ไส้ติ่งอักเสบ ไส้เลื่อน นิ่วในถุงน้ำดี โรคทางศัลยกรรมที่ไม่ควรมองข้าม
โรงพยาบาลเปาโลเกษตร
14-มิ.ย.-2566

ไส้ติ่งอักเสบ ไส้เลื่อน นิ่วในถุงน้ำดี โรคทางศัลยกรรมที่ไม่ควรมองข้าม

โรคในช่องท้องที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ กระเพาะอาหาร ถุงน้ำดี และตับ เป็นต้น ซึ่งอวัยวะเหล่านี้ถ้าหากเกิดความผิดปกติจะทำให้ระบบทางเดินอาหาร หรือระบบการขับถ่ายเป็นปัญหา กรณีทราบว่าตนเองกำลังมีอาการของโรคต่าง ๆ แนะนำให้รีบเข้าพบแพทย์


ไส้ติ่งอักเสบ Acute Appendicitis
ไส้ติ่งอักเสบ เกิดจากการที่มีสิ่งอุดตันบริเวณโคนไส้ติ่ง ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากชั้นน้ำเหลืองโต หรือเนื้องอกบริเวณไส้ติ่งหรือลำไส้ใหญ่ส่วนต้น ทำให้ไส้ติ่งเกิดการอักเสบบวมหลังการอุดตัน ในบางรายที่เป็นมานานไม่มารับการตรวจรักษา อาจมีภาวะแทรกซ้อนของไส้ติ่งอักเสบรุนแรงร่วมได้แก่ ผนังไส้ติ่งอักเสบเน่าหรือทะลุ หรือเกิดเป็นฝีบริเวณช่องท้อง
อาการ ระยะแรกผู้ป่วยมักมาด้วยอาการปวดจุกแน่นท้องบริเวณสะดือ ต่อมาอาการปวดเป็นมากขึ้นละตำแหน่งปวดชัดเจนขึ้นบริเวณท้องขวาล่าง โดยอาจ มีไข้ คลื่นไส้ เบื่ออาหาร อาเจียน หรือถ่ายเหลวได้ กรณีมีเยื่อบุช่องท้องอักเสบร่วม มักมีอาการปวดรุนแรงตลอดเวลา โดยเฉพาะเวลาขยับร่างกายสะเทือน เช่น ไอ จาม
การรักษา เมื่อได้รับการตรวจวินิจฉัย โดยเวลาเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หรือหญิงตั้งครรภ์ซึ่งอาการไม่ชัดเจนตรวจพบได้ยากตอนแรก ทำให้มีโอกาสเกิดไส้ติ่งแตกง่ายจากการวินิจฉัยที่ล่าช้าหรือผิดพลาด เนื่องจากอาการปวดจะใกล้เคียงกับโรคอื่น ๆ เช่น นิ่วในท่อไต โรคกระเพาะอาหาร ปีกมดลูกอักเสบ รวมทั้งในผู้สูงอายุและเด็กอาการปวดท้องอาจไม่ชัดเจนวินิจฉัยได้ยาก  ปัจจุบันการรักษาไส้ติ่งอักเสบสามารถรักษาด้วยการผ่าตัดผ่านกล้องทางหน้าท้อง ขนาดแผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ฟื้นตัวหลังผ่าตัดได้ไว และประสิทธิภาพการรักษาดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในไส้ติ่งอักเสบแบบที่มีภาวะแทรกซ้อนเช่นไส้ติ่งอักเสบรุนแรงผนังเน่า หรือไส้ติ่งอักเสบแตกมีหนองในช่องท้อง ซึ่งในการผ่าตัดดังกล่าวได้ผลการรักษาดีในมือศัลยแพทย์ที่ชำนาญการผ่าตัดผ่านกล้อง โดยในรายที่การอักเสบไม่รุนแรงสามารถทำการผ่าตัดผ่านกล้องตัดไส้ติ่งแบบแผลเดียวได้ (Single Incision Laparoscopic Appendectomy)


ภาวะไส้เลื่อนผนังหน้าท้อง Ventral hernia

ไส้เลื่อนเป็นโรคที่อวัยวะภายในช่องท้อง เยื่อไขมัน (omentum) หรือลำไส้ทั้งลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ (small bowel or  large bowel)” เคลื่อนออกจากรูบริเวณผนังหน้าท้องที่หย่อนยาน หรือบริเวณแผลผ่าตัด ตำแหน่งที่เกิดบริเวณผนังหน้าท้อง (ventral hernia) เกิดได้ตั้งแต่บริเวณลิ้นปี่ใต้ชายโครงจนถึงขาหนีบสองข้าง ที่พบบ่อยได้แก่ ไส้เลื่อนบริเวณแผลผ่าตัดเดิม (Incisional hernia) ไส้เลื่อนสะดือ (Umbilical hernia) ไส้เลื่อนขาหนีบ (Inguinal hernia)
อาการ ปวดหน่วง ๆ เหมือนมีอะไรไหลออกมา มีก้อนยื่นหรือเจ็บบริเวณผนังหน้าท้อง โดยลักษณะก้อนจะผลุบเข้าออกได้และยุบหายเมื่อนอน หรือสามารถดันกลับได้ ความสำคัญคือหากมีอาการปวดร่วมหรือดันไส้เลื่อนกลับได้ยาก ควรรีบเข้าพบแพทย์โดยเร็ว หากปล่อยไว้จนเกิดภาวะไส้เลื่อนดันไม่กลับ (Incarcerated hernia) ลำไส้ที่ยื่นผ่านช่องไส้เลื่อนอาจถูกบีบรัดจนขาดเลือดและกรณีนานกว่าหกชั่วโมงลำไส้ อาจขาดเลือดรุนแรงนำไปสู่การเน่าตายของลำไส้ (Stangulated hernia)
กลุ่มเสี่ยง ที่จะเป็นไส้เลื่อน ส่วนใหญ่มักพบในชายวัยกลางคนจนถึงสูงอายุ โดยมักมีสาเหตุจากการเพิ่มของแรงดันในช่องท้องมาระยะเวลานาน เช่น ในผู้ที่ยกของหนัก เป็นโรคต่อมลูกหมากโต โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคถุงลมโป่งพอง ไอเรื้อรัง มีภาวะท้องผูกหรือเบ่งถ่ายเป็นประจำ หรือผู้ที่เคยผ่าตัดช่องท้องมาก่อนอาจเกิดไส้เลื่อนที่แผลผ่าตัดได้ ส่วนผู้หญิงมักเป็นไส้เลื่อนใต้ขาหนีบ ไส้เลื่อนกระบังลม ไส้เลื่อนภายในช่องเชิงกราน และนอกจากนี้ยังพบไส้เลื่อนที่สะดือ
การรักษา
ไส้เลื่อน เป็นโรคที่ไม่สามารถหายเองได้ แต่รักษาได้ด้วยการผ่าตัด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนดังกล่าว

การผ่าตัดไส้เลื่อนแบบเดิม
เป็นการผ่าตัดโดยการที่จะผ่าเข้าไปผูกตัดถุงที่ยื่นออกมา จากนั้นก็ทำการเย็บซ่อมผนังหน้าท้องส่วนที่อ่อนแอให้แข็งแรงขึ้น และวางตาข่ายเสริมความแข็งแรงของผนังหน้าท้อง เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ ขนาดแผลผ่าตัดจะใหญ่กว่าการผ่าตัดผ่านกล้อง และเป็นการปิดรูไส้เลื่อนจากผนังด้านนอก

การผ่าตัดไส้เลื่อนแบบแผลเล็กด้วยวิธีการผ่าตัดผ่านกล้อง
โดยจะทำผ่านรูที่ผ่าเข้าทางหน้าท้องบริเวณใต้สะดือขนาดประมาณ 1.2-1.5 เซนติเมตร และขนาด 0.5 เซนติเมตร และทำการซ่อมแซมปิดรูไส้เลื่อนจากทางด้านในผนังช่องท้องระหว่างใต้กล้ามเนื้อผนังหน้าท้องและเยื่อบุช่องท้อง ซึ่งการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ให้ผลดีกับผู้ป่วย ดังนี้
แผลมีขนาดเล็ก
- ผู้ป่วยเจ็บแผลน้อยลง ใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลน้อยลง และฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
- ลดการติดเชื้อของแผลผ่าตัด
- สามารถเห็นลักษณะรูไส้เลื่อนทั้งสามแบบได้ชัดเจนในการผ่าตัดไส้เลื่อนผ่านกล้อง ได้แก่ ไส้เลื่อนที่มีถุงไส้เลื่อนยื่นลงในถุงอัณฑะ ไส้เลื่อนที่เกิดจากผนังหน้าท้องอ่อนแอ และไส้เลื่อนที่อยู่ใกล้บริเวณหลอดเลือดดำที่ขาหนีบตามรูป

ปัจจุบัน มีการผ่าตัดผ่านกล้องแบบรูเดียวแผลเดียวในการรักษาไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ (Single Incision Laparoscopic Totally Extraperitoneal Repair) ทำให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กและมีแผลเดียว

นิ่วในถุงน้ำดีแบบมีอาการร่วม Symptomatic Gall Stone และถุงน้ำดีอักเสบ Acute or Chronic cholecystitis
นิ่วในถุงน้ำดี พบได้บ่อยในวัย 40 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน ทานยาคุมกำเนิดหรือฮอร์โมนจากภาวะหมดประจำเดือน ทานยาลดไขมันในเลือด เป็นต้น
อาการ อาจไม่แสดงอาการชัดเจนเช่นมีอาการท้องอืด แน่นท้อง อาหารไม่ย่อยหลังทานอาหารที่มีไขมันสูงหรือมีอาการปวดชัดเจนบริเวณท้องใต้ชายโครงขวา
การรักษา หลังได้รับการวินิจฉัยแพทย์จะทำการผ่าตัดแผลเล็กผ่านกล้องตัดขั้วและเลาะถุงน้ำดีออก เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนเช่นถุงน้ำดีอักเสบ หรือมีนิ่วในถุงน้ำดีหลุดจากท่อถุงน้ำดีไปอุดท่อน้ำดี ทำให้เกิดภาวะท่อน้ำดีอักเสบได้
ปัจจุบัน การผ่าตัดโดยศัลยแพทย์ชำนาญด้านการผ่าตัดผ่านกล้องสามารถผ่าตัดถุงน้ำดีอักเสบผ่านกล้องได้สำเร็จในทุกระดับการอักเสบ เช่น ถุงน้ำดีอักเสบมีหนอง (Empyema cholecystitis ) ถุงน้ำดีอักเสบรุนแรงเน่า (Gangreneous cholecystitis) หรือเนื้องอกถุงน้ำดี

รวมทั้งในกรณีถุงน้ำดีอักเสบไม่รุนแรง (Acute cholecystitis) และปวดท้องจากนิ่วในถุงน้ำดี (Symptomatic gallstones) ปัจจุบันสามารถผ่าตัดผ่านกล้องแบบแผลเดียวได้ (Single Incision Laparoscopic Cholecystectomy)

แผนกศัลยกรรม โรงพยาบาลเปาโล เกษตร พร้อมให้บริการตั้งแต่การตรวจคัดกรอง ไปจนถึงการผ่าตัดโรคต่าง ๆ ทางศัลยกรรมโดยศัลยแพทย์ที่ชำนาญการเฉพาะทาง มากด้วยประสบการณ์ในการตรวจวินิจฉัยและรักษา ผ่าตัดแก้ไขด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน พร้อมนำวิทยาการทางการแพทย์สมัยใหม่เข้ามาปรับใช้ ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลได้นำเทคนิคการผ่าตัดผ่านกล้องขั้นสูง Advanced MIS เข้ามาช่วยในการผ่าตัดและได้ผลการรักษาดี แผลเล็ก ภาวะแทรกซ้อนน้อย

 


สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
แผนกศัลยกรรม กระดูกและข้อ โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
โทร. 02 1500 900 ต่อ 5114

Facebook : โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
Line official account : Paolo Hospital Kaset
Line ID : @paolokaset