทรอยด์อยู่


ก้อนเนื้องอกไทรอยด์ เมื่อตรวจเจอ รักษาได้
เมื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย แพทย์จะวางแผนการรักษา ตรวจหาสาเหตุ และความรุนแรงของโรค โดย

1.ในกรณีที่ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ
เช่น ไทรอยด์ทำงานมากและไทรอยด์โตขึ้น มีวิธีการรักษาโดยการใช้ยาและติดตามรักษา รวมถึงการกลืนแร่ กรณีไม่ตอบสองจากการรักษาด้วยยาอาจพิจารณาผ่าตัดรักษา

2.ในกรณีที่มีก้อนเนื้องอกในต่อมไทรอยด์ร่วมด้วย
แพทย์จะเริ่มหาสาเหตุโดยการทำอัลตร้าซาวด์ไทรอยด์ เพื่อดูลักษณะของก้อนว่าเป็นก้อนเนื้อหรือเป็นซิสต์ในไทรอยด์ และประเมินความเสี่ยงจากลักษณะก้อนในการเกิดมะเร็ง เพื่อพิจารณาว่าจะใช้การติดตามรักษาหรือการเจาะดูดเซลล์มาตรวจทางพยาธิวิทยาต่อไป

ในกรณีตรวจพบเซลล์ผิดปกติมีแนวโน้มเป็นมะเร็ง หรือพบเซลล์มะเร็ง ก็จำเป็นต้องผ่าตัดรักษา ซึ่งในปัจจุบันการผ่าตัดนั้นมีรูปแบบที่หลากหลายให้เลือกตามความเหมาะสม ดังนี้

1. การผ่าตัดเปิดผ่านช่องคอ 
เป็นวิธีการผ่าตัดแบบดั้งเดิม จะมีแผลผ่าตัดบริเวณคอด้านหน้า ขนาดประมาณ  5-10 ซม. โดยขนาดของแผลผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับขนาดของต่อมไทรอยด์  ข้อเสียของการผ่าตัดวิธีนี้ คือจะมีแผลบริเวณผิวหนังที่คอ

2. การผ่าตัดไทรอยด์ผ่านกล้องทางช่องปาก หรือผ่าตัดไทรอยด์ไร้แผล
; Transoral Endoscopic Thyroidectomy Vestibular Approach (TOETVA)
เป็นการผ่าตัดไทรอยด์ทางช่องปาก ซึ่งจะมีระดับความเจ็บปวดหลังผ่าตัดที่ไม่แตกต่างจากการผ่าตัดเปิด แต่คนไข้จะไม่มีแผลเป็นให้เห็นจากภายนอก มีเพียงแผลผ่าตัดเล็กขนาด ประมาณ 2 ซม. และ 0.5 ซม. ที่เยื่อบุริมฝีปากทางด้านล่าง
โดยในช่วงของการพักฟื้นหลังการผ่าตัด ผู้เข้ารับการรักษาจะได้รับยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวด ร่วมกับการให้ยาปฏิชีวนะ รวมทั้งต้องใส่ใจดูแลรักษาความสะอาดของแผลในช่องปาก เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
กรณีผ่าตัดนำต่อมไทรอยด์ออกทั้งหมด  ร่างกายจะไม่สามารถสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ตามธรรมชาติเองได้ จำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนเสริมทดแทน รวมทั้งควรเข้ารับการตรวจติดตามอาการตามนัดหมาย เพื่อตรวจหาระดับสมดุลฮอร์โมนว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่

เสี่ยงหรือไม่ ที่จะกลายเป็นมะเร็ง 
โอกาสที่ต่อมไทรอยด์จะกลายเป็นมะเร็งนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยและองค์ประกอบต่างๆ ที่ต้องประเมินวินิจฉัยร่วมกัน โดยเมื่อทราบผลการวินิจฉัยที่ชัดเจน ก็จะสามารถวางแผนการรักษาให้เหมาะสมกับอาการ ซึ่งการตรวจจะทำดังนี้
1.ประวัติการตรวจร่างกาย
 
สังเกตจากอายุ เพศ ลักษณะของต่อมไทรอยด์ ต่อมโตขึ้นเร็ว มีเสียงแหบเปลี่ยนแปลง หรือหายใจไม่อิ่ม 
2.การตรวจภาพรังสี 
ด้วยวิธีการอัลตร้าซาวด์เพื่อดูตำแหน่งก้อนที่คอ ว่ามีลักษณะที่คล้ายกับมะเร็ง หรือความเสี่ยงของมะเร็งหรือไม่
3.การตรวจชิ้นเนื้อ 
ในกระบวนการนี้จะใช้เข็มดูดนำเซลล์ชิ้นเนื้อของก้อนไทรอยด์มาตรวจทางห้องปฎิบัติการ

 

“ การผ่าตัดไทรอยด์ไร้แผล

เป็นการผ่าตัดผ่านกล้องทางช่องเยื่อบุริมฝีปากล่าง

จึงไม่เห็นแผลเป็นจากภายนอกหลังผ่าตัด ”

“True Scarless Thyroid Surgery”





สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม

โรงพยาบาลเปาโล เกษตร โทร. 02 1500 900