อายุยังน้อย ก็ “ปวดหลัง” ได้ไม่แพ้คนสูงอายุ
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
18-ต.ค.-2565
ในอดีต เรามักพบอาการปวดหลังในผู้สูงวัยมากที่สุด แต่ด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน เราพบว่า ผู้ที่อายุ 30 ต้นๆ ก็เกิดอาการปวดหลังได้บ่อยไม่แพ้ผู้สูงวัย อาการปวดหลัง ไม่ว่าจะเป็นนั่งแป๊บๆ ก็รู้สึกปวดหลัง ยืนนานๆ ก็รู้สึก “ปวดหลัง” ยกของหนักก็รู้สึกปวดหลัง หากคุณมีอาการเหล่านี้บ่อยๆ หรือเป็นประจำ ควรรีบพบแพทย์จะดีกว่า เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจกลายโรคปวดหลังเรื้อรังหรือรุนแรงจนรักษาได้ยาก

อาการปวดหลังคืออะไร เป็นอย่างไรถึงเรียกปวดหลัง?
ปวดหลังเป็นอาการปวดเมื่อย ตึง ร้าวบริเวณหลัง อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ และสามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่จะพบมากในวัยทำงานและผู้สูงอายุ อาการปวดหลังที่มักพบได้บ่อยมักมีสาเหตุมากจาก หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ กระดูกสันหลังเคลื่อน กระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม กระดูกสันหลังหักจากภาวะกระดูกบาง หรือปวดหลังจากกล้ามเนื้ออักเสบ

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการปวดหลัง
อายุ : แม้อาการปวดหลังจะเกิดขึ้นได้กับทุกวัย แต่มักพบบ่อยในช่วงวัยทำงานและผู้สูงอายุ
น้ำหนักตัวมาก : ในคนที่มีน้ำหนักตัวมาก ส่งผลให้กระดูกสันหลังรับน้ำหนักมากกว่าปกติ จึงเกิดการเสื่อมได้ง่าย
พฤติกรรมการใช้ชีวิต : สำหรับคนทำงานที่ต้องยกของหนักหรือออกแรงมากๆ เป็นประจำจะทำให้กระดูกสันหลังบิด รวมถึงคนที่ทำงานออฟฟิศ ถ้านั่งอยู่ท่าเดิมเป็นเวลานานๆ และนั่งผิดวิธี ก็อาจทำให้เกิดอาการปวดหลังได้
ไม่ออกกำลังกาย : สำหรับคนที่ไม่ได้ออกกำลังกายเลย อาจทำให้กล้ามเนื้อรอบกระดูกสันหลังไม่แข็งแรง จึงเกิดการเสื่อมได้เร็วขึ้น

สาเหตุของการปวดหลัง
  • การเคลื่อนไหวร่างกายที่ผิดวิธี ไม่ว่าจะเป็นกิริยาท่าทาง อิริยาบถการเคลื่อนไหวต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่นั่งทำงาน ถ้านั่งผิดท่าเป็นเวลานานๆ ก็เป็นสาเหตุหลักๆ ของคนวัยทำงานที่เข้ามารักษาด้วยอาการปวดหลัง
  • ภาวะกระดูกสันหลังและกล้ามเนื้อ ภาวะนี้เป็นความผิดปกติของกระดูกสันหลัง เช่น หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ
  • ความผิดปกติอื่นๆ ในช่องท้อง เช่น โรคไต โรคเกี่ยวกับรังไข่และมดลูก หลอดเลือดโป่งพอง มะเร็ง เป็นต้น

การรักษาอาการปวดหลัง ต้องรักษาที่สาเหตุ
หากเกิดอาการปวดหลัง ผู้ป่วยควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจหาสาเหตุ แพทย์จะทำการตรวจ วินิจฉัยอาการปวดหลังที่เกิดขึ้น โดยดูจากลักษณะการปวด และระยะเวลาที่ปวด ทำการซักประวัติ รวมกับการตรวจทางเทคนิคด้วยเครื่องมือต่างๆ เมื่อได้ผลการตรวจที่ครบถ้วนแล้ว ก็จะวินิจฉัยและให้การรักษาที่ตรงจุดต่อไป โดยจะเน้นการรักษาที่ต้นเหตุ ซึ่งการรักษาอาการปวดหลังโดยทั่วไปจะมี 2 วิธีคือ
1.การรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด เช่น การปรับพฤติกรรม การให้ทานยา การทำกายภาพบำบัด การนอนพัก การฉีดสเตียรอยด์เข้าโรงกระดูกสันหลัง เป็นต้น
2.การรักษาด้วยการผ่าตัด แพทย์จะใช้วิธีนี้ก็ต่อเมื่อวิธีที่หนึ่งไม่สามารถรักษาอาการปวดหลังให้หายขาดได้ หรือคนไข้มีอาการปวดหลังอย่างรุนแรง ส่งผลให้เกิดอาการอื่นๆ ตามมา เช่น ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ ขาอ่อนแรง เดินไม่ได้ เป็นต้น ซึ่งวิธีการผ่าตัดก็จะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับลักษณะอาการและสาเหตุ


ปรึกษาปัญหาสุขภาพ

ศูนย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย 4
โทร. 02-514-4141 ต่อ 1101-1103

Line id : @Paolochokchai4