ตั้งครรภ์ตอนอายุมาก เสี่ยงอันตรายแค่ไหนกัน
โรงพยาบาลเปาโล
11-ม.ค.-2562
ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันทำให้ผู้หญิงจำนวนมากแต่งงานช้า และกว่าจะวางแพลนการตั้งครรภ์อายุก็เข้าเลขสามแล้ว มีการศึกษาพบว่า ผู้ที่ตั้งครรภ์ในช่วงอายุ 35-39 ปี มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนมากถึงร้อยละ 19 ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยทั้งต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ เราจึงต้องรู้ทันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น… เมื่อตั้งครรภ์ตอนอายุมาก!!

อายุที่มากขึ้น...ส่งผลต่อความเสี่ยงในการตั้งครรภ์อย่างไร?

ร่างกายของมนุษย์เรานั้นเปลี่ยนไปในทุกๆ วัน ทุกๆ ปี สำหรับในเพศหญิง “จำนวนไข่และคุณภาพของไข่” คือสิ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากอายุที่เพิ่มขึ้น ผู้หญิงที่เข้าสู่วัย 32 ปีขึ้นไป จึงมักเริ่มมีปัญหาเรื่องการมีบุตรยาก รวมทั้งอายุที่มากขึ้นยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพต่างๆ อย่าง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งมีผลต่อสุขภาพของคุณแม่และทารก

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นกับคุณแม่และทารกในครรภ์

คลอดก่อนกำหนด โดยปกติแล้ว กลไกการตั้งครรภ์แบบครบกำหนดจะใช้เวลาประมาณ 37-40 สัปดาห์ ดังนั้น หากปากมดลูกเปิดก่อนสัปดาห์ที่ 37 ก็จะถือว่าเป็นการ “คลอดก่อนกำหนด” โดยทารกที่คลอดก่อนกำหนดนั้นมักจะมีน้ำหนักน้อย การพัฒนาของอวัยวะต่างๆ ยังไม่เต็มที่ ทำให้ในบางรายอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือได้รับการดูแลแบบใกล้ชิดจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เบาหวานขณะตั้งครรภ์ แม้ว่าคุณแม่จะไม่เคยมีประวัติการเป็นโรคเบาหวานมาก่อนตั้งครรภ์ แต่ด้วยกลไกของร่างกายคนท้องที่มักจะนำอินซูลินไปใช้ได้ไม่เต็มที่ ทำให้ส่งผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด คนท้องจึงมักเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานได้ง่าย ซึ่งโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์นั้น สามารถส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอันตราย อย่าง ภาวะครรภ์เป็นพิษ หรือทำให้ทารกมีน้ำหนักมาก ขนาดตัวใหญ่กว่าปกติ และทำให้คุณแม่เสี่ยงเป็นอันตรายขณะคลอดได้ ครรภ์เป็นพิษ เป็นภาวะของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่เกิดความดันโลหิตสูง ทั้งที่ไม่เคยเป็นความดันโลหิตสูงมาก่อน ร่วมกับภาวะโปรตีนสูงในปัสสาวะ อาการที่มักพบบ่อยๆ คือ เท้าบวม ขาบวม และมือบวม โดยมักเกิดในช่วงปลายๆ ของการตั้งครรภ์ หากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม อาจนำไปสู่ภาวะอันตรายรุนแรงทั้งต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ ซึ่งอาจร้ายแรงถึงชีวิตได้ รกเกาะต่ำ โดยปกติ ในการตั้งครรภ์ทั่วไปรกจะเกาะอยู่ตรงบริเวณผนังส่วนบนค่อนไปทางด้านหลังของโพรงมดลูก แต่ในกรณีที่เกิดภาวะรกเกาะต่ำนั้น รกจะเกาะอยู่ตรงผนังมดลูกส่วนล่าง (ใกล้กับปากมดลูก) เมื่อคุณแม่เข้าสู่ระยะใกล้คลอด มดลูกจะขยายขนาดใหญ่ขึ้นมาก ปากมดลูกจะเริ่มบางและยืดขยายออก รกที่เคยเกาะแน่นก็จะมีรอยปริและเกิดแยกตัว ทำให้คุณแม่มีเลือดออกทางช่องคลอดเป็นพักๆ แต่ถ้ารกเกาะต่ำมากหรือไปขวางปากมดลูก อาจทำให้คุณแม่ตกเลือดมากจนเสี่ยงต่อภาวะช็อก หรือทารกในครรภ์ขาดออกซิเจนและเสียชีวิตในครรภ์ได้ ท้องนอกมดลูก เป็นภาวะที่ตัวอ่อนเกิดการฝังตัวบริเวณอื่นที่ไม่ใช่ผนังมดลูก ส่งผลให้ตัวอ่อนไม่สามารถเจริญเติบโตเป็นทารกได้ และหากไม่ได้รับการรักษาจะเกิดเนื้อเยื่อที่เจริญเติบโตและสร้างความเสียหายต่อท่อนำไข่ ซึ่งอาจส่งผลอันตรายร้ายแรงได้ถึงขั้นเสียชีวิต

“ลูกเป็นดาวน์ซินโดรม” อีกความเสี่ยงการตั้งครรภ์ตอนอายุมาก

นอกจากความเสี่ยงที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอันตราย ความเสี่ยงต่อความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น โรคดาวน์ซินโดรม จะเพิ่มมากขึ้นตามอายุของคุณแม่ด้วยเช่นกัน ดังนั้นคุณแม่ทุกคนควรได้รับการตรวจคัดกรองหรือการตรวจวินิจฉัยเพื่อหาความผิดปกติในทารก เช่น การเจาะเลือดตรวจคัดกรองทารกดาวน์ซินโดรม การเจาะน้ำคร่ำ การสุ่มตรวจชิ้นเนื้อรก หรือการอัลตร้าซาวนด์ตรวจทารกอย่างละเอียด เป็นต้น  

สอบถามเพิ่มเติม ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลเปาโล

    ปรึกษาแพทย์ออนไลน์