รู้จักไหม? เชื้อ H. pylori สาเหตุแผลในกระเพาะอาหาร
โรงพยาบาลเปาโล
11-ม.ค.-2562
เชื้อ H. Pylori เชื้อแบคทีเรียที่มีการศึกษาพบว่า… ประชากรกว่า 50% ทั่วโลกมีเชื้อนี้อยู่ในกระเพาะอาหาร ซึ่งสาเหตุของการติดเชื้อแบคทีเรียนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีการศึกษาพบว่า เชื้อ H. Pylori คือสาเหตุสำคัญของโรคแผลในกระเพาะอาหารที่พบบ่อยที่สุด เพราะฉะนั้น หากเรารู้แน่ชัดว่าในกระเพาะอาหารมีการติดเชื้อนี้หรือไม่ โอกาสในรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหารให้หายก็จะเพิ่มมากขึ้น

อาการเตือนจากการติดเชื้อ H. pylori

  • ปวดหรือแสบร้อนบริเวณท้องส่วนบนเหนือสะดือ และมักรุนแรงขึ้นหลังทานอาหาร
  • วิงเวียนศีรษะ
  • คลื่นไส้ อาเจียน (หากรุนแรงมากอาจอาเจียนเป็นเลือดได้)
  • ท้องอืด เรอบ่อย
  • ไม่อยากอาหาร และน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • อุจจาระเป็นสีดำหรือมีเลือดปน

โรคแผลในกระเพาะอาหาร..เกี่ยวข้องกับเชื้อ H.pylori อย่างไร

เชื้อ H.pylori เป็นเชื้อแบคทีเรียที่สามารถอาศัยอยู่ในกระเพาะอาหารที่มีความเป็นกรดสูงได้ และยังเป็นสาเหตุของโรคกระเพาะที่พบบ่อยที่สุด โดยเซลล์ H.pylori จะเข้าไปสร้างสารพิษที่ทำลายเซลล์เยื่อบุผิวในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น ก่อให้เกิดแผลและการอักเสบแบบเรื้อรัง ทั้งบริเวณกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นได้นั่นเอง

แล้วจะรู้ได้ยังไงว่ามีเชื้อ H. pylori อยู่ในร่างกาย

  • วิธีตรวจแบบเดิม คือ การส่องกล้องเข้าไปในกระเพาะอาหารผ่านทางปากที่เรียกว่า Gastroscopy แล้วตัดเนื้อเยื่อบุกระเพาะมาตรวจหาเชื้อ
  • วิธีตรวจแบบใหม่ คือ การตรวจวินิจฉัยเชื้อที่เรียกว่า Urea breat test หรือ UBT ซึ่งเป็นการตรวจผ่านลมหายใจ โดยให้คนไข้กินยูเรียแคปซูล รอประมาณ 20 นาที หากในกระเพาะของคนไข้มีเชื้อ H.pylori อยู่ จะเกิดการผลิตเอนไซม์ยูรีเอสที่เปลี่ยนยูเรียให้เป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซแอมโมเนีย ก่อนจะถูกขับออกมาทางลมหายใจ ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวก รวดเร็ว มีความแม่นยำสูง ปลอดภัย และคนไข้ไม่ต้องเจ็บตัว

ทำไม? การตรวจหาเชื้อ H. pylori จึงสำคัญ

เดิมทีการรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหารหรือโรคกระเพาะนั้น คือ การให้ยาลดกรด เพราะเข้าใจว่าแผลในกระเพาะเกิดจากการที่กระเพาะอาหารหลั่งน้ำย่อยซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรดออกมามากเกินไป แต่กลับพบว่ากว่า 70-80% ของผู้ป่วยจะกลับมามีแผลในเยื่อบุกระเพาะอาหารอีกครั้ง การค้นพบของนักวิทยาศาสตร์ที่ว่า… สาเหตุสำคัญของโรคกระเพาะมาจากเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori หรือ H. pylori ทำให้เกิดการเปลี่ยนแนวทางการรักษาโรคกระเพาะด้วยการกำจัดเชื้อ H. pylori ซึ่งนับว่าเป็นการรักษาที่ต้นตออย่างแท้จริง เพราะช่วยลดโอกาสการกลับมาเป็นแผลในกระเพาะอาหารซ้ำลงไปได้มาก ทั้งยังช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้อีกด้วย   ปรึกษาแพทย์ออนไลน์