ดูแลครรภ์อย่างไรให้แข็งแรงทั้งคุณแม่และลูกน้อย
โรงพยาบาลเปาโล
11-ม.ค.-2562
การดูแลตนเองและลูกน้อยในครรภ์ให้แข็งแรงสมบูรณ์จนกว่าจะครบกำหนดคลอดในอีก 9 เดือนข้างหน้านั้นไม่ใช่เรื่องง่าย คุณแม่ตั้งครรภ์จึงต้องใส่ใจเป็นพิเศษในทุกๆ เรื่อง โดยเฉพาะ 5 สัญญาณอันตรายนี้ ถ้าเกิดขึ้นกับคุณแม่ตั้งครรภ์เมื่อไหร่...ต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วน!!

เสริมความแข็งแรงลูกน้อย...ด้วย “สารอาหาร” ที่จำเป็น

แน่นอนว่า “อาหารดี” คือสิ่งที่สร้างความแข็งแรงให้ร่างกาย แต่สารอาหารเหล่านี้ คือจานสำคัญที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรเน้นเป็นพิเศษ โปรตีน เนื่องจากโปรตีนเป็นสารอาหารสำคัญที่มีส่วนช่วยในการเจริญเติบโต รวมไปถึงพัฒนาการทางสมองของทารกในครรภ์ อาหารอุดมด้วยโปรตีน เช่น นมถั่วเหลือง ไข่ เนื้อปลา เนื้อไก่ เนื้อหมู แต่อาจหลีกเลี่ยงเนื้อแดงที่มีไขมันสูง ไอโอดีน ไอโอดีนจะช่วยให้พัฒนาการทางสมองของทารกสมบูรณ์ หากคุณแม่ขาดสารอาหารประเภทไอโอดีนจะส่งผลให้ทารกที่คลอดออกมาเสี่ยงเป็นโรคปัญญาอ่อน หูหนวก หรือเป็นใบ้ได้ อาหารอุดมด้วยไอโอดีน เช่น อาหารทะเล หรือเกลือเสริมไอโอดีน ธาตุเหล็ก เป็นสารอาหารที่จำเป็นในการบำรุงเลือด หากคุณแม่ขาดธาตุเหล็กจะส่งผลให้เป็นโรคโลหิตจาง ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการพัฒนาด้านสมองของทารก อาหารอุดมด้วยธาตุเหล็ก เช่น ผักโขม ใบตำลึง งาดำ งาขาว ตับ แคลเซียม สารอาหารที่ไม่เพียงช่วยบำรุงกระดูกในวัยผู้ใหญ่ แต่ยังมีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตของกระดูกทารกในครรภ์ อาหารอุดมด้วยแคลเซียม เช่น นมและผลิตภัณฑ์จากนม ปลาเล็กปลาน้อย โฟเลต นับว่าเป็นสารอาหารที่คนท้องต้องการอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงระยะแรกของการตั้งครรภ์ เนื่องจากโฟเลตเป็นสารอาหารที่ช่วยสร้างเซลล์สมองให้กับทารก อาหารอุดมด้วยโฟเลต เช่น ตับ หรือผักใบเขียว อย่าง หน่อไม้ฝรั่ง คะน้า เป็นต้น

เสริมความแข็งแรงคุณแม่...ด้วยท่าออกกำลังกายแบบง่ายๆ

การออกกำลังกายในคุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ใช่เรื่องต้องห้ามยาวนานตลอด 9 เดือน เพียงแค่ต้องรอให้อายุครรภ์ครบ 3 เดือนก่อน เนื่องจากพอพ้นไตรมาสแรกแล้ว จะเป็นช่วงที่ทารกเริ่มแข็งแรง เพราะมีการสร้างอวัยวะที่สำคัญเรียบร้อยแล้ว และเพื่อลดอาการปวดหลัง...ปัญหาที่พบได้บ่อยในคุณแม่ตั้งครรภ์ รวมไปถึงการช่วยให้คุณแม่คลอดได้ง่ายขึ้น นี่คือ 2 ท่าออกกำลังกายสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่เรานำมาฝากกัน...
    • ท่าบริหารกล้ามเนื้อส่วนล่างและอุ้งเชิงกราน
ท่านี้จะช่วยให้คุณแม่คลอดได้ง่ายขึ้น โดยให้คุณแม่นอนหงายกับพื้น ชันเข่า และแยกขาออกจากกันเล็กน้อย วางแขนทั้งสองข้างแนบชิดลำตัว สูดลมหายใจเข้า กลั้นหายใจ...พร้อมเกร็งกล้ามเนื้อสะโพก ต้นขา และหน้าท้องเบาๆ ค่อยๆ แอ่นหลังขึ้นโดยที่ไหล่และสะโพกยังแนบติดกับพื้น แล้วหายใจออกช้าๆ พร้อมกับกดหลังให้ติดพื้น ทำซ้ำให้ครบ 10 ครั้ง
    • ท่าบริหารกล้ามเนื้อหลัง
คุณแม่อายุครรภ์ 5 เดือน จะเป็นช่วงที่เริ่มมีอาการปวดหลังเพราะน้ำหนักครรภ์มากขึ้น จึงควรบริหารกล้ามเนื้อหลังให้แข็งแรง โดยเริ่มจากให้คุณแม่ยืนลำตัวตรง ยกหน้าอกขึ้นเล็กน้อย หายใจเข้าและก้าวขาขวาไปข้างหน้า… แล้วยืดขาซ้ายไปด้านหลัง จากนั้นย่อตัวลงให้ต่ำ ยกแขนทำมุม 90 องศา แล้วเหยียดแขนขึ้นพร้อมหายใจออก ทำซ้ายและขวานับเป็น 1 ครั้ง ทั้งหมด 15 ครั้งต่อเซต ครบเซตให้พัก 30 นาที แล้วค่อยเริ่มทำต่อจนครบ 3 เซ็ต แม้ว่าจะมีข้อมูลคำแนะนำการดูแลครรภ์ทั้งในเรื่องของอาหารการกินและการออกกำลังกาย แต่การเข้ารับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็ยังเป็นสิ่งสำคัญ เพราะสุขภาพร่างกายของคุณแม่แต่ละคนนั้นต่างกัน… โอกาสเสี่ยงอันตรายจึงไม่เท่ากันด้วย   ปรึกษาแพทย์ออนไลน์