อยาก(เริ่มต้น)ดูแลสุขภาพแล้วเห็นผล ต้องรู้จักร่างกายตัวเองก่อน
โรงพยาบาลเปาโล
07-พ.ย.-2565

เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ร่างกายก็เจ็บป่วยง่ายขึ้น กินเยอะนิดหน่อย...น้ำหนักก็เพิ่มขึ้นแบบง่ายๆ ทำให้เป้าหมายการดูแลสุขภาพกลายเป็นมิชชั่นใหม่ของใครหลายคน แน่นอนว่า “งดของทอด ลดของหวาน เพิ่มคาร์ดิโอ” เป็นกฎเหล็กที่เราต่างก็คุ้นเคยกันดี แต่รู้หรือไม่ว่า วิธีเดียวกัน...ผลลัพธ์ที่ได้ก็อาจไม่เหมือนกัน เพราะพื้นฐานเดิมของร่างกายคนเรานั้นแตกต่างกัน การรู้จักร่างกายของตัวเองจึงเป็นเหมือนเข็มทิศที่จะช่วยให้เรารู้ถึงแนวทางการดูแลสุขภาพในแบบฉบับที่ใช่ และการตรวจ Body Composition หรือองค์ประกอบของร่างกายนี่แหละ คือตัวช่วยในการค้นหาคำตอบแบบง่ายๆ แต่ให้ประโยชน์มากกว่าที่คิด


รู้ปริมาณ “มวลไขมันทั่วร่างกาย” ก็รู้ถึงแนวทางในการปรับการกิน

การตรวจเลือดอาจช่วยให้รู้ระดับไขมันในเลือด ในขณะที่การตรวจองค์ประกอบของร่างกายจะบอกได้ลึกกว่า เพราะช่วยให้รู้ว่าเรามีปริมาณมวลไขมันทั่วร่างกายเท่าไหร่ ไขมันสะสมในช่องท้องมากน้อยแค่ไหน เสี่ยงต่อการเกิดภาวะไขมันพอกตับที่อาจนำไปสู่ตับแข็งได้หรือเปล่า พร้อมทั้งยังชี้ให้เห็นด้วยว่า คุณเป็นคนที่ชอบกินอาหารกลุ่มไหนเป็นประจำ ของทอดที่ไขมันสูงๆ คาร์โบไฮเดรตแบบจุกๆ หรือเลิฟโปรตีนแบบเน้นๆ เพื่อวางแผนปรับโภชนาการ เลือกกินอาหารที่ดีต่อร่างกาย...ที่เหมาะสมกับสุขภาพภายในของตัวคุณ


“มวลกล้ามเนื้อ – อายุร่างกาย” สองคีย์หลักที่ช่วยให้การออกกำลังกายเห็นผล

อีกความน่าสนใจของการตรวจองค์ประกอบของร่างกาย คือทำให้เรารู้ “อายุร่างกาย” หรือพูดง่ายๆ ก็คือ รู้ว่าอัตราการเผาผลาญของร่างกายคุณเทียบเท่าคนอายุเท่าไหร่ เพราะอายุยิ่งมาก...ระบบการเผาผลาญก็ยิ่งทำงานลดลง เพราะฉะนั้น ต่อให้คุณอายุ 25 ปี แต่ถ้าอัตราการเผาผลาญเทียบเท่าคนอายุ 40 ปี การออกกำลังกายด้วยวิธีเดียวกัน ในระยะเวลาเท่ากัน ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะไม่เหมือนกันกับคนที่อายุร่างกาย 25 ปี หรือไม่...ก็อาจแทบไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย

แล้วเราจะเพิ่มอัตราการเผาผลาญของร่างกาย(ให้ตรงกับอายุจริง)ได้ยังไง? แน่นอนว่า “มวลกล้ามเนื้อ” คือพระเอกสำคัญที่เราต้องการ เพราะกว่า 80% ของการเผาผลาญเกิดขึ้นบริเวณเซลล์เนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ ซึ่งการตรวจองค์ประกอบของร่างกาย จะช่วยให้รู้ว่าในร่างกายเรามีปริมาณมวลกล้ามเนื้อต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่ บอกได้ถึงความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ...ที่มีผลต่อการเลือกวิธีการออกกำลังกายด้วยนั่นเอง 


“ปริมาณน้ำ” อีกค่าสำคัญ...ที่มีผลต่อสมรรถภาพร่างกาย

หนึ่งในค่าสำคัญที่เรารู้ได้จากการตรวจองค์ประกอบของร่างกาย คือ ปริมาณน้ำในร่างกาย ซึ่งไม่เพียงช่วยให้เรารู้ว่าควรดื่มน้ำวันละเท่าไหร่...เพิ่มขึ้นจากเดิมแค่ไหนถึงเหมาะสม โดยเฉพาะคนที่มีพฤติกรรมดื่มน้ำน้อยจนอาจเสี่ยงปัญหาสุขภาพ แต่ในเชิงของ Sports Nutrition นักกีฬาหรือคนที่ออกกำลังกายหนักๆ ก็จำเป็นต้องรู้ถึงปริมาณการดื่มน้ำที่เหมาะสม เพื่อป้องกันร่างกายสูญเสียเหงื่อมากกว่า 2% ของน้ำหนักตัว เพราะภาวะนี้จะส่งผลให้สมรรถภาพของร่างกายลดลงได้มากถึง 30% เลยทีเดียว 


ไม่ว่าคุณจะผ่านการฟังผลตรวจสุขภาพประจำปีมาแล้วกี่ครั้ง แน่นอนว่า “งดของทอดของมัน หันมาออกกำลังกายให้มากขึ้น” มักเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญที่คุณหมอแนะนำทิ้งท้ายเสมอ แต่เพราะสุขภาพภายในของเรานั้นมีความเฉพาะเจาะจง แนวทางการกินการออกกำลังกายที่เขาว่าดี...ก็เลยอาจไม่ได้ดีสำหรับเรา เพราะฉะนั้น ถ้ากำลังมีความคิดว่าอยากหันมาใส่ใจสุขภาพของตัวเองแบบจริงจัง การตรวจองค์ประกอบของร่างกายนี่ล่ะ คือจุดเริ่มต้นที่ใช่เลย!!