ปวดท้องประจำเดือน แน่ใจได้ยังไงว่าไม่เสี่ยงช็อกโกแลตซีสต์
โรงพยาบาลเปาโล
31-ก.ค.-2562
อาการปวดประจำเดือนที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย อาจไม่ใช่แค่อาการปวดท้องธรรมดาทั่วไป แต่อาจมีโรคร้ายแฝงอยู่อย่างช็อกโกแลตซีสต์ เรียกว่าช่วงมีประจำเดือนทีไร อาการปวดประจำเดือนก็มาเยือนทุกที ทำให้หลายคนเข้าใจว่านี่คือ “เรื่องปกติ” จนมักมองข้ามสัญญาณเตือนอันตราย อย่าง “โรคช็อกโกแลตซีสต์” ไปโดยไม่รู้ตัว งั้นลองมาเช็คให้ชัวร์ดูหน่อยไหม ว่าอาการปวดประจำเดือนที่คุณเป็นอยู่นั้น แค่ปวดธรรมดา... ไม่ได้เสี่ยงช็อกโกแลตซีสต์อย่างที่ผู้หญิงหลายคนเป็นอยู่

อย่าเพิ่งตกใจ! ปวดประจำเดือน บางครั้งอาจไม่ใช่เรื่องร้ายแรง

อาการปวดประจำเดือน... หากมีสาเหตุมาจากการบีบตัวของมดลูก เป็นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้ในช่วงมีประจำเดือน จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นเรื่อง “ปกติ” โดยลักษณะอาการปวดประจำเดือนที่มาจากสาเหตุนี้ มักทำให้รู้สึกปวดบริเวณท้องน้อย และอาจปวดร้าวไปบริเวณหลัง ซึ่งอาการปวดจะไม่รุนแรงมากนัก แม้อาจมีอาการคลื่นไส้ เหนื่อย อ่อนเพลียร่วมด้วย ซึ่งการปวดจากการบีบของมดลูกนี้จะสามารถบรรเทาได้ด้วยการประคบร้อนหรือทานยาแก้ปวดทั่วไป

แล้วปวดประจำเดือนแบบไหนกันนะ ที่เข้าข่ายว่า “ผิดปกติ”

เมื่อไหร่ที่อาการปวดประจำเดือนเพิ่มระดับความรุนแรง ปวดมากจนถึงขั้นลุกเดินไม่ไหว หรือต้องได้รับยาฉีดแก้ปวด ประจำเดือนมามากผิดปกติ รวมทั้งมีไข้ร่วมด้วย ปวดศีรษะรุนแรง มีอาการคันบริเวณปากช่องคลอด ตกขาวมีกลิ่น หรือยาบรรเทาปวดที่เคยใช้ได้ผล มาตอนนี้กลับใช้ไม่ได้ผล สัญญาณเหล่านี้อาจเกิดจากการมีภาวะผิดปกติแอบแฝง ควรพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียด

ช็อกโกแลตซีสต์เกี่ยวข้องกับ “อาการปวดประจำเดือน” ยังไง

ปกติเลือดประจำเดือนจะต้องไหลออกทางช่องคลอด แต่เมื่อเลือดบางส่วนมีการไหลย้อนกลับเข้าไปในช่องท้องแล้วไปฝังตัวอยู่ที่รังไข่ในลักษณะเป็นถุงน้ำ และเมื่อเวลาที่มีประจำเดือนหรือเยื่อบุโพรงมดลูกมีการลอกตัวออกมาในแต่ละเดือน ก็จะทำให้มีเลือดออกในถุงด้วย ซึ่งการมีเลือดออกนี้ก็จะส่งผลให้เยื่อบุช่องท้องเกิดระคายเคือง จึงมักมีอาการปวดท้องมากเวลามีประจำเดือนตามมา

ปวดประจำเดือนรุนแรง สัญญาณเตือนภาวะผิดปกติอะไรได้อีกบ้าง

ไม่เพียงแค่ “ช็อกโกแลตซีสต์” ที่มาพร้อมกับสัญญาณเตือนจากอาการปวดประจำเดือน แต่ยังมีภาวะผิดปกติอีกหลายอย่าง...ที่สังเกตได้จากอาการปวดที่รุนแรงและเรื้อรังนานๆ เช่น
  • เนื้องอกมดลูก
  • เยื่อบุมดลูกเจริญภายในกล้ามเนื้อมดลูก
  • ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ
  • พังผืดในช่องท้อง
  • ภาวะปากมดลูกตีบ
  • ความผิดปกติของโครงสร้างทางกายภาพในอวัยวะสืบพันธุ์
เพราะอาการปวดประจำเดือนกลายเป็นสิ่งที่ผู้หญิงหลายคนมองว่าเป็นเรื่องปกติ จนอาจทำให้มองข้ามความผิดปกติไปโดยไม่ตั้งใจ ดังนั้น... การตรวจภายในเป็นประจำทุกปี จึงเป็นเหมือนอีกทางเลือกที่ช่วยให้ตรวจพบความผิดปกติได้เร็วกว่า ก่อนที่จะมีอาการลุกลามหนักจนรักษายากหรือต้องผ่าตัดรักษา ปรึกษาแพทย์ออนไลน์