“โรคกระดูกอ่อนในเด็ก” ภัยร้ายที่ส่งผลต่ออวัยวะสำคัญทุกส่วนในร่างกาย
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
สำหรับคุณพ่อคุณแม่บางคน เมื่อพูดถึงโรคกระดูกอ่อนอาจฟังดูเป็นเรื่องเล็กน้อย จึงไม่สนใจวิธีแก้ไข โดยที่ไม่รู้เลยว่า แค่ความผิดปกติแม้แต่ในจุดเล็กๆก็ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็กทั้งนั้น

สาเหตุสำคัญ…ของโรคกระดูกอ่อน

โรคกระดูกอ่อนในเด็กเกิดจากการที่ร่างกายขาดวิตามินดี เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของกระดูกที่ไม่เป็นปกติ ทำให้ร่างกายสร้างกระดูกได้ไม่เต็มที่ ซึ่งความล้มเหลวของระบบการสร้างกระดูกนั้นได้ส่งผลกระทบไปยังร่างกายของเด็ก กระดูกจึงมีลักษณะผิดรูปหรือบิดตัวเนื่องจากการรับน้ำหนักตัวเอาไว้ ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาก็จะมีการโก่งงอผิดรูปและเป็นอันตรายต่ออวัยวะทุกส่วนของร่างกายได้

ยิ่งอายุน้อย…ยิ่งพบได้มาก

โรคนี้พบได้มากในเด็กอายุ 6 เดือนถึง 3 ปี สาเหตุหลักๆ เกิดจากการขาดวิตามินดีและแคลเซียม รวมถึงการได้รับแสงแดดที่ไม่เพียงพอ ทั้งนี้เนื่องจากวิตามินดีเป็นตัวควบคุมเมตาโบลิซึมของแร่แคลเซียมและฟอสฟอรัส ทำหน้าที่รวมสองอย่างนี้ให้เป็นเกลือแล้วเกาะตามกระดูก เมื่อร่างกายขาดวิตามินดีหรือแคลเซียม หรือขาดทั้งสองอย่าง ร่างกายก็จะไม่สามารถสร้างกระดูกที่แข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักของร่างกายได้ รวมไปถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของน้ำหนักตัวเด็ก ก็ทำให้ความต้องการแคลเซียมมีมากขึ้นตามไปด้วย เด็กที่คลอดก่อนกำหนดมีโอกาสเป็นโรคนี้มาก เพราะแคลเซียมในกระดูกมีปริมาณน้อย เนื่องจากแคลเซียมส่วนใหญ่จะเริ่มสะสมในกระดูกในช่วงระยะอายุ 3 เดือนก่อนคลอด

จุดสังเกต…ที่เป็นเหมือนสัญญาณเตือน

คุณพ่อคุณแม่จะสามารถสังเกตเห็นสัญญาณแรกของกระดูกอ่อนในเด็กได้ตั้งแต่ช่วงเดือนแรก โดยทั่วไปจะพบว่า มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแอ ท้องป่อง นั่ง ยืน เดิน ได้ช้ากว่าเด็กปกติ กระดูกซี่โครงเป็นปุ่มเรียงแถว ตรงบริเวณข้อเท้า เข่าและข้อมือมีลักษณะโป่งเป็นปม บางรายอาจมีความพิการที่หน้าอก ซึ่งเกิดจากกระดูกซี่โครงอ่อนไม่แข็งแรง จึงถูกกล้ามเนื้อกะบังลมดึง หรือบางรายอาจมีกะโหลกที่นิ่ม รอยต่อกะโหลกที่กระหม่อมปิดช้า กะโหลกศีรษะมีขนาดใหญ่กว่าปกติและอาจพบว่ามีลักษณะแบนหรือไม่สมมาตร รวมถึงมีเคลือบฟันที่ผิดปกติ ในรายที่เป็นมากๆ อาจมีลักษณะของกระดูกต้นขาแคบลง ขาคดและโค้ง ท่าเดินคล้ายเป็ด และอาจหักได้ง่าย ซึ่งต่อมากระดูกสันหลังอาจมีลักษณะคดตามมา ทำให้ร่างกายเตี้ยแคระจากความพิการของหลังและขา

เสริมความแข็งแกร่งด้วยวิตามินเป็นครั้งคราว

โรคนี้สามารถป้องกันได้โดยการให้วิตามินดี 400 หน่วยต่อวัน โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงที่เด็กมีอายุ 5-10 วัน ในเด็กคลอดก่อนกำหนดอาจต้องให้วิตามินดี 200 หน่วย ในช่วง 3 เดือนแรก และเพิ่มเป็น 2,000-5,000 หน่วย เป็นเวลา 6-10 สัปดาห์ หลังจากที่เริ่มการรักษาควรถ่ายภาพรังสีเพื่อดูผลเป็นระยะ และในช่วงก่อนการรักษาถ้าหากพบว่ากระดูกขาโก่งหรือขาเป๋ ก็ควรจะต้องเข้าเฝือกดัดกระดูกจนได้ที่เสียก่อนจึงเริ่มให้การรักษาทางยา มิฉะนั้นอาจต้องทำการผ่าตัดดัดกระดูกซึ่งมีความยุ่งยากกว่ามาก

การป้องกันโรคกระดูกอ่อนในเด็ก ควรเริ่มต้นวางแผนตั้งแต่ทารกในครรภ์อายุได้ประมาณ 27-28 สัปดาห์ เพื่อให้ทารกได้เริ่มสะสมวิตามินดีเสียตั้งแต่ตอนอยู่ในครรภ์ของมารดา รวมทั้งคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ก็ควรที่จะใส่ใจดูแลตัวเองและพบแพทย์เป็นประจำ เพื่อรับคำแนะนำเรื่องการกินอาหารและเสริมวิตามินที่จำเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกน้อยต้องเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ในภายหลัง

สอบถามเพิ่มเติม ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4
โทร.02-514-4141 ต่อ 1102 – 1105