ดูแลสุขภาพให้ดี ทำแบบนี้ช่วยลดปวดประจำเดือนได้
โรงพยาบาลเปาโล
31-ก.ค.-2562
การปวดประจำเดือนนั้น มีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้อง หากเมื่อไหร่ที่รู้สึกว่า ปวดมากขึ้นในแต่ละเดือน ควรปรึกษาแพทย์ เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคในระบบสืบพันธุ์ที่ต้องรีบรักษา ผู้หญิงส่วนใหญ่เมื่อปวดประจำเดือนก็มักกินยาแก้ปวดพวก พาราเซตามอล (Paracetamol) หรือยากลุ่ม NSAIDs เช่น บรูเฟน (ibuprofen) พอนสแตน (ponstan-mefenamic acid) ซึ่งก็เป็นกลุ่มยาที่ทานได้ตามปกติ แต่การกินยาก็ยังถือว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะมักจะต้องกินทุกครั้งที่ปวดหรือต้องกินทุกเดือน แถมการกินยาแก้ปวดก็ไม่ได้เหมาะกับทุกคนเสมอไป โดยเฉพาะกับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคตับ โรคไต โรคกระเพาะ ก่อนกินยาแก้ปวดก็ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน

ปรับ 3 อย่างนี้สิ นอกจากสุขภาพดี ยังช่วยลดปวดประจำเดือนได้

  • ลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
ผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วนมักจะมีฮอร์โมนเอสโตรเจนมากกว่าปกติ หรือ ฮอร์โมนเพศหญิงไม่สมดุล ส่งผลให้ขณะมีประจำเดือนจึงปวดมดลูกมากกว่าคนน้ำหนักตัวปกติ ดังนั้น หันมาออกกำลังกายเพื่อรักษาน้ำหนักให้ได้มาตรฐานกันดีกว่า... เมื่อนึกถึงการลดน้ำหนักหรือลดไขมันในร่างกายเรามักนึกถึงการเล่นกีฬาหนักๆ ที่ใช้ออกซิเจนอย่างต่อเนื่องประเภทแอโรบิก แต่ในความเป็นจริงแล้ว การออกกำลังกายเบาๆ ต่อเนื่องสัก 30 นาที ให้หัวใจเต้นอยู่ในโซน 2 ของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด (ระหว่าง 60-70% ของ 220 ลบด้วยอายุ) ก็เพียงพอสำหรับการดึงไขมันสะสมมาใช้แล้ว สำหรับผู้เริ่มต้นขอแนะนำให้ใช้การเดินเร็วอย่างน้อย 20 นาที แต่ถ้ายังไม่ไหวก็ให้เดินช้าสลับเร็วไปก่อน โดยสังเกตว่าเมื่อจบการเดินแล้วเกิดความรู้สึกสดชื่นจากการที่ร่างกายหลั่งสารเอนดอร์ฟิน การฝึกในระดับนี้จะทำให้เริ่มติดการออกกำลังกายเพราะไม่เหนื่อยเกินไป ใช้เวลาไม่มาก เมื่อร่างกายคุ้นชินแล้วจึงค่อยเพิ่มความหนักและระยะเวลาให้นานขึ้น แล้วในช่วงมีประจำเดือนสามารถออกกำลังกายได้ไหม? แน่นอนว่า ออกได้ แต่การออกกำลังกายในช่วงที่มีประจำเดือน ควรเป็นการออกกำลังกายเบาๆ หรือหนักพอเท่าที่ร่างกายจะทำไหว เพราะอย่างที่บอกว่า การออกกำลังกายเมื่อถึงระดับที่มีการหลั่งสารเอนดอร์ฟินจะเป็นการช่วยบรรเทาความเจ็บปวดแบบธรรมชาติ จนอาจจะไม่ต้องพึ่งการกินยาแก้ปวดเลยก็ได้
  • หันมาดื่มน้ำให้เพียงพอ
นอกจากน้ำจะเป็นตัวช่วยให้อวัยวะต่างๆ กรองของเสียออกจากร่างกายได้ดีแล้ว น้ำยังมีส่วนช่วยรักษาความสมดุลของฮอร์โมนเอสโตรเจนให้เป็นปกติ หากใกล้มีประจำเดือน หรือเริ่มปวดท้องประจำเดือน ลองจิบน้ำอุ่นให้บ่อยครั้งขึ้น จะทำให้เลือดไหลเวียนดี ช่วยให้เกิดความผ่อนคลายของอวัยวะภายใน แต่อย่าไปเผลอดื่มชา-กาแฟนะ เพราะคาเฟอีนในชา กาแฟ รวมถึงน้ำอัดลมและช็อกโกแลตนั้นมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ ซึ่งจะส่งผลให้สาวๆ ปวดประจำเดือนมากขึ้นได้ ถ้าจะให้ดี ควรดื่มน้ำให้เพียงพอในทุกๆ วัน ว่าแต่จะดื่มมากเท่าไหร่ดี... สูตรของการดื่มน้ำว่าเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอนั้น สามารถคิดง่ายๆ โดยนำน้ำหนักตัวคูณด้วย 33 จะได้ตัวเลขปริมาณน้ำที่ควรดื่มเป็นมิลลิลิตร เช่น หากมีน้ำหนักตัว 65 คูณด้วย 33 ก็ให้ดื่มน้ำวันละประมาณ 2.14 ลิตร โดยนับรวมอาหารที่มีน้ำซุป หรือผลไม้ที่มีน้ำมากไปด้วย การดื่มให้เริ่มตั้งแต่ตอนเช้าหลังตื่นนอน 1-2 แก้ว เพื่อขจัดสารต่างๆ ที่ตกค้างในร่างกายออกมาทางปัสสาวะ แต่เวลาที่ไม่ควรดื่มน้ำก็คือ ก่อนกินอาหาร 15 นาที ระหว่างกินอาหาร และหลังกินเสร็จใหม่ๆ เราควรทิ้งระยะการดื่มน้ำอย่างน้อย 15-30 นาที เพื่อให้น้ำย่อยทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากกลัวปากไม่สะอาดให้ใช้วิธีบ้วนปากและจิบน้ำเพียงเล็กน้อยแทน การดื่มน้ำที่ถูกต้องคือการจิบบ่อยๆ ครั้งละน้อยๆ โดยไม่ต้องรอให้รู้สึกกระหาย สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงอีกอย่างก็คือการดื่มน้ำเย็นจัด เพราะจะทำให้ท้องอืด อาหารไม่ย่อยและเน่าบูด ร่างกายก็จะได้รับสารอาหารที่ไม่ดี รู้แบบนี้แล้วเรามาปรับวิธีการดื่มน้ำกันดีกว่านะ
  • ลดกินเค็ม เพิ่มกินผัก รักษาสุขภาพ
อาหารที่มีโซเดียมสูงจะไปกระตุ้นให้มดลูกบีบตัวมากขึ้นขณะมีประจำเดือน ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการปวดมากกว่าปกติ จึงควรงดเว้นอาหารเค็ม อาหารหมักดอง พวกจังก์ฟู้ด ป๊อปคอร์น ของทอดต่างๆ ในช่วงที่มีประจำเดือน อาจเพิ่มการกินผักที่มีใบสีเขียวเข้ม เช่น ผักโขม ผักปวยเล้ง ผักคะน้า เพราะจะมีธาตุแมกนีเซียมสูง ซึ่งแมกนีเซียมนี้เองจะไปช่วยคลายกล้ามเนื้อมดลูก ทำให้อาการปวดประจำเดือนลดลงได้ อาหารอื่นๆ ที่การันตีว่ามีแมกนีเซียมสูง ก็อย่างเช่น เต้าหู้สด ถั่วอัลมอนด์ มะม่วงหิมพานต์ ถั่วลิสง ถั่วต้ม ข้าวกล้อง ข้าวสวย ข้าวโอ๊ต กล้วย นม และโยเกิร์ต การปวดประจำเดือนนั้น มีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้อง หากเมื่อไหร่ที่รู้สึกว่า ปวดมากขึ้นในแต่ละเดือน ควรปรึกษาแพทย์ เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคในระบบสืบพันธุ์ที่ต้องรีบรักษา เพราะหากปล่อยถึงไว้จนลุกลาม ก็จะรักษายากขึ้น เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ที่สำคัญคือต้องเจ็บปวดทรมานมากขึ้นนั่นเอง ปรึกษาแพทย์ออนไลน์