กิน อยู่ อย่างไร ห่างไกลโรคมะเร็ง
โรงพยาบาลเปาโล
07-เม.ย.-2563

ขึ้นชื่อว่า “มะเร็ง” ไม่ว่าใคร ก็คงไม่อยากเฉียดไปใกล้ แต่ไม่ว่าจะหนีอย่างไร เจ้ามะเร็งร้ายก็ดูเหมือนจะตามติดเราไปในทุกๆ ที่เสมอ เพราะถ้าจะกล่าวว่า... มะเร็งเป็นโรคที่เกิดการพฤติกรรมและการใช้ชีวิตก็ไม่ผิดนัก ดังนั้นถ้าอยากหนีและลดความเสี่ยงจากมะเร็งร้าย คุณเองก็ทำได้ แค่เอาชนะใจตัวเอง กับเคล็ดลับดีๆ ที่เราเอามาฝาก

  1. หยุดตามใจปาก
  2. “อาหารปิ้งย่าง” หนึ่งในเมนูยอดฮิตของคนไทยที่ไม่ว่าหันไปทางไหนก็หากินได้ง่ายซะเหลือเกิน ไม่ว่าจะหมูปิ้ง เมนูมื้อเช้าแสนสะดวก ที่ช่วยให้อิ่มง่ายๆ ในราคาย่อมเยา หรือบุฟเฟต์ปิ้งย่างที่โดนใจทุกเพศทุกวัย เนื้อหมูติดมันที่ย่างด้วยไฟร้อนๆ ไหม้เกรียมนิดๆ กรอบนอกนุ่มในกำลังดี ความอร่อยเหล่านี้ล้วนแฝงไปด้วยภัยอันตราย เพราะไขมันในเนื้อสัตว์ที่หยดลงไปโดนถ่านไฟจนเกิดเป็นควันนั้นเต็มไปด้วยสารพิษที่ก่อให้เกิดมะเร็ง การรับประทานเข้าไปในปริมาณมาก จะทำให้ร่างกายสะสมสารเหล่านี้ จนเกิดเป็นมะเร็งปอด มะเร็งเต้านม และมะเร็งกระเพาะอาหารได้

    “เมนูสำเร็จรูป” ในยุคที่ทุกอย่างเร่งรีบไปหมดแบบนี้ อาหารสำเร็จรูปจึงถูกยกให้เป็นเมนูประจำของใครหลายคน แต่รู้ไหมว่าในอาหารสำเร็จรูปนั้นเต็มไปด้วยสารกันบูด และมีปริมาณโซเดียมที่ค่อนข้างสูง ปริมาณโซเดียมที่มากเกินความต้องการของร่างกาย จะส่งผลให้ปริมาณโพแทสเซียมในร่างกายลดลง ซึ่งจะทำให้ภูมิต้านทานในร่างกายลดลงตามไปด้วย และการบริโภคอาหารสำเร็จรูปเป็นประจำก็จะทำให้ร่างกายสะสมสารเคมี จนก่อให้เกิดโรคได้

    “สารพัดอาหารแปรรูป และหมักดอง” เมนูเหล่านี้อาจช่วยให้มื้ออาหารของคุณมีรสชาติที่แตกต่างไปจากที่เคย แต่กว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการแปรรูป ก็ต้องมีการปรุงแต่งสีและรสไม่น้อยเลยทีเดียว ซึ่งสารเหล่านี้สามารถตกค้างในร่างกายทั้งสิ้น ดังนั้นถ้าไม่อยากเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งเป็นเงาตามตัว ควรเลือกบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ ลดปริมาณ หรือหลีกเลี่ยงอาหารที่กล่าวมาข้างต้น ก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งได้

  3. ห่างควันบุหรี่
  4. อย่างที่รู้กันอยู่แล้วว่า บุหรี่เต็มไปด้วยสารพิษและสารก่อมะเร็งกว่า 60 ชนิด ผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 10 เท่า ยิ่งสูบมาก สูบนาน ความเสี่ยงยิ่งเพิ่มสูงขึ้น มีรายงานจากหลายผลการศึกษาว่าการสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอด แต่ยังเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับ ลำไส้ใหญ่ กระเพาะปัสสาวะ ตลอดจนโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น วัณโรค โรครูมาตอยด์ โรคเส้นเลือดสมอง หรือสรุปโดยรวมว่า... การสูบบุหรี่จะเพิ่มโอกาสในการเป็นโรคมะเร็งได้มากถึง 12 อวัยวะ และโรคเรื้อรังอื่นๆ อีกกว่า 17 โรคเลยทีเดียว

    การรับควันบุหรี่มือสอง ก็อันตรายไม่แพ้กัน เพราะร้อยละ 30 ของคนที่พบว่าเป็นมะเร็งปอดเป็นคนที่ไม่ได้สูบบุหรี่ แต่ได้รับควันบุหรี่จากคนอื่นนั่นเอง นอกจากนี้สารพิษจากควันบุหรี่ยังสามารถตกค้างตามผิวหนัง เส้นผม เสื้อผ้า ตุ๊กตา พรม ผ้าม่าน ที่นอน และสถานที่ที่เคยมีการสูบบุหรี่ แม้ควันบุหรี่จะจางหายไปแล้วก็ตาม หยุดสูบบุหรี่กันตั้งแต่วันนี้ ถ้าไม่อยากเป็นเพื่อนซี้กับโรคมะเร็ง

  5. หนีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  6. สายปาร์ตี้ อาจไม่ถูกใจสิ่งนี้! แต่ความจริงยังไงก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ มีสารพัดงานวิจัยที่บอกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งตับ เพราะแอลกอฮอล์จะไปทำร้ายเซลล์ของตับ ทำให้เซลล์ของตับเสื่อมสภาพลง หรืออาจกระตุ้นให้เกิดภาวะไขมันพอกตับ ตับอักเสบ ตับแข็ง จนกลายเป็นมะเร็งในที่สุด

  7. พักผ่อนให้มีคุณภาพ
  8. จำนวนชั่วโมงของการพักผ่อนไม่ใช่สิ่งที่วัดคุณภาพของการพักผ่อนเสมอไป บางคนนอนแค่ 5-6 ชั่วโมง ก็สามารถตื่นขึ้นมาได้อย่างสดชื่น ขณะที่อีกคนนอนเท่าไหร่ก็ดูจะไม่เพียงพออยู่เสมอ นั่นเป็นเพราะคุณภาพในการนอนที่แตกต่างกัน เราไม่จำเป็นต้องกดดันตัวเองให้นอนพักผ่อนครบ 8 ชั่วโมง แต่เราควรปรับคุณภาพการนอนของเราให้ร่างกายได้สามารถพักผ่อนได้ดียิ่งขึ้น โดยการ

    • จัดห้องนอนให้เหมาะสม ห้องนอนควรมืดสนิทขณะนอนหลับ อุณหภูมิพอเหมาะ ไม่ร้อน-ไม่เย็นจนเกินไป และปราศจากเสียงรบกวน
    • ไม่นำโทรทัศน์ไว้ในห้องนอน เพราะแสงสว่างจากทีวีอาจทำให้ร่างกายยับยั้งการหลั่งของสารสื่อประสาทเมลาโทนิน ทำให้พักผ่อนได้ไม่เพียงพอ แต่หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ก็ควรปิดโทรทัศน์ให้เรียบร้อยก่อนการเข้านอน อย่าเปิดทิ้งไว้ขณะนอนหลับ
    • ลดปริมาณกาเฟอีนในแต่ละวัน เพราะกาเฟอีนมีฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ร่างกายเกิดความตื่นตัว การรับปริมาณกาเฟอีนที่มากเกินความต้องการของร่างกาย จะยิ่งส่งผลให้คุณภาพการนอนกลับลดน้อยลงตามไปด้วย
    • หากเข้านอนผ่านไป 30 นาทีแล้วยังไม่หลับ ก็ให้หากิจกรรมผ่อนคลายทำ จนกว่าจะรู้สึกง่วงนอนแล้วจึงกลับเข้าไปนอนอีกครั้ง อย่าฝืนนอน และอย่ากดดันตัวเอง
    • เข้าห้องน้ำให้เรียบร้อยก่อนเข้านอน และไม่ควรดื่มน้ำก่อนนอนในปริมาณที่มากเกินไป เพื่อป้องกันการตื่นมาเข้าห้องน้ำกลางดึก ซึ่งอาจขัดจังหวะการหลับลึกของร่างกาย
  9. รีเฟรชจิตใจให้แจ่มใสอยู่เสมอ
  10. เพราะความเครียด เป็นเหมือนของหวานที่มะเร็งชื่นชอบ ดังนั้นเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจในแต่ละวัน ควรหากิจกรรมเพื่อผ่อนคลายความเครียดหรือความกังวล หากมีปัญหาที่ยังค้างคาไม่สามารถแก้ไขได้ในวันนี้ ลองใช้วิธีเขียนปัญหาลงบนกะดาษสักแผ่น แล้วหายใจเข้าให้ลึก ผ่อนลมหายใจยาวๆ สัก 2-3 ครั้ง เพื่อผ่อนความคิดที่ตึงเครียดให้เบาบางลง ซึ่งจะช่วยให้อัตราการเต้นของหัวใจคุณช้าลง สมองโล่งขึ้น จากนั้นหากิจกรรมที่ชื่นชอบ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง เล่นโยคะ หรือนั่งสมาธิ เพื่อรีเฟรชสมองและจิตใจของคุณให้พร้อมที่จะเริ่มต้นใหม่ในวันพรุ่งนี้ เมื่อถึงวันรุ่งขึ้นค่อยหาทางแก้ปัญหาต่อไป