โรงพยาบาลเปาโล
09-ม.ค.-2562
มะเร็งเต้านมนับเป็นภัยร้ายอันดับ 1 โดยมีสถิติการเกิดสูงสุดของมะเร็งในสตรี โดยในปี พ.ศ. 2532-2534 พบว่ามีผู้เป็นมะเร็งเต้านม 11.1 ราย ต่อประชากรหนึ่งแสนคน แต่ล่าสุดพบว่ามีผู้เป็นมะเร็งเต้านมมากว่า 30 รายต่อประชากรหนึ่งแสนคน นั่นคือเพิ่มขึ้นราว 3 เท่า ดังนั้นผู้หญิงทุกคนควรหมั่นสังเกตความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นที่เต้านม เพราะนี่ไม่ใช่โรคที่ไกลตัวอีกต่อไป และถ้าเป็นไปได้ ควรเข้ารับการตรวจหาความเสี่ยงมะเร็งเต้านมเมื่อถึงวัยอันควร เพราะเมื่ออายุสูงขึ้นคือช่วงอายุ 35-39 ปีจะพบมากขึ้น และสูงมากขึ้นอีกเมื่ออายุ 40-44 ปี ดังนั้นผู้หญิงทุกคนควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยการทำแมมโมแกรมและอัลตร้าซาวนด์เมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป หรือเริ่มทำได้ตั้งแต่อายุน้อยกว่านั้นถ้ามีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ร่วมด้วย

มะเร็งเต้านมเกิดขึ้นได้อย่างไร

มะเร็งเต้านม คือ ความผิดปกติของเซลล์เต้านมที่เกิดการแบ่งตัว และยังสามารถลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ ได้ โดยทั่วไปเชื่อว่ามะเร็งเต้านมส่วนใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงมาจากเซลล์ที่อยู่ระหว่างบริเวณท่อน้ำนมส่วนปลายและต่อมน้ำนม หรือบางทฤษฎีเชื่อว่า อาจมีต้นกำเนิดมาจากสเต็มเซลล์บริเวณท่อน้ำนมและต่อมน้ำนม แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นมะเร็งเต้านมชนิดต่างๆ

ปัจจัยที่เพิ่มโอกาสการเป็นมะเร็งเต้านม

สาเหตุของการเป็นมะเร็งเต้านมนั้นมีปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน เช่น กรรมพันธุ์ การได้รับยาฮอร์โมนหลังหมดประจำเดือนเป็นระยะเวลานาน แต่ถึงแม้ญาติสายตรงไม่มีประวัติการเป็นมะเร็ง ทั้งยังไม่เคยได้รับฮอร์โมนก็มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้ เนื่องจากมีปัจจัยอื่นๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงได้ เช่น
  • การเริ่มมีประจำเดือนเร็ว เพราะหมายถึงรังไข่ผลิตฮอร์โมนเพศหญิงเร็วและกระตุ้นให้มีเต้านมเร็วขึ้น จากสถิติพบว่าหากการมีประจำเดือนครั้งแรกช้าออกไปจะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมลดลง 5-10% ต่อปี
  • หมดประจำเดือนช้า หมดช้าลง 1 ปี จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 3% ต่อปี
  • อายุตอนมีบุตรคนแรก หากมีบุตรคนแรกหลังอายุ 35 ปี จะมีความเสี่ยงสูงกว่าหญิงที่มีบุตรคนแรกเมื่ออายุ 20 ปี ราว40-60%
  • การตั้งครรภ์ทำให้ความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมสูงขึ้นชั่วคราว เพราะฮอร์โมนเพศหญิงจะเพิ่มขึ้น ทำให้เซลล์เต้านมได้รับการกระตุ้นให้เพิ่มจำนวน
  • การกินยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนจะมีความเสี่ยงสูงขึ้น 24% ในช่วงที่กิน
  • ยาฮอร์โมนสำหรับหญิงวัยทอง ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 2.3% ต่อจำนวนปีที่ใช้ฮอร์โมน และความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 35% ในหญิงที่ใช้เกิน 5 ปี
  • ดัชนีมวลกาย (BMI) หญิงวัยหมดประจำเดือนที่อ้วนจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เพราะ BMI มากจะมีระดับฮอร์โมนเพศหญิงสูงกว่า
  • อาหารที่มีไขมันสูง อาจจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมได้ 10-50%
  • พันธุกรรม ถ้ามีประวัติคนในครอบครัว โดยญาติสายตรงลำดับหนึ่ง (มารดา พี่สาว น้องสาว) เป็นมะเร็งเต้านม 1 คน จะมีโอกาสเสี่ยงเพิ่มขึ้นกว่าคนปกติ 2 เท่า
  • ลักษณะเนื้อเต้านมที่หนาแน่น พบจากแมมโมแกรม (Mammographic density) พบว่าเต้านมที่มีลักษณะหนาแน่นมากมีความเสี่ยงมากขึ้น 2-6 เท่า และพบว่าการรับประทานยาฮอร์โมนสำหรับสตรีวัยทองมีผลทำให้เต้านมหนาแน่นขึ้น
  • ประวัติเนื้องอกที่เต้านม เนื้องอกบางชนิด ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม เนื้องอกบางชนิดเพิ่มความเสี่ยงเล็กน้อย หรือบางชนิดก็เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมประมาณ 3-5 เท่า

อาการแบบนี้ใช่มะเร็งเต้านมไหม

หลายคนก็สงสัยว่าเมื่อไหร่ที่เราควรไปพบแพทย์ นอกจากการตรวจหาความเสี่ยงตามรอบตามปกติแล้ว หากพบอาการเหล่านี้ ควรรีบไปให้แพทย์ตรวจ เพิ่มเติม เพราะการตรวจพบเร็ว รักษาไว โอกาสหายก็มีมากกว่า
  • คลำพบก้อนแข็งที่เต้านม
  • มีน้ำออกจากหัวนม โดยเฉพาะถ้าออกมาเองโดยไม่ได้บีบ
  • หัวนมบอดที่เกิดขึ้นภายหลัง
  • การเปลี่ยนแปลงที่ผิวหนังเต้านม เช่น นูนขึ้น หรือมีรอยบุ๋มลง หรือก้อนในเต้านมลามมาที่ผิวหนังจนมีลักษณะเป็นแผล มีตุ่มแข็งที่ผิวหนัง ผิวหนังบวมคล้ายผิวส้ม มีแผลหรือผื่นที่หัวนมและลานหัวนม
  • เต้านมบวมแดงอักเสบเรื้อรัง บางรายคลำได้ก้อนที่รักแร้
  • มะเร็งเต้านมส่วนใหญ่ไม่มีอาการเจ็บ ส่วนน้อยอาจจะมีอาการเจ็บ
  • การคลำเต้านมด้วยตนเอง และการตรวจแมมโมแกรมปีละครั้งตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไปหรือน้อยกว่าถ้ามีประวัติเสี่ยงจึงมีความสำคัญ และรีบมาพบแพทย์เมื่อคลำพบก้อนที่เต้านมได้โดยไม่ควรรอให้มีอาการเจ็บก่อน

โอกาสหายของมะเร็งเต้านมระยะต่างๆ

มะเร็งเต้านมแบ่งระยะต่างๆ ตามการลุกลามรุนแรง โดยในแต่ละระยะนั้นก็มีโอกาสหายต่างกันไป ดังนั้นจงอย่าไว้ใจ หากมีอาการผิดสังเกตเมื่อไหร่ ให้รีบไปพบแพทย์จะดีกว่า เพราหากปล่อยถึงไว้จนถึงระยะแพร่กระจายแล้ว อัตราการอยู่รอดจะลดต่ำลงมาก
  • ระยะก่อนลุกลาม หรือระยะ 0 มีโอกาสหายจากโรคสูงมาก อัตราการอยู่รอด ≥ 10 ปีเกือบ 100%
  • ระยะลุกลาม ระยะ 1 (Stage 1) ก้อน ≤ 2 cm. และยังไม่กระจายไปต่อมน้ำเหลือง อัตราการอยู่รอด ≥ 5 ปี = 98%
  • ระยะลุกลาม ระยะ 2 (Stage 2) ก้อน > 2-5 cm. กระจายไปต่อมน้ำเหลือง ≤ 3 ต่อม หรือ ก้อน > 5 cm. แต่ยังไม่กระจายไปต่อมน้ำเหลือง ระยะ 2 อัตราการอยู่รอด ≥ 5 ปี = 93%
  • ระยะลุกลาม ระยะ 3 (Stage 3) ก้อนลามขึ้นไปบนผิวหนัง/หรือลามลงผนังทรวงอก หรือมะเร็งกระจายไป ต่อมน้ำเหลือง 4-10 ต่อม หรือกระจายไปต่อมน้ำเหลืองเพียง 1-3 ต่อม แต่ก้อน > 5 cm. อัตราการอยู่รอด ≥ 5 ปี = 72%
  • ระยะแพร่กระจาย หรือ ระยะ 4 (Stage 4) มะเร็งกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ตับ กระดูก ปอด ระยะ 4 หรือระยะแพร่กระจาย อัตราการอยู่รอด ≥ 5 ปี = 22%

การรักษามะเร็งเต้านม

การรักษามะเร็งเต้านมนั้น ประกอบไปด้วย
  1. การผ่าตัด
  2. การให้ยารักษามะเร็ง ได้แก่ ยาเคมีบำบัด ยาต้านฮอร์โมน หรือยาแบบมุ่งเป้า
  3. การฉายแสง
โดยทั่วไปแล้วการรักษาหลักของมะเร็งเต้านมคือ การผ่าตัด และผู้ป่วยส่วนใหญ่จะได้ยารักษามะเร็งต่อ แต่จะเป็นยาชนิดใดขึ้นอยู่กับระยะ ชนิด และลักษณะของมะเร็งเต้านมในแต่ละคน ผู้ป่วยบางรายจำเป็นต้องได้รับการฉายแสงร่วมด้วย เช่น ผู้ที่ผ่าตัดแบบสงวนเต้า ผู้ที่มีก้อนมะเร็งขนาดตั้งแต่ 5 ซม.ขึ้นไป หรือมะเร็งกระจายไปต่อมน้ำเหลืองมากกว่า 1-3 ต่อม เป็นต้น

การผ่าตัดมะเร็งเต้านมทำได้หลายแบบ

การผ่าตัดเต้านมมีหลายวิธี อาจไม่ต้องตัดเต้านมทิ้งทั้งเต้า โดยได้ผลการรักษาที่ดีเหมือนกัน การตัดออกทั้งเต้า มักทำในกรณีที่ผู้ป่วยมีก้อนเนื้องอกขนาดใหญ่ กินบริเวณกว้าง หรือมีหลายตำแหน่ง หรือมีข้อห้ามไม่สามารถฉายแสงหลังผ่าตัดแบบสงวนเต้าได้ หรือผู้ป่วยมีความต้องการที่จะตัดเต้านมออกทั้งหมด แต่ถ้าผู้ป่วยมีก้อนมะเร็งขนาดเล็กและไม่กระจายหลายจุด ก็สามารถผ่าตัดแบบสงวนเต้าได้ ในกรณีที่จำเป็นต้องตัดเต้าออกก็ยังสามารถเสริมเต้านมใหม่ได้ทั้งจากการนำเนื้อบริเวณอื่นมาใช้ หรือการใช้ถุงซิลิโคนก็ทำได้เช่นกัน

อย่ากลัวการตรวจแมมโมแกรม

ผู้หญิงจำนวนมากกลัวการตรวจแมมโมแกรม เพราะเคยได้ยินเรื่องเล่าว่าเป็นการตรวจที่ต้องมีการกดบีบ และคิดไปเองว่าเมื่อโดนบีบหรือหากเกิดการกระแทกที่เต้านม จะเป็นการกระตุ้นทำให้เป็นมะเร็งเต้านม ซึ่งจริงๆ แล้ว การตรวจจะทำให้พบไม่ได้ทำให้เป็นแต่อย่างใด หลายรายกังวลว่าการทำแมมโมแกรมจะได้รับรังสี และเพิ่มโอกาสให้เป็นมะเร็ง ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว การทำแมมโมแกรมจะได้รับรังสีที่มีระดับต่ำ เทียบเท่ากับรังสีที่ได้รับตามปกติจากสิ่งแวดล้อม 7 สัปดาห์ (ขึ้นกับสภาพทางภูมิศาสตร์) และต่ำกว่ารังสีจากเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ 50-100 เท่า ดังนั้น การทำแมมโมแกรมคัดกรองมะเร็งเต้านมปีละครั้งถือว่าปลอดภัย ไม่พบว่าทำให้เกิดมะเร็งเต้านม แนะนำให้ตรวจในหญิงอายุ 40 ปีขึ้นไปหรืออายุน้อยกว่านั้นถ้ามีความเสี่ยง เพราะการตรวจพบเร็วก่อนที่มะเร็งจะเข้าระยะลุกลามโอกาสหายก็สูงกว่า   ปรึกษาแพทย์ออนไลน์