ทำไม? เราถึงควร 'ตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน'
โรงพยาบาลเปาโล
29-ม.ค.-2567
“การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน” เป็นการเช็กความพร้อมและความสมบูรณ์ของร่างกาย รวมถึงค้นหาความบกพร่องทางพันธุกรรม เพื่อที่จะได้วางแผนการรักษาและหาแนวทางป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับบุตรได้ถูกทาง การมีครอบครัวที่สมบูรณ์ มีพ่อ แม่ ลูก... คือความฝันของคู่รักแทบทุกคู่ คู่รักส่วนหนึ่งจึงมักวางแผนที่จะมีลูกทันทีหลังแต่งงาน แต่การจะมีบุตรสักคนนั้น ใครๆ ก็ต้องการให้บุตรมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ดังนั้นการเตรียมความพร้อมในเรื่องสุขภาพของคู่สามีภรรยาจึงเป็นเรื่องสำคัญที่มองข้ามไม่ได้

ทำไมต้องตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน?

เพราะ “การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน” เป็นอีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญสำหรับคู่รัก เพราะเป็นการเช็กความพร้อมและความสมบูรณ์ของร่างกายในการมีเพศสัมพันธ์ การเตรียมพร้อมสำหรับการมีลูก เพราะหากสุขภาพไม่แข็งแรง หรือมีความบกพร่องทางพันธุกรรม จะได้วางแผนการรักษา หรือหาแนวทางป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับบุตรได้ถูกที่ถูกทาง ซึ่งแนะนำให้ตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานทั้งผู้ชายและผู้หญิง


ไม่ใช่แค่การตรวจสุขภาพทั่วไป แต่การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานจะตรวจลึกถึงสารพันธุกรรม

การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน นอกจากจะเป็นการเตรียมความพร้อมแล้ว ยังช่วยป้องกันอันตรายจากโรคที่มีผลต่อการตั้งครรภ์ได้ด้วย เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิต หัดเยอรมัน นอกจากนี้ยังสามารถตรวจหาความผิดปกติทางพันธุกรรมได้ถึงระดับดีเอ็นเอหรือยีน ทำให้รู้ได้ว่าหญิงหรือชายที่เป็นคู่สมรสกันนั้นมียีนที่เป็นพาหะของโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือไม่

หากพบก็จะได้ให้คำปรึกษาก่อนตัดสินใจแต่งงานหรือก่อนมีบุตร หรือหากพบว่าเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีนก็จะได้ทำการฉีดวัคซีนก่อน เช่น โรคไวรัสตับอักเสบ โรคหัดเยอรมัน เป็นต้น ส่วนในกรณีที่พบว่ามียีนผิดปกติที่ไม่สามารถป้องกันได้ หรือโอกาสที่ลูกจะเกิดมามีภาวะผิดปกติมีมาก แพทย์อาจจะแนะนำให้แต่งงานกันได้โดยไม่ต้องมีบุตร หรือหากตั้งครรภ์ก็จะได้ตรวจความสมบูรณ์ของบุตรตั้งแต่อยู่ในครรภ์


โรคอะไรบ้างที่สามารแพร่ไปสู่ลูกหรือคู่รักของคุณได้?
  • โรคเอดส์ ที่เกิดจากการติดเชื้อ HIV หากพบว่ามีการติดเชื้อ จะได้ป้องกันการติดต่อ หรือรีบรักษาเพื่อลดอัตราการเกิดอาการแทรกซ้อน
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ซิฟิลิส (Syphilis)
  • ไวรัสตับอักเสบ บี เพราะอาจแพร่เชื้อไปยังคู่สมรส หรือลูกน้อยในครรภ์ จะได้ปรับพฤติกรรมเตรียมความพร้อม หรือรับวัคซีนป้องกัน
  • โรคโลหิตจาง หรือธาลัสซีเมีย เพื่อวางแผนสำหรับการมีบุตรในเวลาที่เหมาะสม
  • หัดเยอรมัน ลูกน้อยสามารถติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ และมีโอกาสสูงมากที่จะคลอดออกมาพร้อมความผิดปกติ ซี่งสามารถป้องกันได้ด้วยการรับวัคซีน เพื่อการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยทั้งกับคุณแม่และลูกน้อยลูกน้อย


ตรวจให้ครบก่อนแต่งงาน ต้องตรวจอะไรบ้าง?

สำหรับการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานนั้น จะคล้ายคลึงกับการตรวจสุขภาพ แต่จะเพิ่มเติมในส่วนของการคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือความผิดปกติที่สามารถส่งต่อไปทางพันธุกรรมด้วย โดยเมื่อมาเข้ารับการตรวจแพทย์จะทำการซักประวัติโดยละเอียด และเข้าสู่กระบวนการตรวจอื่นๆ ด้วยการตรวจเลือด ดังรายการต่อไปนี้

ซักประวัติและตรวจร่างกายเบื้องต้น (Physical Examination by OB-GYN) : ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง เช่น วัดความดันโลหิต ตรวจชีพจร และตรวจหาดัชนีมวลกาย (BMI)

ตรวจความสมบูรณ์ของเลือด (CBC) : เพื่อค้นหาว่ามีโรคที่เป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์หรือไม่ หากพบว่ามีความผิดปกติที่อาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์ ก็จำเป็นต้องได้รับการดูแลจากแพทย์เฉพาะทางอย่างใกล้ชิดเมื่อวางแผนตั้งครรภ์

ตรวจหมู่เลือด (ABO group) : เพื่อให้ทราบกรุ๊ปเลือดของตนเองและคู่สมรส หากเกิดเหตุฉุกเฉินที่ต้องการเลือด จะได้จัดกรุ๊ปเลือดได้ทันท่วงที

ตรวจหมู่เลือด (Rh Factor) : เพื่อดูชนิดเลือดของคุณฝ่ายหญิง ว่ามีค่า Rh Factor เป็น Rh+ หรือ Rh- เนื่องจากมีผลต่อความเสี่ยงในการแท้งลูก หรือมีปัญหาต่อลูกในครรภ์และตัวคุณแม่เองได้

ตรวจหาภูมิคุ้มกันและเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (Anti HBs / HBs Ag) : หากพบว่ามีเชื้อ แสดงว่าสามารถแพร่เชื้อผ่านทางเลือดและการมีเพศสัมพันธ์ได้ และอาจทำให้ลูกน้อยในครรภ์มีโอกาสติดเชื้อได้ด้วย ซึ่งหากพบการติดเชื้อก็สามารถให้คู่สมรสรับวัคซีนป้องกันไว้ก่อนได้ และระมัดระวังวางแผนการตั้งครรภ์ให้เหมาะสม

ตรวจหาความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง (Hb Typing) : เป็นการตรวจหาความผิดปกติของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงที่เป็นสาเหตุของโรคธาลัสซีเมีย ซึ่งสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมถึงลูกได้ รวมถึงโรคที่รุนแรงที่อาจทำให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์ และเป็นอันตรายกับมารดาได้หากไม่ทราบก่อน

ตรวจหาภูมิคุ้มกันหัดเยอรมัน (Rubella IgG) : เป็นการตรวจภูมิคุ้มกันหัดเยอรมันเฉพาะในผู้หญิง เนื่องจากหากไม่มีภูมิคุ้มกัน และเกิดติดเชื้อในระหว่างตั้งครรภ์อาจทำให้ทารกมีความผิดปกติ เช่น หูหนวก ตาผิดปกติ การเจริญเติบโตและพัฒนาการผิดปกติ หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากพบว่ายังไม่มีภูมิคุ้มกัน ควรฉีดวัคซีนหัดเยอรมัน และคุมกำเนิดไว้อย่างน้อย 3 เดือนก่อน จึงค่อยเริ่มปล่อยให้ตั้งครรภ์ได้

ตรวจหาเชื้อซิฟิลิส VDRL (RPR) : ซึ่งสามารถติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ ซึ่งควรรักษาให้หายดีก่อน

ตรวจหาภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัสเอดส์ (Anti HIV) : เป็นการตรวจภูมิคุ้มกันของร่างกายที่สร้างขึ้นมาเมื่อมีเชื้อ HIV เข้าสู่ร่างกาย หากพบเชื้อจะได้หาทางรักษาและป้องกันได้ทันท่วงที เช่น การใช้ถุงยางอนามัย หรือการรับประทานยาป้องกันโรคชนิด PrEP เพื่อป้องกันการติดเชื้อไปสู่คู่รักหรือลูกในครรภ์ได้ รวมถึงการวางแผนมีบุตรโดยวิธีที่เสี่ยงกับคู่สมรสและกับบุตรให้น้อยที่สุด

นอกจากนี้ อาจทำการตรวจภายในเพิ่มเติมในฝ่ายหญิง เช่น ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก อัลตร้าซาวด์มดลูก รังไข่ ช่องท้อง ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ก็มีส่วนช่วยในการวางแผนอนาคตสำหรับคู่รักที่ต้องการสร้างครอบครัวได้ ทั้งยังช่วยสร้างความปลอดภัยและความมั่นใจสำหรับการมีลูกน้อยในวันข้างหน้าด้วย