มะเร็งลำไส้ใหญ่ ภัยเงียบที่ตรวจคัดกรองได้
โรงพยาบาลเปาโลเกษตร
21-ก.ย.-2566

มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colorectal cancer) ภัยร้ายที่มาจากพฤติกรรม มะเร็งลำไส้ใหญ่ คือ ก้อนเนื้องอกที่เกิดขึ้นบริเวณลำไส้ใหญ่ มักเกิดขึ้นจากติ่งเนื้อที่อยู่ที่ลำไส้ใหญ่มาก่อนสักระยะหนึ่ง ซึ่งหากติ่งเนื้อนั้นมีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์จนโตขึ้นก็อาจจะกลายเป็นมะเร็งได้ในที่สุด มะเร็งสำไส้ใหญ่ ถือเป็นอีกปัญหาสุขภาพที่อยู่ใกล้ตัวเราอย่างคาดไม่ถึง เพราะสาเหตุสำคัญของโรคนี้ มักสืบเนื่องมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่ผิดๆ อาทิ การเลือกกินอาหารที่ปิ้งย่างที่มักมีสารก่อมะเร็ง การกินอาหารแปรรูปบางอย่างมากเกินไป การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ การขาดการออกกำลังกาย มีความเครียดสูง และเมื่อมีปัญหาระบบขับถ่ายแต่ไม่ยอมไปพบแพทย์เพื่อรักษา เป็นต้น


พฤติกรรมการขับถ่ายและอาการผิดปกติที่ไม่ควรปล่อยผ่าน
อาการผิดปกติของระบบขับถ่าย อาจเป็นสัญญาณเตือนครั้งสำคัญของปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งมักมีอาการดังนี้
- ขับถ่ายบ่อยครั้งขึ้น หรือท้องผูกมากขึ้น
- ขับถ่ายไม่สุด หรือปวดเบ่ง
- ท้องเสียสลับกับท้องผูก
- มีเลือดสดๆ หรือเลือดแดงคลํ้าปนออกมากับอุจจาระ
- อุจจาระมีลักษณะก้อนเปลี่ยนเป็นเส้นลีบแบน
- มีท้องอืด ปวดท้อง แน่นท้อง จุกเสียด มีลมในลำไส้มาก
- นํ้าหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
- เหนื่อย อ่อนเพลียง่าย จนกระทบต่อการใช้ชีวิต


กระบวนการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
เพื่อให้การวางแผนการรักษาเป็นไปอย่างถูกต้อง มีความแม่นยำและตรงจุด จำเป็นต้องมีการซักประวัติและการตรวจร่างกายอย่างละเอียด หรือทำการตรวจเพิ่มเติม ได้แก่
• การตรวจอุจจาระ (Stool Occult Blood)
• การเอกซเรย์ (Barium enema)
• การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Colonography)
• การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy)


กระบวนการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่

มะเร็งลำไส้ใหญ่รักษาได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับขนาด จำนวนก้อนมะเร็ง และระยะของโรค รวมถึงสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย เช่น
• การผ่าตัด
• การให้เคมีบำบัด (Chemotherapy)
• การฉายรังสี (radiotherapy)
ซึ่งการผ่าตัดร่วมกับเคมีบำบัด เป็นวิธีการรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่สำคัญที่สุด ส่วนการฉายแสงหรือการฉายรังสี มักจะรักษากับคนไข้ที่เป็นก้อนมะเร็งที่อยู่ในลำไส้ใหญ่ส่วนล่างๆ ซึ่งไม่สามารถที่จะผ่าตัดได้ โดยกระบวนการรักษาโรคมะเร็งควรทำการรักษาตั้งแต่แรกเริ่ม หากปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานาน เซลล์มะเร็งอาจลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย โอกาสในการรักษาหายก็จะลดน้อยลง


ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้
• บุคคลที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ขึ้นไป
• พันธุกรรม บุคคลที่มีประวัติคนในครอบครัว พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย เคยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ความเสี่ยงก็จะมากกว่าคนทั่วไป
• การเลือกทานอาหารประเภทไขมันสูง ไม่มีใยอาหาร หรือทานผักผลไม้น้อย
• การสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น สุรา เป็นประจำ
• การไม่ออกกำลังกาย และมีภาวะโรคอ้วน


ลดความเสี่ยงด้วยการดูแลสุขภาพและปรับพฤติกรรม ให้ห่างไกลมะเร็งลำไส้ใหญ่
• ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยให้ได้สัปดาห์ละ 150 นาทีขึ้นไป
• เลือกทานอาหารที่มีกากใยสูงเพื่อช่วยในขับถ่าย ดื่มน้ำให้มาก และอย่าให้ท้องผูกเรื้อรัง
• เลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง หรือทานอาหารมากเกินไป
• งดการสูบบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์





บทความโดย

นายแพทย์ณัฏฐากร วิริยานุภาพ
อายุรแพทย์ชำนาญการด้านระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลเปาโลเกษตร







สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
แผนก อายุรกรรม โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
โทร. 02 1500 900 ต่อ 5113
Facebook : โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
Line official account : Paolo Hospital Kaset
Line ID : @paolokaset