สัญญาณเตือนภาวะฮอร์โมนผิดปกติ
โรงพยาบาลเปาโลเกษตร
03-มี.ค.-2566

อารมณ์แปรปรวน นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ สัญญาณเตือนภาวะฮอร์โมนผิดปกติ

ฮอร์โมน Hormones คือสารเคมีที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายให้เป็นไปตามปกติ ซึ่งปริมาณและการทำหน้าที่ของฮอร์โมนในแต่ละช่วงอายุก็แตกต่างกัน

ฮอร์โมนเพศหญิงที่สำคัญ หลัก ๆ คือ
1. ฮอร์โมนเอสโตรเจน
Estrogen เป็นฮอร์โมนที่สำคัญ ทำหน้าที่ควบคุมระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิง ซึ่งผลิตจากรังไข่เป็นส่วนใหญ่ และมีส่วนน้อยที่ผลิตจากต่อมหมวกไตและเซลล์ไขมัน โดยมีผลต่อการเจริญเติบโตทางเพศ ลักษณะของเพศหญิง การมีประจำเดือน การตั้งครรภ์ และการหมดประจำเดือน ซึ่งหากมีฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินไปอาจทำให้มีการสะสมไขมันมากขึ้น ส่งผลให้เกิดโรคอ้วน หงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวนง่าย และยังเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งบางชนิดและไขมันในเส้นเลือด 

อาการของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนไม่สมดุล เช่น
 ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ

 อารมณ์แปรปรวน

 หงุดหงิดง่าย

 นอนหลับยาก

 ไม่มีสมาธิ

 กระดูกเปราะง่าย

 ช่องคลอดแห้งและฝ่อตัว มีผลต่อเพศสัมพันธ์ เกิดถุงน้ำ เนื้องอกที่เต้านม มดลูก และรังไข่ได้ 

2. ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน Progesterone ถูกสร้างจากรังไข่ในช่วงหลังไข่ตกและบางส่วนจากรก โดยจะมีหน้าที่ควบคุมภาวะไข่ตก และการมีประจำเดือนกระตุ้นให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวขึ้น พร้อมรับการฝังตัวของตัวอ่อนที่ได้รับการผสมจากไข่และอสุจิแล้ว ดูแลการตั้งครรภ์ ควบคุมการทำงานพื้นฐานของร่างกาย

3. ฮอร์โมน Follicular stimulating hormone (FSH) เป็นฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมใต้สมองเพื่อกระตุ้นให้ไข่มีการเจริญเติบโตและพร้อมต่อการผสมกับอสุจิ รวมถึงมีผลต่อการเติบโตทางเพศในช่วงวัยเจริญพันธุ์ หากฮอร์โมน FSH ผิดปกติจะทำให้ไม่มีการเจริญเติบโตของไข่และอาจมีผลต่อความสามารถในการสืบพันธุ์ได้

4. ฮอร์โมน Luteinizing hormone (LH) สร้างจากต่อมใต้สมอง มีหน้าที่กระตุ้นให้ไข่ที่เจริญเต็มที่แล้วตกจากรังไข่เพื่อพร้อมรับการผสมอสุจิ หากฮอร์โมน LH ต่ำเกินไปจะทำให้มีการตกไข่ ส่งผลต่อความสามารถในการสืบพันธุ์ แต่หากมีมากเกินไปก็อาจส่งผลต่อการเกิดซีสต์หรือถุงน้ำรังไข่ได้


การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศหญิง ในช่วงวัยทอง
วัยทอง หรือวัยหมดประจำเดือน เป็นวัยที่เพศหญิงหยุดการมีประจำเดือนและไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ ซึ่งช่วงอายุของวัยทองจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 48-52 ปี หรือมีเหตุที่ต้องตัดมดลูก รังไข่ เช่น การมีซีสต์ หรือสาเหตุอื่นทางนรีเวช และต้องมีการตรวจรังไข่ทั้งสองข้างเพื่อนำรังไข่ออก จะทำให้สตรีเหล่านี้ขาดฮอร์โมนเพศ ทำให้เข้าสู่วัยทองได้เช่นกัน อ่านต่อเพิ่มเติม คลิก

เมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนอย่างสมบูรณ์ ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน โปรเจสเตอโรน และเทสเตอโรนลดลงอย่างมาก และฮอร์โมน follicle stimulating hormone (FSH) และ Luteinzing hormone (LH) จะเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อความรู้สึกทางเพศ มีการเปลี่ยนแปลงทางผิวหนัง มวลกระดูกบางลง ส่งผลให้กระดูกเปราะง่าย และยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือดสมองได้

การตรวจวินิจฉัยอาการวัยทองสตรี
การตรวจระดับฮอร์โมนจะสามารถวินิจฉัยว่ามีภาวะหมดประจำเดือนได้ โดยจะพบว่ามีระดับฮอร์โมน follicle stimulating hormone (FSH) ที่สูงขึ้น และฮอร์โมนเอสโตรเจนชนิด estradiol (E2) ลดลง

ฮอร์โมนทดแทนวัยทองสตรี
ในผู้ที่มีอาการรุนแรง การใช้ฮอร์โมนเสริมเพื่อทดแทนฮอร์โมนที่ร่างกายสร้างลดลง จะช่วยลดอาการต่าง ๆ รวมถึงป้องกันการเกิดกระดูกพรุนในระยะยาว โดยฮอร์โมนที่ใช้มีทั้งกลุ่มฮอร์โมนเอสโตรเจนร่วมกับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ซึ่งมีทั้งในรูปแบบการรับประทาน แผ่นแปะ เจล หรือเจลหล่อลื่นสำหรับใช้รักษาภาวะช่องคลอดแห้งโดยเฉพาะ ซึ่งปริมาณของฮอร์โมนในแต่ละรูปแบบมีขนาดที่แตกต่างกันไป

การให้ฮอร์โมนทดแทนอาจส่งผลเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งบางชนิดและโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงมีข้อห้ามในการใช้ในผู้ป่วยบางกลุ่ม จึงควรมีการปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจระดับฮอร์โมนและพิจารณาการใช้ยา รวมถึงการปรับขนาดยาอย่างต่อเนื่องและเหมาะสม ไม่ควรซื้อฮอร์โมนทดแทนรับประทานเอง


ฮอร์โมนเพศชาย

ฮอร์โมน Testosterone เป็นฮอร์โมนสำคัญในเพศชายที่ร่างกายสร้างจากอัณฑะ มีหน้าที่ควบคุมและสร้างลักษณะทางกายภาพของเพศชาย ทั้งยังสนับสนุนการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ให้สมดุล เช่น ช่วยสร้างกล้ามเนื้อ และมวลกระดูก รวมไปถึงเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมอง

ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย
ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย Andropause คือการที่ผู้ชายเกิดการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากมีบางอย่างผิดปกติ ส่งผลให้ ฮอร์โมนเพศชายลดต่ำ อ่านต่อเพิ่มเติม คลิก

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ฮอร์โมนเพศชาย Testosterone ลดลง
ฮอร์โมนเพศชาย Testosterone โดยปกติจะมีระดับอยู่ที่ 300 – 1,000 นาโนกรัมต่อเดซิลิตร แต่เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนเพศชาย Testosterone ได้ลดลง ซึ่งนอกจากสาเหตุอายุที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว พฤติกรรมหรือรูปแบบการใช้ชีวิตก็อาจจะส่งผลกระทบต่อการสร้างฮอร์โมนเพศชายได้ เช่น
 การรับประทานของทอด ของมัน หรือของหวานเป็นประจำ
 มีน้ำหนักตัวที่มากเกินไป หรือมีภาวะอ้วนลงพุง
 มีความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ
 การดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่หรือได้รับควันบุหรี่มือสองเป็นประจำ

การตรวจวินิจฉัยภาวะฮอร์โมนเพศชายลดลงผิดปกติ
หากสงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยง ภาวะฮอร์โมนเพศชายลดลงผิดปกติ สามารถเข้ารับการตรวจร่างกายและตรวจวัดระดับฮอร์โมนในเลือด โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่คลินิกสุขภาพเพศ Health Care Paolo Kaset เพื่อให้การวินิจฉัยโรคหรือปัญหาที่มีได้อย่างรอบด้าน ซึ่งนำไปสู่การได้รับการรักษาอย่างครอบคลุมและได้รับผลที่ดีที่สุด

ฮอร์โมนทดแทน วิธีการรักษาปัญหาฮอร์โมนเพศชายผิดปกติ
ในกรณีที่จำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนเพศชายทดแทน จะมีด้วยกันหลายวิธี โดยแต่ละวิธีจะมีจุดเด่นและข้อจำกัดที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งแพทย์จะทำการให้คำแนะนำและร่วมตัดสินใจร่วมกับผู้ป่วยในการเลือกวิธีที่เหมาะสมตามรายบุคคล ทั้งนี้ ไม่ว่าจะหลังจากการตรวจค่าฮอร์โมนแล้วหรือเป็นผู้ที่ไม่เคยตรวจมาก่อนก็ไม่ควรซื้อยามาใช้เอง เพราะการได้รับยาทั้งชนิดปริมาณที่ไม่เหมาะสมจะส่งผลเสียมากกว่าได้ผลดี จึงแนะนำให้ ควรเข้ารับการตรวจและปรึกษาแพทย์เพื่อที่จะได้รู้ถึงสาเหตุปัญหาที่แท้จริง รวมถึงข้อดีและข้อจำกัดของการเพิ่มฮอร์โมนเพศชายในแบบเฉพาะราย เพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้องและเหมาะสมกับแต่ละบุคคลที่สุด ซึ่งฮอร์โมนทดแทน มีดังนี้
 การฉีดฮอร์โมนเพศชาย เป็นวิธีแบบ One Stop Service ที่ใช้เวลาไม่นาน ฉีดแล้วสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติโดยไม่ต้องกังวล
 การใช้เจลเพิ่มฮอร์โมน เป็นวิธีการให้ฮอร์โมนทดแทนที่ได้ผลดี โดยจะทาบริเวณหัวไหล่ ต้นแขน หรือหน้าท้องในช่วงเช้าเป็นประจำทุกวัน

การดูแลสุขภาพ การป้องกันและรักษาภาวะฮอร์โมนไม่สมดุล การขาดฮอร์โมนในวัยหมดประจำเดือน หรือภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายในระยะเริ่มต้นมีความสำคัญในการป้องกันโรคกระดูกพรุนและภาวะอื่น ๆ ที่สำคัญในระยะยาว ควรหมั่นเข้าพบแพทย์เพื่อเข้ารับการปรึกษา ตรวจวินิจฉัยและรักษาได้ถูกวิธี

สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
คลินิก Health Care Paolo Kaset 

Line official account : health care Paolo Kaset