เนื้องอกมดลูก รักษาหรือผ่าตัดทิ้ง
โรงพยาบาลเปาโล
22-มิ.ย.-2564
  เนื้องอกมดลูก (Myoma Uteri หรือ Uterine Fibroid) เป็นโรคของกล้ามเนื้อมดลูก เกิดจากการเปลี่ยนแปลงเซลล์กล้ามเนื้อของมดลูกที่ผิดปกติ อาจเกิดในเนื้อมดลูกหรืออยู่ในโพรงมดลูก หรือโตเป็นก้อนนูนออกมาจากตัวมดลูก และผู้ป่วยอาจคลำพบได้ เนื้องอกมดลูกส่วนใหญ่ไม่ใช่เนื้อร้าย โดยจะพบว่ากลายเป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็งไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ก้อนเนื้องอกอาจเกิดเป็น 1 ก้อนใหญ่หรือก้อนเล็กๆ หลายก้อน และเมื่อก้อนเนื้องอกโตขึ้นจะไปกดทับอวัยวะบริเวณใกล้เคียงจนส่งผลแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา แต่ก็มีในบางรายที่เนื้องอกมดลูกไม่โตขึ้นและไม่ก่อให้เกิดอาการใดๆ โดยเนื้องอกมดลูกพบมากในสตรีวัยเจริญพันธุ์อายุประมาณ 30-50 ปี

เนื้องอกมดลูกเกิดจากอะไร

ปัจจุบันในทางการแพทย์นั้นยังไม่พบสาเหตุที่แท้จริง แต่พบว่ามีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งสร้างในรังไข่ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมหญิงวัยเจริญพันธุ์จึงมีอัตราการเกิดเนื้องอกในมดลูกสูง และเนื้องอกมักจะฝ่อตัวเล็กลงหลังจากเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน

เนื้องอกมดลูกมีกี่แบบ

เนื้องอกมดลูกแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้

  • เนื้องอกในกล้ามเนื้อ (Intramural fibroid) คือ การเติบโตของก้อนเนื้องอกบริเวณภายในกล้ามเนื้อมดลูก ซึ่งเป็นตำแหน่งที่พบก้อนเนื้องอกได้บ่อยที่สุด
  • เนื้องอกที่ผิวด้านนอกมดลูก (Subserosal fibroid) คือ เนื้องอกที่อยู่ในตำแหน่งที่เมื่อเนื้องอกโตขึ้นแล้วดันออกมาที่ผิวด้านนอกมดลูก
  • เนื้องอกที่โพรงมดลูก (Submucosal fibroid) คือ เนื้องอกที่อยู่ในตำแหน่งที่เมื่อเนื้องอกโตขึ้นแล้วดันเข้าไปในโพรงมดลูก โดยยังอยู่ใต้เยื่อบุมดลูก ซึ่งอาจทำให้โพรงมดลูกเบี้ยวไปจากเดิมได้

ประจำเดือนแปลกไป สัญญาณร้ายเนื้องอกมดลูก

ประจำเดือนผิดปกติอาจเป็นสัญญาณของหลายๆ โรค ในส่วนของเนื้องอกมดลูกนั้นอาจทำให้ประจำเดือนมามากและนานขึ้น มีลิ่มเลือดหรือเป็นก้อนปนออกมา มีการปวดที่เพิ่มขึ้น หรือในบางกรณี อาจมีอาการปวดคล้ายปวดประจำเดือนทั้งที่ไม่ได้มีประจำเดือน

อาการที่อาจเป็นเนื้องอกมดลูก

กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ที่มีเนื้องอกมดลูกมักจะไม่มีอาการ อาจเป็นเพราะว่ามีเนื้องอกที่มีขนาดเล็ก แต่สามารถตรวจพบเนื้องอกได้จากการตรวจสุขภาพด้วยการตรวจภายในหรืออัลตราซาวด์ และนอกจากอาการเกี่ยวกับประจำเดือนที่กล่าวมาแล้ว ยังมีอาการที่พบได้บ่อย ดังนี้
  • มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด หรือมีเลือดประจำเดือนออกมากขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป มีอาการซีดโดยไม่รู้ตัว
  • รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เป็นลมบ่อย
  • ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะไม่สุด อาจเกิดจากก้อนเนื้องอกไปกดเบียดกระเพาะปัสสาวะ
  • ท้องผูก อาจเกิดจากก้อนเนื้องอกไปกดเบียดลำไส้ใหญ่ส่วนปลายที่ต่อกับทวารหนัก หรือกดบริเวณทวารหนัก อาจมีอาการท้องอืด รู้สึกท้องโตขึ้นเรื่อยๆ
  • เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ ทั้งที่ไม่เคยเจ็บ
  • คลำพบก้อน แม้อาจไม่มีอาการ แต่อาจคลำพบก้อนบริเวณอุ้งเชิงกรานหรือช่องท้อง เนื่องจากก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่
  • มีบุตรยากและแท้งบุตร เนื่องจากก้อนเนื้องอกยื่นเข้าไปในโพรงมดลูก เกิดการอุดตันของท่อนำไข่หรือขัดขวางการฝังตัวของตัวอ่อน

ตรวจพบเร็วรักษาไวโอกาสหายมากขึ้น

เมื่อผู้ป่วยเข้ามาพบแพทย์ด้วยมีอาการที่อาจสงสัยว่าจะเป็นเนื้องอกมดลูก แพทย์จะทำการซักประวัติ และสอบถามถึงอาการต่างๆ พร้อมกับทำการตรวจภายใน การตรวจด้วยการคลำ และทำอัลตราซาวด์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง เนื่องจากการทำอัลตร้าซาวด์) ทางหน้าท้องหรือทางช่องคลอด สามารถบอกตำแหน่งและขนาดของก้อนเนื้องอกได้ ว่าเป็นเนื้องอกที่มดลูกหรือเป็นก้อนจากโรคอื่น

วิธีการรักษาเนื้องอกมดลูก

การรักษาเนื้องอกมดลูก ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ขนาดของเนื้องอกในมดลูก และความต้องการมีบุตรที่จำเป็นต้องรักษามดลูกไว้ไม่ตัดทิ้ง หากเนื้องอกมีขนาดเล็กมักเริ่มรักษาด้วยการทานยาแก้ปวด แต่ถ้าเนื้องอกมีขนาดใหญ่และอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิต แพทย์จะพิจารณาทำการผ่าตัด ซึ่งอาจจะผ่าตัดเอาเฉพาะเนื้องอกออก หรือตัดมดลูกออกทั้งหมด กรณีผ่าตัดเนื้องอกและมดลูกออกหมดจะทำให้การรักษาหายขาดเหมาะสำหรับผู้ที่มีบุตรเพียงพอหรืออายุมาก แต่หากผ่าตัดเลาะเฉพาะก้อนเนื้องอก มีโอกาสกลับมาเป็นเนื้องอกในมดลูกใหม่ได้ ซึ่งทั้งการรักษาด้วยยาและการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเนื้องอกในมดลูกนั้น มีดังนี้
  • การฉีดสารเพื่ออุดเส้นเลือดให้เนื้องอกฝ่อ
เป็นวิธีการรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัดโดยใช้เทคนิคทางรังสีวิทยา ใช้กับเนื้องอกที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก ทำโดยสอดสายผ่านหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบไปจนถึงเนื้องอก แล้วฉีดสารที่ทำให้หลอดเลือดอุดตัน ก้อนเนื้องอกที่ขาดเลือดจะฝ่อลงไปได้เอง
  • การผ่าตัดนำเฉพาะเนื้องอกออก
ใช้กับผู้ป่วยที่ยังต้องการจะมีบุตรในอนาคต โดยมีหลายวิธี เช่น การผ่าตัดส่องกล้องทางช่องคลอด ผ่าตัดแบบเปิดผนังท้องแบบแผลเล็ก วิธีนี้อาจจะไม่สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยทุกราย เนื่องจากความรุนแรงของโรคว่าจำเป็นต้องตัดมดลูกออกหรือไม่
  • การผ่าตัดนำมดลูกออก
เป็นทางเลือกหนึ่งซึ่งจะพิจารณาใช้ในกรณีมดลูกมีอาการรุนแรงหรือความผิดปกติมาก และผู้ป่วยไม่ต้องการมีบุตรเพิ่มในอนาคต การผ่าตัดทำได้หลายวิธี เช่น การผ่าตัดเอามดลูกออกทางช่องคลอด การผ่าตัดมดลูกผ่านกล้อง การผ่าตัดมดลูกเปิดผนังหน้าท้องแผลเล็ก และการผ่าตัดมดลูกแบบเปิดแผลหน้าท้องแบบเดิม

ลดความเสี่ยงการเป็นเนื้องอกมดลูก

อย่างที่ทราบกันว่าการเกิดเนื้องอกมดลูกมีความสัมพันธ์กับพันธุกรรมและฮอร์โมนเพศหญิง ดังนั้นการดูแลสุขภาพไม่ให้น้ำหนักเกินจนอ้วนไป หรือการทานน้อยจนผอมไป หรือทำงานและใช้ชีวิตด้วยความเครียด จะส่งผลทำให้ต่อมใต้สมองหลั่งฮอร์โมนไปควบคุมการทำงานของรังไข่ไม่เป็นปกติ ฉะนั้นการดูแลสุขภาพโดยรวมจะช่วยให้การทำงานของฮอร์โมนเป็นไปอย่างปกติ ส่งผลให้อวัยวะต่างๆ ทำงานได้ดี รวมถึงมดลูกและรังไข่มีสุขภาพที่ดี ลดความเสี่ยงการเป็นเนื้องอกได้ทางหนึ่ง