-
“Heatstroke” โรคอันตรายในหน้าร้อน
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
05-เม.ย.-2567

“Heatstroke” โรคอันตรายในหน้าร้อน

              ในช่วงหน้าร้อน ประเทศไทยนับเป็นหนึ่งในประเทศที่ต้องเผชิญกับแสงแดดและความร้อนสูงมาก ยิ่งคนที่ต้องทำกิจกรรมหรือทำงานกลางแจ้งก็มักจะต้องอยู่กับสภาพอากาศร้อนกันเต็มๆ จึงต้องยิ่งระวัง เพราะจะมีโรคหนึ่งที่เกิดขึ้นได้ง่าย และมีอันตรายถึงชีวิต นั่นก็คือโรค Heatstroke หรือ โรคลมแดด เราจึงควรรู้จักวิธีสังเกตอาการและการหลีกเลี่ยง ซึ่งหมายรวมถึงสามารถช่วยปฐมพยาบาลผู้ป่วยได้ในกรณีฉุกเฉินด้วย

 

ทำความรู้จักกับ “Heatstroke”

              Heatstroke หรือ “โรคลมแดด” เป็นภาวะที่ร่างกายมีความร้อนสูงจนร่างไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิให้ลดลงด้วยการระบายออกทางเหงื่อหรือทางอื่นๆ ได้ พบบ่อยในช่วงหน้าร้อน มักเกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีการใช้แรงหรือออกกำลังกายอย่างหนักในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูง ทำให้เกิดภาวะร่างกายมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติและไม่สามารถระบายความร้อนได้ทันเนื่องจากรูขุมขนปิด จากนั้นภายใน 10 ถึง 15 นาที หากไม่ได้รับการปฐมพยาบาลหรือรับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย จนทำให้พิการหรือเสียชีวิตได้

 


อาการนำของ Heatstroke

  • ตัวร้อนมากและร้อนขึ้นเรื่อยๆ จนอุณหภูมิร่างกายสูงถึง 40 องศาเซลเซียส
  • ผิวแดง ร้อน และแห้ง แต่ไม่มีเหงื่อออก
  • วิงเวียนปวดศีรษะ หน้ามืด ความดันโลหิตต่ำ
  • หายใจถี่ หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น หรือชีพจรเต้นแรง
  • อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน
  • กระหายน้ำ
  • รู้สึกสับสน และตอบสนองช้า

หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจถึงขั้นชักกระตุก เกร็ง หมดสติ และทำให้เสียชีวิตได้

 

การปฐมพยาบาลผู้ป่วย Heatstroke

หากพบผู้เป็นโรคลมแดด หรือผู้ที่มีสัญญาณของโรค ควรทำตามข้อปฏิบัติดังนี้

  1. นำผู้ที่มีอาการไปยังพื้นที่ร่ม อากาศถ่ายเทได้สะดวก หรือห้องแอร์ กันไม่ให้คนมุง
  2. ให้ผู้ป่วยนอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้างกว่าระดับหัวใจ
  3. คลายเสื้อผ้าให้หลวม หรือถอดเสื้อผ้าชั้นนอกออก
  4. ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น หรือน้ำแข็งประคบตามซอกศีรษะ คอ ตัว รักแร้ ข้อพับต่างๆ ร่วมกับการใช้พัดลมช่วยพัดระบายความร้อน แต่ไม่ควรใช้น้ำเย็นจัดราดตัวเพราะอาจทำให้ช็อกได้
  5. หากผู้ป่วยยังไม่หมดสติ ให้ดื่มน้ำเปล่ามากๆ โดยค่อยๆ จิบไปเรื่อยๆ และรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

 


วิธีง่ายๆ ลดเสี่ยง เลี่ยง Heatstroke

  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งหรือสถานที่ที่มีอากาศร้อนจัดและไม่ถ่ายเท
  • ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ6-8 แก้วแม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำก็ตาม
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อนโปร่ง และสามารถระบายความร้อนได้ดีหรือป้องกันแสงแดดได้
  • ก่อนออกจากบ้านควรทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 15 และไม่ควรทาครีมกันแดดหนาจนเกินไป สวมหมวกหรือใช้ร่มเพื่อป้องกันความร้อนจากแสงแดดโดยตรง
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

ที่สำคัญ เราสามารถดูแลและป้องกันตัวเองได้ด้วยการสังเกตให้เป็น หากจำเป็นต้องออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง ควรเตรียมตัวให้ดี และทำตามคำแนะนำดังกล่าว เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอาการ Heatstroke

บทความโดย
นายแพทย์ณัฏฐ์ บุญตะวัน
แพทย์ประจำสาขาอายุรกรรม
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ



สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
แผนก อายุรกรรมทั่วไป
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร. 02-363-2000 ต่อ 2390-2393
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดี ๆ ได้ที่
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn