โรคของต่อมไทรอยด์
โรงพยาบาลเปาโลเกษตร
16-ส.ค.-2567

คลำได้ก้อนบริเวณ คอด้านหน้าโต  ควรตรวจเช็คโรคไทรอยด์


ไทรอยด์ มาจากคำว่า thyrose แปลว่า shield หรือโล่ วางอยู่ด้านหน้าคอ เป็นรูปตัว H หรือรูปผีเสื้อ ขนาด 3 มิติ ยาว × กว้าง × หนา = 5 × 3 × 2 เซนติเมตร  มีน้ำหนักประมาณ 20 gm  


ทำหน้าที่ สร้างไทรอยด์ฮอร์โมน ที่ทำหน้าที่ควบคุมระบบการเผาผลาญและเมตาบอริซึมของร่างกาย ในวัยทารกจะเกี่ยวข้องกับพัฒนาการเจริญเติบโตของสมอง ในผู้ใหญ่จะเกี่ยวข้องโดยตรงกับกระบวนการเผาผลาญหรือเมตาบอริซึม ซึ่งช่วยเปลี่ยนสารอาหารที่กินเข้าไปเป็นพลังงานให้กับเซลล์ของร่างกาย ตัวไทรอยด์ฮอร์โมนจะมีรูปแบบอยู่สองแบบได้แก่ thyroxine (T4) และ triiodothyronine (T3) ซึ่งมักเรียกรวมว่าไทรอยด์ฮอร์โมน โดยฮอร์โมน T4 หรือ thyroxineนั้นจะสร้างเฉพาะที่ต่อมไทรอยด์เท่านั้น แต่ฮอร์โมน T3หรือ triiodothyronine นั้นจะสร้างที่ไทรอยด์แค่ 20% ส่วนอีก 80% สร้างที่สร้างนอกไทรอยด์โดยเปลี่ยนมาจาก T4 ในตับ , กล้ามเนื้อ , ไต และต่อมใต้สมอง

การหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์จะถูกควบคุมโดยฮอร์โมนที่หลังจากต่อมใต้สมองอีกทีคือ TSH หรือ Thyroid Stimulating Hormone และการหลั่งฮอร์โมน TSH จากต่อมใต้สมองส่วนหน้า (Anterior pituitary gland) จะถูกควบคุมโดยฮอร์โมน Thyrotropin-releasing hormone หรือ TRH จากสมองส่วนไฮโพทาลามัส (Hypothalamus) อีกทีนึงตามภาพ



Thyroglobulin ( TG ) ถูกสร้างจากไทรอยด์เท่านั้นในแง่ของการส่งตรวจเลือดหาค่าTG จะใช้ เพื่อติดตามการเป็นซ้ำหรือการกลับมาของโรคมะเร็งไทรอยด์ในผู้ป่วย หลังการผ่าตัดไทรอยด์ออกทั้งหมดและมีการกลืนแร่ไอโอดีนรังสีชนิด Iodine-131 ค่านี้จะถูกต้องต่อเมื่อตรวจในขณะที่ผู้ป่วยอยู่ในภาวะพร่องฮอร์โมน Tg จะมีประโยชน์ต่อเมื่อผู้ป่วยเคยได้รับการรักษาด้วยรังสีไอโอดีนแล้วเท่านั้น  ซึ่งหลังการรักษาเนื้อเยื่อไทรอยด์ปกติ ซึ่งสามารถสร้าง Tg ได้จะถูกทำลายหมดสิ้น  แต่ถ้ายังตรวจพบค่า Tg สูง นั่นหมายความว่าจะต้องมีเซลล์มะเร็งไทรอยด์เหลืออยู่

Calcitonin  ถูกสร้าง และหลั่งออกมาจาก C – cell ของต่อมไทรอยด์มีหน้าที่ควบคุมระดับแคลเซี่ยมให้ลดลง  เพื่อให้แคลเซียมอยู่ ในภาวะที่สมดุล  เราใช้ค่า calcitonin  เป็น tumor marker คือใช้สำหรับช่วยวินิจฉัยมะเร็งไทรอยด์ชนิดเมดูลารี่( medullary thyroid cancer )

ซึ่งหากต่อมไร้ท่อทำงานผิดปกติ ผลิตฮอร์โมนมากเกินไปหรือต่ำเกินไป ก็จะส่งผลกระทบต่อระบบของร่างกายได้ รวมถึงส่งผลต่อการกระตุ้นการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะหัวใจและสมอง รวมถึงส่งผลต่อความแข็งแรงของผิวหนัง เล็บ และเส้นผมได้เช่นกัน โดยอาการของโรคไทรอยด์ในแต่ละรายจะมีอาการแสดงออกได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับชนิดความผิดปกติของต่อมไทรอยด์

โรคของต่อมไทรอยด์

1. Hyperthyroidism หรือภาวะไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ

ซึ่งสาเหตุนอกจากไทรอยด์อักเสบหรือthyroiditisแล้ว โรคที่เป็นสาเหตุหลักๆ มีดังนี้

     1. Increased thyroid hormone synthesis  มีการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์มากผิดปกติ
        
1.1 Graves' disease   ต่อมไทรอยด์มีขนาดโตทั่ว และผู้ป่วยจะมีลักษณะเฉพาะร่วมคือ

             1. ตาโปน (exophthalmos)

             2. pretibial myxedema  ผิวหนังที่หน้าแข้ง และที่หลังเท้าจะหนา

             3. proximal muscle weakness กล้ามเนื้อต้นแขนต้นขาอ่อนแรง

             4. depression ภาวะซึมเศร้า

             5. thyroid acropachy ปวดข้อ  

             6. gynecomastia ภาวะเต้านมโตในเพศชาย

        1.2. Toxic multinodular goiter   คอพอกที่มีลักษณะเนื้อไทรอยด์เป็นก้อนตะปุ่มตะป่ำและมีการทำงานของฮอร์โมนไทรอยด์สูงมีอาการไทรอยด์เป็นพิษ

       1.3.  Toxic adenoma   พบในผู้ป่วยอายุน้อย และก้อนไม่ใหญ่เหมือนในโรคคอพอก ส่วนใหญ่ก้อนมีขนาดไม่เกิน 3เซนติเมตรและก้อนมักไม่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็ง

2.  Increased hormonal release   สร้างฮอร์โมนปกติ แต่ปล่อยฮอร์โมนมากผิดปกติ

สาเหตุมักเกิดจากการ อักเสบของไทรอยด์เช่น ในช่วงต้นของการอักเสบของไทรอยด์อักเสบเรื้อรังเช่น Hashimoto's thyroiditis

อาการ เมื่อมีไทรอยด์มากเกินได้แก่เหนื่อย ใจสั่น ขี้ร้อน น้ำหนักลด เหงื่อออกเยอะ ประจำเดือนน้อยลง ผิวหนังเป็นปื้นหน้าขรุขระ บางรายตาโปน บางรายมีอาการแขนขาอ่อนแรง 


การรักษา

การกินยาต้านไทรอยด์ ยามี 2 ประเภทคือ โพรพิลไทโอยูราซิล (PTU : propylthiouracil), เมทิมาโซล(MMI: methimazole) ซึ่งออกฤทธิ์กดการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมน  การรักษาด้วยยานี้ต้องระวังผลข้างเคียงของยาได้แก่ ไข้ เม็ดเลือดขาวต่ำ ผื่น ตับอักเสบได้ ดังนั้นควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

การกลืนน้ำแร่ไอโอดีน แร่ไอโอดีนจะไปทำลายเซลล์ของต่อมไทรอยด์ ทำให้ต่อมมีขนาดเล็กลงและสร้างฮอร์โมนได้น้อยลง ปัจจุบันเป็นวิธีที่นิยมเพราะผลข้างเคียงน้อยและไม่ยุ่งยาก และได้ผลเร็ว

• การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ นิยมผ่าตัดในผู้ป่วยที่คอโตมากๆ หรือมีอาการกลืนลำบากหรือหายใจลำบากร่วมด้วย เป็นวิธีที่ได้ผลเร็วที่สุด ผลข้างเคียงที่อาจเกิดได้คือเสียงแหบ หรือระดับแคลเซียมต่ำจากการที่ต่อมพาราไทรอยด์ถูกตัดออกด้วย ซึ่งหากศัลยแพทย์มีความชำนาญ ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ก็จะไม่เกิดขึ้น


2. โรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป (Hypothyroidism)

คือ ภาวะที่ต่อมไทรอยด์สร้างไทรอยด์ฮอร์โมนน้อยกว่าปกติ ทำให้ระดับฮอร์โมนในเลือดมีค่าต่ำกว่าปกติ สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดหลังจากได้รับการรักษาด้วยการกลืนแร่ไอโอดีนหรือการผ่าตัดที่ต่อมไทรอยด์มาก่อน (Primary hypothyroidism)ส่วนสาเหตุส่วนน้อยเกิดจากความผิดปกติของต่อมใต้สมอง (Secondary hypothyroidism)
อาการ

เป็นอาการของการมีภาวะเมตาบอลิสมในร่างกายที่น้อยเกิน ได้แก่ ความคิดช้า เฉื่อยชา ง่วงนอน น้ำหนักขึ้น ขี้หนาว ผมร่วง ผิวแห้งหยาบ ตัวบวม หน้าบวม เป็นตะคริวบ่อย ท้องผูก อาการเหล่านี้มักค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ได้รับการวินิจฉัยล่าช้า หากไม่ได้รับการรักษาอาจมีผลเสียต่อระบบหัวใจและระบบไขมันในเลือดได้

การรักษาโดยการรับประทานยาที่เป็นไทรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งมักต้องรับประทานตลอดชีวิต

3.โรคต่อมไทรอยด์อักเสบ (Thyroiditis)

มี 3 ชนิดคือ อักเสบเฉียบพลัน อักเสบกึ่งเฉียบพลันและอักเสบเรื้อรัง

3.1 ต่อมไทรอยด์อักเสบเฉียบพลัน (Acute  Thyroiditis)

เป็นไทรอยด์อักเสบที่พบได้บ่อยสุดสาเหตุ  มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ผู้ป่วยมักอายุไม่มากประมาณ20ปี อาการจะมีไข้หนาวสั่นเจ็บบริเวณไทรอยด์อาจจะมีอาการบวมแดงบริเวณไทรอยด์ได้อาการรุนแรงจนอาจมีฝีหนองของต่อมไทรอยด์ได้ การรักษาให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำในกรณีที่เป็นฝีของตัวต่อมไทรอยด์จะพิจารณาผ่าตัดระบายหนอง

3.2 ไทรอยด์อักเสบกึ่งเฉียบพลัน ( Subacute thyroiditis) มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส เช่น หวัด ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ต่อมไทรอยด์โต คลำที่ต่อมไทรอยด์จะรู้สึกเจ็บ โรคนี้สามารถรักษาด้วยการรับประทานยาสเตียรอยด์ ต่อมไทรอยด์จะยุบลงภายในเวลา 1-2 สัปดาห์  สามารถหายขาดได้ภายใน 3-6 เดือน โดยต้องติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง

3.3 ต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรัง ( Hashimoto thyroiditis) มีสาเหตุจากความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งผู้ป่วยอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการคอโต กดไม่เจ็บ หรือมีประวัติคอโตแล้วยุบไปแล้วโดยไม่เคยรับการรักษามาก่อน  การวินิจฉัยทำโดยการตรวจแอนติบอดีในเลือด  การรักษาด้วยการรับประทานไทรอยด์ฮอร์โมนและติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง

4.โรคต่อมไทรอยด์โตแบบไม่เป็นพิษ ( Thyroid nodule)

คือ การที่ต่อมไทรอยด์มีขนาดโตขึ้น แต่การสร้างฮอร์โมนยังปกติ มีทั้งชนิด ต่อมไทรอยด์โตก้อนเดียว (Single thyroid nodule) และ ต่อมไทรอยด์โตหลายก้อน (Multinodular goiter) โดยทั้งสองชนิดมีโอกาสเป็นมะเร็งได้ จึงมีความจำเป็นที่ต้องตรวจด้วยวิธีการดูดเซลล์จากก้อนเนื้อไปตรวจหาเซลล์มะเร็ง หลังจากนั้นจึงพิจารณาการรักษาที่เหมาะสมต่อไป


5. โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ (thyroid cancer)

มีทั้งชนิดที่มีความรุนแรงน้อยซึ่งรักษาหายขาดได้และชนิดรุนแรงมากจนถึงแก่ชีวิตได้ภายในระยะเวลาสั้น นอกจากนี้ยังมีชนิดที่มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ซึ่งชนิดหลังนี้มักมีประวัติคนในครอบครัว และเกิดในคนอายุน้อย 

ให้สงสัยก้อนที่คอนั้นอาจเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ เมื่ออายุน้อยกว่า 20ปี หรือมากกว่า 60 ปี ก้อนมีลักษณะแข็ง โตเร็ว มีต่อมน้ำเหลืองที่คอโตร่วมด้วย

มีอาการกลืนลำบาก หรือหายใจลำบาก หรือเสียงแหบ

มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งไทรอยด์

มีประวัติคนในครอบครัวเป็นเนื้องอกของต่อมหมวกไต

การวินิจฉัย โดยการดูดเซลล์ที่ก้อนนั้นมาตรวจ ส่วนการรักษานั้นขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งโดยแพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสม


6.โรคของต่อมไทรอยด์ไม่ปรากฏอาการ

มี 2 ชนิด คือ ชนิดที่ทำงานน้อยเกินไป (Subclinical hypothyroidism) และชนิดที่ทำงานมากเกินไป (Subclinical hyperthyroidism) โดยที่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการผิดปกติให้เห็น การวินิจฉัยด้วยวิธีการตรวจเลือดเท่านั้น ซึ่งมักพบเมื่อตรวจสุขภาพประจำปี


วิธีการตรวจคัดกรองโรคกลุ่มไทรอยด์
สามารถทำได้โดย
1. การตรวจอัลตราซาวด์ไทรอยด์
2. เจาะเลือดเพื่อดูระดับฮอร์โมนไทรอยด์
หลังจากนั้นหากตรวจพบว่ามีก้อนเนื้อที่ต่อมไทรอยด์จะมีการใช้วิธี FNA (Fine Needle Aspiration) โดยการใช้เข็มเจาะดูดเนื้อเยื่อในต่อมไทรอยด์เพื่อตรวจดูว่าเซลล์ผิดปกติที่มีความเสี่ยงจะเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์หรือไม่


การรักษาโรคกลุ่มไทรอยด์
การรักษาโรคกลุ่มไทรอยด์ จะขึ้นอยู่กับเซลล์ที่เจาะออกมาว่าเป็นเซลล์ปกติหรือเซลล์มะเร็ง หากเป็นเซลล์ปกติและก้อนมีขนาดเล็ก ก็อาจไม่จำเป็นที่จะต้องผ่าตัด แต่ต้องติดตามผลเป็นระยะ หรือผ่าตัดออกได้หากเป็นความต้องการของผู้ป่วย

อย่างไรก็ตาม โรคไทรอยด์เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือการหมั่นตรวจเช็กความผิดปกติของร่างกาย คอยสังเกตดูว่ามีอาการที่คล้ายกับกลุ่มโรคไทรอยด์หรือไม่ หากเริ่มมีอาการที่ผิดปกติหรือใกล้เคียง หรือไม่มั่นใจให้ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจดูหาความผิดปกติ ซึ่งปัจจุบันการตรวจหาความผิดปกติเกี่ยวกับโรคกลุ่มไทรอยด์สามารถตรวจเช็กได้ง่าย ๆ เพียงแค่ตรวจเลือด รอฟังผลเพียงไม่กี่ชั่วโมงก็สามารถทราบผลได้แล้ว



สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
แผนกศัลยกรรม กระดูกและข้อ โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
โทร. 02 1500 900 ต่อ 5114

Line official account : Paolo Hospital Kaset
Line ID : @paolokaset