-
เช็กลิสต์...วัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็ก
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
23-ต.ค.-2566

เช็กลิสต์...วัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็ก

ภูมิคุ้มกันของเด็กแรกเกิดจะยังพัฒนาไม่เต็มที่จนอายุ 6-7 ปี โดยในช่วงเวลานี้ ‘นมแม่’ ถือเป็นสารอาหารหลักที่ช่วยสร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้กับลูกได้ดีที่สุด แต่เมื่อลูกน้อยโตขึ้น นมแม่อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ดังนั้น การฉีดวัคซีนพื้นฐานจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อย ลดโอกาสติดเชื้อ หรือเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อต่างๆ ทั้งยังช่วยลดโอกาสพิการและเสียชีวิตในเด็กได้เช่นกัน

 

วัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็ก ฉีดช่วงเวลาไหนถึงดีที่สุด?

การฉีดวัคซีนพื้นฐาน คือสิ่งจำเป็นที่ทางกระทรวงสาธารณสุข และสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยได้กำหนดขึ้น เพื่อให้เด็กทุกคนได้รับวัคซีนในเวลาที่เหมาะสมตามช่วงอายุ อันเป็นการลดโอกาสการติดเชื้อ ความพิการ และการเสียชีวิตในเด็ก ซึ่งในปีล่าสุด (2566) ได้กำหนดวัคซีนที่เด็กควรได้รับ ดังนี้

 

ช่วงอายุ
วัคซีนที่ต้องฉีดตามช่วงวัย
แรกเกิด
  • วัคซีนวัณโรค (BCG) และวัคซีนตับอักเสบบี เข็มที่ 1 (Hepatitis B)
1 เดือน
  • วัคซีนตับอักเสบบี เข็มที่ 2
2 เดือน
  • เพิ่มวัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบบี-ฮิบ เข็มที่ 1
  • วัคซีนโรคโปลิโอ ชนิดหยอด โดสที่ 1
  • วัคซีนไวรัสโรต้า เข็มที่ 1

 

หากไม่เคยฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี เข็มที่ 1 และ 2 มาก่อน ให้ฉีดรวมกับวัคซีนรวม คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบบี-ฮิบ เข็มที่ 1 แทน

4 เดือน
  • เพิ่มวัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบบี-ฮิบ เข็มที่ 2
  • วัคซีนโรคโปลิโอ ชนิดหยอด โดสที่ 2 ร่วมกับชนิดฉีด 1 เข็ม
  • วัคซีนไวรัสโรต้า เข็มที่ 2
6 เดือน
  • เพิ่มวัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบบี-ฮิบ เข็มที่ 3
  • วัคซีนโรคโปลิโอ ชนิดหยอด โดสที่ 3
  • วัคซีนไวรัสโรต้า เข็มที่ 3
  • วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 1 เดือนในครั้งแรก และควรฉีดทุกปี ปีละ 1 ครั้ง
  • วัคซีนโควิด-19 ดูคำแนะนำในการฉีดตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข และราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย หรือรับคำแนะนำที่ถูกต้องเพิ่มเติมจากกุมารแพทย์
9-12 เดือน
  • วัคซีนหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน
  • วัคซีนไข้สมองอักเสบ เจอี เข็มที่ 1
1 ปี 6 เดือน
  • วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน เข็มกระตุ้น 1
  • วัคซีนโปลิโอ เข็มกระตุ้น 1
  • วัคซีนหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน เข็ม 2
2-2 ปี 6 เดือน 
  • วัคซีนไข้สมองอักเสบ เจอี เข็มที่ 2
4-6 ปี
  • วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน เข็มกระตุ้น 2
  • วัคซีนโปลิโอ เข็มกระตุ้น 2
11-12 ปี
  • วัคซีนบาดทะยัก-คอตีบ (Td) และทุก 10 ปี




เพิ่มภูมิต้านทานให้เด็กแข็งแรงด้วย “วัคซีนเสริม”

นอกจากการฉีดวัคซีนพื้นฐานแล้ว วัคซีนเสริมอื่นๆ ที่เด็กควรได้รับก็สามารถป้องกันโรคร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้อีกหลายโรค ได้แก่

 

ช่วงอายุ
วัคซีนเสริมที่ต้องฉีดตามช่วงวัย
2 เดือน
  • วัคซีนป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัส ชนิดคอนจูเกต เข็มที่ 1 (PCV)
  • วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า ก่อนสัมผัสโรค ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 7-21 วัน ตั้งแต่อายุ 2 เดือน เป็นต้นไป
4 เดือน
  • วัคซีนป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัส ชนิดคอนจูเกต เข็มที่ 2 (PCV)
6 เดือน
  • วัคซีนป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัส ชนิดคอนจูเกต เข็มที่ 3 (PCV)
  • วัคซีนโรคมือเท้าปาก EV71 ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 1 เดือน (ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือน - 6 ปี)
12 - 15 เดือน
  • วัคซีนป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัส ชนิดคอนจูเกต เข็มที่ 4 (PCV)
  • วัคซีนโรคอีสุกอีใส เข็มที่ 1 
  • วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ (ชนิดเชื้อไม่มีชีวิต) ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 6 - 12 เดือน
18 เดือน
  • วัคซีนโรคอีสุกอีใส เข็มที่ 2
4 ปี
  • วัคซีนไข้เลือดออก ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 3 เดือน ตั้งแต่อายุ 4-60 ปี
9 ปี
  • วัคซีนเอชพีวี (HPV) ในเด็กประถม 5, ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 6-12 เดือน


ทำไมเด็กต้องได้รับวัคซีนพื้นฐานและวัคซีนเสริม?

เนื่องจากเด็กในวัยแรกเกิดยังมีภูมิคุ้มกันที่ต่ำอยู่ และยังขาดประสิทธิภาพในการต้านทานเชื้อโรค จึงทำให้ร่างกายติดเชื้อได้ง่าย เมื่อเกิดการเจ็บป่วย อาจส่งผลรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ อีกทั้งการฉีดวัคซีนตั้งแต่เด็กยังช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในระยะยาวอีกด้วย




ลืมพาลูกไปฉีดวัคซีน ต้องเริ่มฉีดใหม่หรือไม่?

หากผู้ปกครองไม่สามารถพาเด็กไปฉีดวัคซีนได้ตามกำหนด สามารถพามารับวัคซีนต่อให้ครบได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องเริ่มนับ 1 ใหม่ แต่ควรเลือกฉีดให้ใกล้กับวันนัดให้มากที่สุด

 

นอกจากการรับวัคซีนพื้นฐานในเด็กแล้ว การดูแลสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของเด็กให้ถูกสุขลักษณะก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการปกป้องลูกน้อยจากเชื้อโรคต่างๆ รวมถึงการกินอาหารที่มีประโยชน์ การออกกำลังกาย และการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กให้เติบโตได้อย่างสมวัยก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะช่วยให้เด็กมีสุขภาพที่แข็งแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ

 

ทั้งนี้ เนื่องจากกระบวนการฉีดและช่วงเวลาในการฉีดวัคซีนแต่ละชนิดค่อนข้างมีความซับซ้อน อาจมีการเปลี่ยนแปลงชนิดเชื้อในวัคซีนที่ต้องฉีดในแต่ละปี และไม่ใช่วัคซีนทุกชนิดที่สามารถเลื่อนการฉีดได้ จึงควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับคำแนะนำที่ถูกต้องก่อนวางแผนการฉีดจึงจะดีที่สุด


บทความโดย

แพทย์หญิงภาวิณี ธีรการุณวงศ์

แพทย์ประจำสาขากุมารเวชทั่วไป

โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ




สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม

แผนก กุมารเวชกรรม อาคาร 1 ชั้น 2
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร 02-363-2000 ต่อ 2209-2210
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn