ชิคุนกุนยา โรคที่มียุงเป็นตัวพาหะ
ชิคุนกุนยา หรือ โรคไข้ปวดข้อ เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา (Chikungunya Virus) เชื้อไวรัสที่อยู่ในตระกูล Togaviridae โดยมียุงลายสวน (Aedes albopictus) และยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) เป็นพาหะนำโรค ซึ่งสามารถพบได้ทั้งในเมืองและชนบท พบได้มากในบริเวณเขตพื้นที่ภาคใต้ มักจะระบาดในช่วงฤดูฝน หรือ บริเวณที่มีน้ำขัง โดยยุงลายมักชุกชุมและหากินในช่วงกลางวัน ทำให้เด็ก ๆ ที่ชอบออกมาเล่นนอกบ้านหรืออยู่ในโรงเรียนก็เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรค
อาการของโรคชินคุนกุนยา
หลังจากโดนยุงที่ติดเชื้อกัด จะมีระยะฟักตัวก่อนเริ่มมีอาการภายใน 3 – 7 วัน โดยอาการจะแสดงออก ดังนี้
✔ ไข้สูงเฉียบพลัน
✔ อาการปวดตามข้อ
✔ ปวดกล้ามเนื้อ
✔ ปวดศีรษะและคลื่นไส้
✔ ตาแดง
✔ มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย
✔ รับประทานอาหารไม่ค่อยได้
✔ อ่อนเพลีย หรืออาจท้องเสียได้
ส่วนใหญ่อาการมักจะหายภายในหนึ่งสัปดาห์ ยกเว้นอาการปวดข้อและกล้ามเนื้อซึ่งอาจรุนแรงและมีอาการต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปี
โดยปกติแล้วโรคชิคุนกุนยาจะไม่ทำให้เกิดอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต แต่ถ้าหากเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน หรือโรคหัวใจ หรืออายุ 65 ปีขึ้นไป ความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงก็จะเพิ่มมากขึ้น
การตรวจวินิจฉัยโรคชิคุนกุนยา
➮ ซักประวัติ และอาการ โดยแพทย์
➮ เจาะเลือดส่งห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันโรค และหาเชื้อไวรัส โดยจะทราบผลเร็วสุดภายใน 1- 2 วัน หรือ ถ้านานอาจทราบภายใน 1 – 2 สัปดาห์
การรักษาโรคชิคุนกุนยา
ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน หรือยังไม่มียารักษาโรคชิคุนกุนยาโดยเฉพาะ ดังนั้นการรักษาจึงเป็นไปตามอาการ โดยแพทย์อาจให้น้ำเกลือ ยาลดไข้ ยาบรรเทาอาการปวดข้อ และแนะนำให้ผู้ป่วยปฏิบัติตัว ดังนี้
➮ ดื่มน้ำเยอะ ๆ ให้เพียงพอ อย่าให้ร่างกายขาดน้ำเด็ดขาด
➮ พักผ่อนให้เต็มที่
➮ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่
➮ รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
เพราะไม่มีวัคซีนป้องกัน และไม่มีการรักษาที่จำเพาะ ... การป้องกัน ...จึงเป็นสิ่งสำคัญ
➮ ทายากันยุง
➮ ใช้มุ้งกันยุง
➮ ปิดภาชนะที่กักเก็บน้ำให้มิดชิด
➮ ทำลายแหล่งที่มีน้ำกักขังบริเวณรอบ ๆ บ้าน
➮ งดการเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคชิคุนกุนยา โดยเฉพาะคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ หรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิต โรคหัวใจ โรคเบาหวาน หรือในผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป
ถึงแม้ว่าโรคชิคุนกุนยาจะไม่อันตรายถึงชีวิตและมีความร้ายแรงน้อยกว่าโรคไข้เลือดออกก็ตาม แต่โรคทุกโรคย่อมส่งผลเสียให้กับร่างกาย โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ เช่น เด็กและผู้สูงอายุ อาจเกิดผลแทรกซ้อนที่ยากแก่การรักษา ดังนั้น จึงควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และถ้าหากมีอาการไข้สูง เบื่ออาหาร ขาดน้ำ ฯลฯ ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกวิธี
สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
แผนก อายุรกรรม โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
โทร. 02 1500 900 ต่อ 5113
Facebook : โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
Line official account : Paolo Hospital Kaset
Line ID : @paolokaset