-
โรคอ้วนในเด็ก...เรื่องไม่เล็กที่พ่อแม่ควรระวัง!
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
30-ม.ค.-2567

โรคอ้วนในเด็ก...เรื่องไม่เล็กที่พ่อแม่ควรระวัง!

โรคอ้วนในเด็กในปัจจุบัน พบว่ามีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเด็กในปัจจุบันที่เปลี่ยนไป ทั้งการทานอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ด หรือการเคลื่อนไหวร่างกายที่น้อยลง แต่ปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ หากคุณพ่อคุณแม่มีความเข้าใจและดูแลลูกอย่างถูกวิธี

 

ทำความรู้จัก “โรคอ้วน”

ภาวะที่ร่างกายมีไขมันสะสมเกินปกติ ทำให้ส่งผลต่อสุขภาพและอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาในอนาคตได้ โดยในประเทศไทยจะพบว่ามีเด็กที่เป็นโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กในวัยเรียนหรือเด็กอายุประมาณ 6-14 ปี

 


สาเหตุของโรคอ้วนในเด็ก

  • ปัจจัยทางด้านพันธุกรรม : เช่น มีพ่อหรือแม่เป็นโรคอ้วน หรืออาจมีโรคทางต่อมไร้ท่อต่างๆ
  • ปัจจัยทางด้านบริโภค : มักเกิดจากการบริโภคที่ไม่เหมาะสม เช่น การบริโภคอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ด อาหารที่มีเป็นแป้ง น้ำตาล และไขมันจำนวนมาก รวมถึงอาหารสำเร็จรูปหรืออาหารแปรรูปต่างๆ ที่มีส่วนผสมของผงชูรสอยู่มาก
  • ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน เช่น ออกกำลังกายน้อยลง อยู่กับหน้าจอมากขึ้น หรือไม่ค่อยได้มีการเคลื่อนไหวร่างกาย ทั้งหมดนี้จึงทำให้เกิดความไม่สมดุลกันระหว่างพลังงานที่เราได้จากอาหาร กับการใช้พลังงานของร่างกาย ส่งผลให้มีการสะสมในร่างกายมากเกินไป

 

มื่อพบว่าเด็กมีภาวะอ้วน ควรทำอย่างไร?

ซักประวัติตรวจร่างกาย โดยจะถามเกี่ยวกับอาหารที่เด็กบริโภคอย่างละเอียดทั้งชนิดของอาหารและปริมาณ หรือถามเกี่ยวกับชีวิตประจำวันว่ามีกิจวัตรในแต่ละวันเป็นอย่างไรบ้าง รวมถึงอาการผิดปกติอื่นๆ ที่พบ เช่น ลมหายใจมีเสียงขณะนอนหลับ นอนกรน มีอาการปวดเข่าหรือปวดข้อเท้า และตรวจร่างกาย เช่น ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง และตรวจร่างกายทุกระบบตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า

 


การวินิจฉัยโรคอ้วนในเด็ก

การวินิจฉัยโรคอ้วนในเด็กสามารถแบ่งเกณฑ์การวัดได้ออกเป็น 2 เกณฑ์ ได้แก่

  • มีน้ำหนักเกินหรือเริ่มอ้วน (Overweight) : น้ำหนักของเด็กมีค่าสูงกว่าค่ามัธยฐานตามเกณฑ์ส่วนสูงของเด็ก หากมีค่าเกิน 2-3 เท่าค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน จะถือว่าเด็กเริ่มมีน้ำหนักเกินหรือเริ่มอ้วน
  • เป็นโรคอ้วน (Obesity) : น้ำหนักของเด็กจะมีค่าสูงกว่าค่ามัธยฐานตามเกณฑ์ส่วนสูงของเด็ก โดยหากมีค่าเกิน 3 เท่าของค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน จะถือว่าเด็กเป็นโรคอ้วน (หรือดูที่ค่า BMI = น้ำหนัก(กก.) หารด้วยส่วนสูง(ม2))

 

เกณฑ์การวัดระดับของโรคอ้วนในเด็ก

แพทย์จะดูจากค่าร้อยละของน้ำหนัก อ้างอิงตามเกณฑ์ส่วนสูง (%Weight for Height, %WH)

  • หากมีค่ามากกว่า 120-140 จะถือว่ามีน้ำหนักเกินหรือเริ่มอ้วน
  • หากมีค่ามากกว่า 140 - 200 จะถือว่าเป็นโรคอ้วน
  • หากมีค่ามากกว่า 200 ขึ้นไป จะถือว่าเป็นโรคอ้วนรุนแรง

 


โรคอ้วนในเด็ก...ส่งผลต่อระบบภายในร่างกายอย่างไรบ้าง?

  • ระบบทางเดินหายใจ : มีภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น นอนกรน
  • ระบบหัวใจและหลอดเลือด : ความดันโลหิตสูง
  • ระบบต่อมไร้ท่อ : เกิดภาวะต่อต้านอินซูลิน ก่อให้เกิดโรคเบาหวาน หรือกลุ่มอาการของเมแทบอลิก
  • ระบบทางเดินอาหารและตับ : กรดไหลย้อน ไขมันสะสมที่ตับ หรือนิ่วในถุงน้ำดี
  • ระบบกล้ามเนื้อและกระดูก : อาจก่อให้เกิดภาวะขาโก่ง หรือกระดูกเปราะหักง่าย
  • ระบบผิวหนัง : จะก่อให้เกิดรอยปื้นสีน้ำตาลเข้มบริเวณหลังคอ จากการที่ร่างกายดื้อต่ออินซูลิน หรือรอยแตกลายตามบริเวณต่างๆ ของร่างกาย
  • สภาวะจิตใจ : โดยอาจเกิดจากการโดนล้อเลียน ทำให้เด็กเกิดสูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเอง หรือเป็นภาวะซึมเศร้าได้

 

วิธีการรักษาโรคอ้วนในเด็ก

การรักษาจำเป็นต้องดูจากระดับความรุนแรงของโรคอ้วนว่าอยู่ในเกณฑ์ใด เนื่องจากการรักษาในแต่ละระดับจะมีความแตกต่างกัน เช่น

1. หากเด็กมีน้ำหนักเกินไม่มากหรือเข้าข่ายเป็นโรคอ้วน อาจให้เด็กควบคุมน้ำหนักโดยการเลือกทานอาหาร
2. หากอยู่ในเกณฑ์มีน้ำหนักเกินหรือเริ่มอ้วน จะให้ความสนใจไปที่ต่อมพันธุกรรมและต่อมไร้ท่อก่อน
3. หากอยู่ในเกณฑ์ที่เป็นโรคอ้วน ก็จะทำการดูที่อายุว่ามีอายุน้อยกว่า 7 ปี หรือมากกว่า 7 ปี

           - หากน้อยกว่า 7 ปี ก็จะติดตามภาวะแทรกซ้อนด้วย เช่น มีภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น เบาหวานหรือไม่ หากพบว่าไม่มีภาวะแทรกซ้อน ก็จะแนะนำเกี่ยวกับโภชนาการ การบริโภคอาหาร และติดตามน้ำหนักส่วนสูงของเด็กทุก 2-6 เดือน แต่หากพบว่ามีภาวะแทรกซ้อน จำเป็นจะต้องให้ความสำคัญกับการตรวจร่างกายเป็นพิเศษ เช่น เจาะเลือดเพื่อหาค่าน้ำตาล หรือไขมันในร่างกาย ในบางรายอาจต้องอัลตร้าซาวด์เพื่อดูว่ามีภาวะไขมันพอกตับหรือไม่ ถ้าตรวจแล้วเจอความผิดปกติต่างๆ แพทย์ก็จะตั้งเป้าการลดน้ำหนักให้กับเด็ก โดยลด 5-10% ของน้ำหนัก ณ ขณะนั้น เฉลี่ย 0.5-1 กก./เดือน และติดตามน้ำหนักส่วนสูงของเด็กทุก 2-6 เดือน
           - หากมากกว่า 7 ปี ก็จะตรวจดูภาวะแทรกซ้อนเช่นกัน หากพบว่าไม่มีภาวะแทรกซ้อน ก็จะแนะนำเกี่ยวกับการบริโภคอาหาร และติดตามน้ำหนักส่วนสูง

 


รู้ไว้ไม่เสียหาย...วิธีลดความเสี่ยงโรคอ้วนในเด็ก

  • ควรให้เด็กทานนมแม่อย่างเดียว เนื่องจากสัดส่วนของสารอาหารภายในนมแม่ครบถ้วนและเหมาะสมกว่า
  • หากเด็กเริ่มโต ควรให้เด็กลดการบริโภคเกี่ยวกับอาหารที่ให้พลังงานสูง เช่น อาหารที่มีส่วนผสมของแป้ง ไขมัน หรือน้ำตาลเยอะ
  • ควรรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผักผลไม้ที่ไม่หวาน ข้าวกล้อง หรือข้าวซ้อมมือ เป็นต้น
  • ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ทั้ง 3 มื้อ ที่สำคัญไม่ควรงดทานอาหารมื้อเช้า เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายจะได้รับสารอาหารสำคัญ
  • หลีกเลี่ยงการทานน้ำอัดลม หรือขนมขบเคี้ยว
  • ออกกำลังกายอย่างน้อย สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง วันละ 30-60 นาที
  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ไม่เคลื่อนไหว หรืออยู่กับหน้าจอนานเกินไป

ที่สำคัญ การที่ครอบครัวสร้างวินัย หรือเป็นตัวอย่างที่ดีเกี่ยวกับการบริโภคอาหารหรือการออกกำลังกาย ก็จะเป็นการเสริมสร้างแบบอย่างที่ดี ที่ลูกสามารถทำตามได้โดยที่ไม่คิดว่าถูกบังคับหรือลงโทษ

 

แม้ความอ้วนของเด็กจะน่ารักเพียงใด แต่ความน่ารักนี้ก็มีอันตรายกว่าที่คิด ซึ่งโรคอ้วนในเด็กจะส่งผลเสียต่อร่างกายได้หากปล่อยไว้ ดังนั้นผู้ปกครองจึงควรหมั่นสังเกตหรือควบคุมสารอาหารที่ลูกได้รับให้มีประโยชน์อย่างเพียงพอก็สามารถหลีกเลี่ยงโรคอ้วนในเด็กได้ หรือหากลูกมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วนหรือมีภาวะอ้วนแล้ว การปรึกษากุมารแพทย์เพื่อรับคำแนะนำเพิ่มเติมก็สามารถช่วยให้ลูกพ้นจากโรคอ้วนได้เช่นกัน

บทความโดย

แพทย์หญิงกมลลักษณ์ อนันต์นิธิวุฒิ

แพทย์ประจำสาขากุมารเวชทั่วไป

โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ


สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม

แผนก กุมารเวชกรรม อาคาร 1 ชั้น 2
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร 02-363-2000 ต่อ 2209-2210
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn