-
เด็กสมาธิสั้น...อาการที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรละเลย
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
27-มี.ค.-2566

เด็กสมาธิสั้น...อาการที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรละเลย

แต่เดิมนั้น เด็กสมาธิสั้นจะพบได้มากในกลุ่มอายุไม่เกิน 7 ปี แต่ในปัจจุบันเกณฑ์การวินิจฉัยได้เปลี่ยนไปเป็นอายุไม่เกิน 12 ปี เนื่องจากมีการพบว่าผู้ใหญ่ก็สามารถเกิดโรคสมาธิสั้นได้ จากสถิติแล้วอาการสมาธิสั้นสามารถพบได้ถึงร้อยละ 8 ในประชากรเด็ก ตัวอย่าง เช่น ถ้าเด็กในห้องเรียนมี 50 คน จะพบเด็กสมาธิสั้นได้ราว 4 คน หรือมากกว่า แต่ทั้งนี้เด็กสมาธิสั้นสามารถหายได้จากการรักษาในหลายๆ วิธี หากคุณพ่อคุณแม่รู้เท่าทันอาการของโรคก็สามารถช่วยให้ลูกมีสมาธิที่ดีขึ้น และผ่านช่วงเวลาหนักๆ ไปได้อย่างมีความสุข

 

สาเหตุของการเกิดโรคสมาธิสั้นในเด็ก

เกิดจากสารเคมีในสมองที่ไม่สมดุล ซึ่งโดยปกติสมองส่วนหน้าในเด็กจะหลั่งสารเคมีชนิดหนึ่งที่ช่วยให้เด็กมีสมาธิที่ยาวนานขึ้น และสามารถควบคุมพฤติกรรมตัวเองได้ดีขึ้น แต่ในเด็กที่สมาธิสั้นจะหลั่งสารชนิดนี้ออกมาน้อย หรืออาจหลั่งสารออกมาแต่เกิดการสลายตัวเร็วเกินไป จึงทำให้เกิดอาการสมาธิสั้นได้ ทั้งนี้สาเหตุการเกิดสมาธิสั้นยังอาจเกิดได้จาก

  1. พันธุกรรม โดยพบว่าเด็กที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นสมาธิสั้นจะมีโอกาสเป็นสมาธิสั้นได้มากกว่าเด็กอื่นๆ 3-4 เท่า
  2. ผลจากการเลี้ยงดู อย่างสื่อทางจอสามารถเป็นปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เด็กสมาธิสั้นมีอาการมากขึ้นได้
  3. ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม ทั้งหลังจากที่เด็กคลอดแล้วหรืออยู่ในครรภ์ เช่น คุณแม่มีการดื่มสุรา สูบบุหรี่ หรือได้รับสารพิษจำพวกยาฆ่าแมลงในระหว่างตั้งครรภ์ หรือหลังจากคลอดแล้วเด็กยังได้รับสารจำพวกนี้อยู่ ก็อาจจะส่งผลต่อสมองของเด็ก รวมถึงความเครียดของคุณแม่ในระหว่างตั้งครรภ์ก็สามารถส่งผลให้เด็กที่เกิดมามีสมาธิสั้นได้ด้วย

 


สัญญาณและอาการของ...เด็กสมาธิสั้น

เด็กซนผิดปกติ : เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ควรซน เด็กที่สมาธิสั้นจะไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของตัวเองได้ หรืออาจควบคุมได้แค่ระยะเวลาหนึ่ง หลังจากนั้นจะกลับมาเป็นตัวของตัวเอง การซนแบบผิดปกตินี้คือการซนที่รบกวนหรือก่อความเสียหายให้กับผู้อื่น

สติปัญญาบกพร่อง : เด็กจะเรียนรู้ช้าในทุกด้าน ทักษะการแก้ปัญหาไม่ดี ช่วยเหลือตัวเองได้ไม่ดี ส่วนใหญ่เด็กที่มีสติปัญญาบกพร่องจะพบว่ามีปัญหาเกี่ยวกับสมาธิจดจ่อไม่ค่อยดี เช่น เวลาเรียนสิ่งต่างๆ ที่ยากขึ้นอาจมีการเหม่อ นั่งนิ่ง หรือตามสิ่งที่เรียนอยู่ไม่ทัน

ภาวะเรียนรู้บกพร่องเฉพาะด้าน : เป็นโรคร่วมที่อาจเกิดขึ้นในเด็กสมาธิสั้นได้ โดยอาการนี้จะเกี่ยวกับการบกพร่องในทักษะใดทักษะหนึ่ง เช่น มีทักษะการแก้ปัญหา ช่วยเหลือตนเองและเข้าสังคมได้ดี เด็กจะสามารถทำได้ดีด้านนั้นๆ แต่พอเจอทักษะที่บกพร่อง เช่น ทักษะวิชาการ หรือทักษะที่ต้องใช้การอ่าน เด็กที่สมาธิสั้นจะพยายามหลีกเลี่ยงทักษะนั้นๆ

มีภาวะออทิซึ่ม : เป็นภาวะที่มีปัญหาทางด้านพัฒนาการ บกพร่องทักษะการเข้าสังคม โดยส่วนใหญ่จะสังเกตได้ตั้งแต่เด็กยังเล็กๆ โดยมีอาการพูดช้า ไม่มองหน้าสบตา ไม่เล่นกับผู้อื่น อยู่ในโลกส่วนตัวของตนเอง มีพฤติกรรมซ้ำๆ เช่น เล่นของเล่นซ้ำๆ มองหรือเล่นวัตถุที่มีลักษณะหมุนๆ ซ้ำๆ เป็นเวลานานเกินปกติ รวมถึงไม่เข้าใจอารมณ์ หรือความรู้สึกของผู้อื่นแม้ว่าพยายามอย่างเต็มที่แล้ว

ภาวะบกพร่องทางการสื่อสาร : ภาวะนี้อาจเจอไม่บ่อยนัก แต่สามารถพบร่วมกับอาการของเด็กสมาธิสั้นได้ โดยเป็นอาการที่เด็กมีทักษะการสื่อสารที่ไม่ดี ทั้งๆ ที่สติปัญญาไม่ได้มีปัญหา เช่น พูดไม่ชัด พูดวกวน ไม่สามารถเล่าเรื่องที่ยาวหรือบอกความต้องการของตนเองได้

โรคทางกาย : เด็กมีปัญหาเกี่ยวกับโรคลมชัก (อาการชักบางชนิดที่เป็นเหมือนเหม่อแล้วนิ่งไปสักพักแล้วจึงกลับมาปกติ) ความผิดปกติของไทรอยด์ เช่น โรคไทรอยด์สูง โรคโลหิตจางเป็นระยะเวลานานที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรคธาลัสซีเมีย หรือโรคภูมิแพ้ที่ต้องใช้ยาบางชนิดที่มีผลต่อสมาธิ

มีปัญหาเกี่ยวกับการนอน : มีปัญหาการนอนกรน หรือภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่พอ โดยส่วนใหญ่อาการเหล่านี้จะพบในเด็กที่มีน้ำหนักเกิน ในกรณีที่นอนไม่พอจะพบในเด็กวัยรุ่นที่นอนดึกตื่นเช้า เนื่องจากต้องไปโรงเรียน ทำให้มีผลต่อสมาธิในการเรียน

อาการที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ล้วนเป็นอาการเกี่ยวข้องกับอาการของเด็กสมาธิสั้นทั้งสิ้น บางอาการอาจไม่ได้แสดงถึงเด็กที่มีสมาธิสั้นโดยตรง แต่เป็นอาการที่หากปล่อยไว้อาจทำให้เด็กเกิดอาการสมาธิสั้นได้

 

โรคที่มักเป็นร่วมในเด็กสมาธิสั้น

เมื่อสังเกตอาการของเด็กที่อาจมีสมาธิสั้นแล้ว ควรที่จะสังเกตอาการของโรคร่วมที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กที่มีสมาธิสั้นด้วย โดยโรคที่อาจเกิดร่วมกับเด็กสมาธิสั้นที่คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการไว้ ได้แก่

  1. โรคซึมเศร้า
  2. โรควิตกกังวล
  3. โรคย้ำคิดย้ำทำ
  4. บกพร่องทางการเรียนรู้
  5. ออทิสติก
  6. โรคอ้วน
  7. โรคดื้อต่อต้าน
  8. โรคเกเร
  9. Tics (มีปัญหาด้านการกระตุก เช่น บริเวณตาและปาก)
  10. ปัสสาวะรดที่นอน
  11. โรคลมชัก
  12. โรคภูมิแพ้

 


เด็กสมาธิสั้น รักษาอย่างไร?

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม

วิธีนี้เป็นการฝึกให้เด็กสมาธิสั้นได้ค่อยๆ ฝึกสมาธิ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทีละนิด ซึ่งจะทำให้เด็กมีสมาธิที่ดีขึ้นได้ เช่น

  1. ผู้ปกครองพยายามทำความเข้าใจโรคสมาธิสั้น โดยการปรับพฤติกรรมโดยไม่ใช้การลงโทษที่รุนแรง และต้องทำเป็นแนวทางเดียวกันทั้งครอบครัว อีกทั้งต้องอาศัยความสม่ำเสมอและความต่อเนื่องด้วย
  2. ให้เด็กมีกิจกรรมที่ต้องออกกำลังกาย หรือใช้แรงในทางสร้างสรรค์ เช่น ช่วยทำงานบ้าน ออกกำลังกาย อาทิ เตะฟุตบอล ปั่นจักรยาน เป็นต้น
  3. กำหนดตารางเวลากิจวัตรประจำวันให้เป็นระเบียบแบบแผน
  4. จัดสิ่งแวดล้อมภายในบ้านไม่ให้มีสิ่งเร้ามากเกินไป
  5. ฝึกให้เด็กจดจ่ออยู่กับสิ่งหนึ่งต่อเนื่องเป็นเวลา 30 นาที โดยไม่ทำอย่างอื่น เริ่มจากกิจกรรมที่เด็กชอบ เช่น ต่อเลโก้ ปั้นแป้ง และหลีกเลี่ยงการใช้สื่อทางหน้าจอ

การรักษาด้วยยา

การรักษาด้วยยากลุ่ม Methylphenidate หรือ Atomoxetine วิธีนี้เป็นวิธีที่ได้ประสิทธิภาพดีและเห็นผลได้เร็วกว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยตัวยากลุ่มนี้จะเป็นตัวที่ไปทำให้สารเคมีในสมองที่หลั่งออกมานั้นสลายตัวช้าลง เด็กจะสามารถควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น ส่วนใหญ่แล้วเด็กที่ได้รับยาจะมีอาการที่นิ่งขึ้น ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการกดการทำงานของสมองแต่อย่างใด แต่เป็นการที่ตัวยาออกฤทธิ์เพื่อให้เด็กมีสมาธิมากยิ่งขึ้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรสอนเด็กที่อยู่ในช่วงนั้น เพราะเด็กจะสามารถรับรู้ได้ดีกว่าปกติ

ผลข้างเคียงของการรักษาด้วยยา อาจมีเบื่ออาหาร น้ำหนักลด นอนหลับยาก ใจสั่น วิงเวียนศีรษะ อาเจียน ปวดท้อง หรือมีอาการขี้ใจน้อย ขี้กลัว ซึ่งอาการเหล่านี้จะเป็นในแค่ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรกของการกินยา แต่เมื่อผ่านไปสักระยะหนึ่งอาการเหล่านี้จะหายไป และหากมีอาการแพ้ยา เช่น ตาพร่ามัว หรือมีผื่นขึ้น ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน

การรักษาด้วยวิธีแพทย์ทางเลือก

วิธีนี้จะเป็นการรักษา เช่น จำกัดอาหาร การเลือกรับประทานอาหาร หรือออกกำลังกาย เป็นต้น แต่ยังไม่มีการยืนยันด้วยผลงานวิจัย อาจสามารถใช้ได้ผลกับเด็กในบางคนเท่านั้น

 

เด็กสมาธิสั้น...สามารถหายเองได้หรือไม่?

โดยทั่วไปแล้วประมาณครึ่งหนึ่งของเด็กที่สมาธิสั้นสามารถหายเองได้เมื่อผ่านอายุ 12 ปีขึ้นไป แต่คุณพ่อคุณแม่ยังคงต้องดูแลและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กที่ดีขึ้นจากสมาธิสั้นอยู่ เพียงแต่ไม่จำเป็นต้องกินยาเมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่ก็ยังมีเด็กอีกครึ่งหนึ่งที่อาการดีขึ้นแต่ยังคงต้องกินยาแม้จะโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว

 


หากไม่รักษาจะเกิดอะไรขึ้นกับเด็ก?

หากคุณพ่อคุณแม่ปล่อยไว้โดยที่เด็กสมาธิสั้นไม่ได้รับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือรับการรักษา รอเผื่อว่าอาการเด็กสมาธิสั้นจะหายไปเอง อาจเกิดผลเสียที่เกิดจากพฤติกรรม ดังนี้

  1. ไม่ประสบความสำเร็จในการเรียนเท่าที่ควร หรือเรียนได้ไม่เต็มศักยภาพ
  2. เด็กอาจถูกทำโทษบ่อยๆ เนื่องจากพฤติกรรมจากสมาธิสั้น
  3. เด็กอาจมีความรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า หรือด้อยค่าตัวเองได้
  4. มีปัญหาการเข้าสังคม
  5. มีความเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย หรือติดสารเสพติด
  6. มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุบัติเหตุ

 

เด็กสมาธิสั้นไม่ใช่เด็กที่เป็นโรคร้ายแรงอะไร แต่เป็นอาการที่สามารถหายขาดได้ หากเด็กได้รับการดูแลและเอาใจใส่จากคุณพ่อคุณแม่มากพอ ซึ่งการรักษาอาจต้องใช้เวลาและความร่วมจากทั้งของตัวของเด็ก พ่อแม่ และคุณครู โดยเฉพาะกำลังใจจากคุณพ่อและคุณแม่จะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการรักษาด้วย หากเด็กที่ได้รับการรักษาแล้วอาการดีขึ้นหรือหายขาดได้ จะส่งผลให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจ และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต ทั้งยังมีคุณภาพในการใช้ชีวิตที่ดีขึ้นอีกด้วย

บทความโดย

แพทย์หญิงภาวิณี ธีรการุณวงศ์ 

แพทย์ประจำสาขากุมารเวชทั่วไป

โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ


สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม

แผนก กุมารเวชกรรม อาคาร 1 ชั้น 2
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร 02-363-2000 ต่อ 2209-2210
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn