การให้ฮอร์โมนทดแทน
โรงพยาบาลเปาโลเกษตร
20-ก.พ.-2566

ฮอร์โมนเพศกับการใช้ทางการแพทย์


วัยทอง คือ วัยที่มีการสิ้นสุดประจำเดือนอย่างถาวร เนื่องจากรังไข่หยุดทำงาน และเป็นการหยุดความสามารถใน การเจริญพันธุ์ โดยปกติจะนับเมื่อขาดประจำเดือนเป็นเวลาต่อเนื่อง 12 เดือน หรือ 1 ปี โดยอายุเฉลี่ยของผู้หญิงวัยทอง ในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 48 ปี นอกจากนี้ยังมีสตรีวัยทองที่เกิดจากการผ่าตัด คือในผู้หญิงที่อายุยังไม่ถึงวันที่เข้าสู่วัยทอง มีอายุน้อยกว่า 40 ปี แต่มีเหตุต้องตัดมดลูก รังไข่ เช่น การมีซีสต์ หรือสาเหตุอื่นทางนรีเวช และต้องมีการตรวจรังไข่ทั้งสองข้างเพื่อนำรังไข่ออก จะทำให้สตรีเหล่านี้ขาดฮอร์โมนเพศ ทำให้เข้าสู่วัยทองได้เช่นกัน

 

อาการของสตรีวัยทอง มีดังต่อไปนี้

• ร้อนวูบวาบ มักเป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด จะมีอาการร้อนตามตัวและใบหน้า อาจมีเหงื่อออกที่ตัวและใบหน้าร่วม ด้วย เกิดอาการได้ทั้งกลางวันและกลางคืน

• เหงื่อออกในตอนกลางคืน

• นอนไม่หลับ

• กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ปัสสาวะบ่อย มีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะบ่อยครั้ง

• มีอารมณ์ทางเพศลดลง เจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์เนื่องจากช่องคลอดแห้ง ผนังช่องคลอดบางลง ความเป็นกรดด่าง ของช่องคลอดเสียสมดุล ทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อง่าย

• ปวดศีรษะ ปวดไมเกรน

• ปวดกระดูกและข้อ

• ใจสั่น

• วิตกกังวล

• ซึมเศร้า สมาธิสั้น หลงลืมง่าย หงุดหงิดง่าย

กระดูกเปราะบางหักง่ายเนื่องจากการขาดฮอร์โมน

• มีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มสูงขึ้น

การรักษาอาการสตรีวัยทอง

รักษาได้ด้วยการใช้ฮอร์โมนทดแทน ซึ่งจะทำให้อาการต่างๆของผู้ที่เป็นสตรีวัยทองดีขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นอาการร้อน วูบวาบ อาการซึมเศร้า หลงลืมง่าย อารมณ์จะแจ่มใสมากขึ้น หลับง่ายมากขึ้น ช่วยปัญหาด้านระบบทางเดิน ปัสสาวะและระบบเจริญพันธุ์ เพื่อช่วยให้สตรีวัยทองมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ดี การให้ฮอร์โมนทดแทนต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ เนื่องจากการได้รับฮอร์โมนต้องได้รับการตรวจ ประเมินและตรวจติดตามระดับฮอร์โมนไม่ให้ได้มากจนเกินไป ได้แก่

• การซักประวัติ เช่น ประวัติการเคยได้ฮอร์โมนทดแทน ประวัติมะเร็งเต้านม ประวัติที่เกี่ยวข้องกับการอุดตัน เส้นเลือดและโรคหัวใจ

• การตรวจร่างกาย

• การตรวจภายใน

• การตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง เช่น การตรวจระดับฮอร์โมนเพศในเลือด การตรวจมะเร็งเต้านมด้วย แมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ การตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก การตรวจการทำงานของตับ ไต และ ระดับน้ำตาลในเลือด

นอกจากนี้ การให้ฮอร์โมนต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์เนื่องจากมีระยะเวลาที่เหมาะสมในการให้ฮอร์โมน และผู้ที่เป็นหรือมีประวัติครอบครัวเกี่ยวข้องกับมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเต้านม มีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ประวัติหลอดเลือดอุดตัน เป็นข้อห้ามในการให้ฮอร์โมน จึงมีความจำเป็นต้องพบแพทย์และได้รับการดูแลติดตามจาก แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ


ผู้ชายวัยทอง คือ ผู้ชายที่มีอายุ 40-65 ปี ที่เข้าสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบสืบพันธุ์ มีระดับฮอร์โมนแอนโดรเจน และเทสโทสเตอโรน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายลดลง ก่อให้เกิดอาการผู้ชายวัยทอง

 

อาการผู้ชายวัยทอง

• มีอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกง่าย นอนไม่หลับ แต่มักเป็นน้อยกว่าหผู้หญิงวัยทอง

• เนื่องจากเทสโทสเตอโรนต่ำ ทำให้มีระดับไขมันและคอเลสเตอรอลสูงมากขึ้น

• กล้ามเนื้อลีบลง อ่อนเพลียง่าย ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและข้อต่อ มีการสะสมไขมันทำให้อ้วนลงพุงง่าย

• มวลกระดูกลดลง ทำให้เกิดกระดูกบางเปราะหักง่าย

• ทางระบบสืบพันธุ์พบว่าความต้องการทางเพศลดง องคชาตไม่แข็งตัวง

• มีอาการหงุดหงิดง่าย นอนไม่ค่อยหลับ อารมณ์แปรปรวน

อาการเหล่านี้ สามารถรักษาได้ด้วยการให้ฮอร์โมนทดแทนได้ แต่ควรอยู่ในการควบคุมของแพทย์เนื่องจากการได้รับฮอร์โมนต้องมีการติดตามอาการ ตรวจร่างกาย ระดับ ฮอร์โมน ระดับความเข้มข้นของเม็ดเลือด แลป PSA ที่เป็นผลข้างเคียงจากการให้ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนได้

ฮอร์โมน และ LGBTQ

ในหญิงข้ามเพศ มีการรักษาโดยให้ยาและฮอร์โมนเพื่อจุดประสงค์ 2 อย่าง
1.ยับยั้งลักษณะเพศชาย (anti androgen)
2.ส่งเสริมลักษณะเพศหญิง

ในกลุ่มคนหญิงข้ามเพศที่ยังไม่เข้าสู่ การเปลี่ยนแปลงทางเพศขั้นที่ 2 (secondary sex characteristic) เช่น การมี หนวด ขนขึ้นบริเวณรักแร้ หน้าแข้ง อวัยวะเพศ เสียงแหบห้าว รูปร่างเปลี่ยนไหล่ใหญ่หนา มีกล้ามเนื้อมากขึ้น เป็นต้น การได้รับยาที่เป็น anti androgen จะทำให้ยับยั้งการเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ ทำให้ยังมีเสียงที่ แหลม ไม่มีหนวด และรูปร่างไม่ใหญ่โตเหมือนเพศชาย ในผู้ชายเด็กจะเข้าสู่วัยรุ่นที่อายุประมาณ 9 - 14 ปี ซึ่งเป็น ช่วงเวลาที่เหมาะสมแก่การให้ยาเพื่อยับยั้ง

ฮอร์โมนเอสโตรเจนช่วยให้มีลักษณะความเป็นหญิงมากขึ้น ได้แก่

• ลดขนาดกล้ามเนื้อ และมีไขมันมากขึ้น

• มีเต้านมตั้งเต้า แต่ไม่ใหญ่เท่าผู้หญิงที่เป็นเพศตรง

• ทำให้หนวดร่วง และไม่มีหนวดขึ้นอีก

• ผิวพรรณเปล่งปลั่งมีน้ำมีนวลและนุ่มลื่นขึ้น

เนื่องจาก การให้ฮอร์โมนมีความจำเป็นต้องมีการตรวจร่างกาย และตรวจแลปเพื่อดูระดับให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และเพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค เช่น โรคหัวใจ จำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนในการดูแลของแพทย์เท่านั้น

ฮอร์โมนในชายข้ามเพศ ช่วยให้ผู้ได้รับมีลักษณะความเป็นชายมากขึ้น

•  เสียงเปลี่ยนเหมือนผู้ชายหลังได้รับฮอร์โมนประมาณ 6 - 12 เดือน

• ประจำเดือนไม่มา ประมาณ 1-6 เดือนหลังได้ฮฮร์โมน

• มีหนวดเคราขึ้น ประมาณ 1 - 6 เดือนหลังได้ฮอร์โมน

• มีกล้ามเนื้อขยายและลักษณะร่างกายกล้ามเนื้อเหมือนผู้ชายมากขึ้น หลังได้ฮอร์โมน 6-12 เดือน

 

อย่างไรก็ดี การรับฮฮร์โมนเพศชายมีความจำเป็นต้องตรวจติดตามค่าแลปบางตัวโดยเฉพาะเม็ดเลือดแดง เพราะอาจทำให้เกิดภาวะเลือดแดงข้นเกินได้



บทความโดย

พญ.ชาลิสา นิตุธร

อายุรแพทย์ แพทย์เวชศาสตร์ทางเพศ
โรงพยาบาลเปาโล เกษตร




สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
คลินิก Health Care Paolo Kaset 

Line official account : health care Paolo Kaset