-
ก่อนออกเดินทาง...ควรตรวจอะไรให้ไร้กังวล
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
09-เม.ย.-2567

ก่อนออกเดินทาง...ควรตรวจอะไรให้ไร้กังวล

การเดินทางเป็นสิ่งที่ใครหลายคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ หรืออาจมีความต้องการที่จะเดินทางไปยังสถานที่ใหม่ๆ โดยเฉพาะการเดินทางที่ต้องใช้ระยะเวลานาน ซึ่งการเดินทางอาจไม่ใช่ปัญหาใหญ่หากการเดินทางครั้งนั้นขาดการเตรียมพร้อมที่ดี หรือเกิดเจ็บป่วยระหว่างเดินทาง ซึ่งในบางประเทศถ้าเราอยู่ในภาวะเจ็บป่วยหรือเป็นโรคติดต่อ อาจไม่สามารถเข้าประเทศนั้นๆ ได้อีกด้วย

ทางที่ดีควรเตรียมความพร้อม และตรวจเช็คสภาพร่างกายก่อนออกเดินทาง โดยแนะนำให้ทำการตรวจสุขภาพก่อนออกเดินทาง เพื่อป้องกันการเกิดอาการเจ็บป่วยที่ไม่คาดฝันระหว่างการเดินทาง

 


ก่อนออกเดินทาง ควรตรวจอะไรบ้าง?

การตรวจสุขภาพก่อนออกเดินทางก็จะคล้ายกับการตรวจร่างกายทั่วไป เช่น วัดความดัน วัดสายตา ตรวจเลือดตรวจปัสสาวะ ตรวจอุจจาระ เอกซเรย์ปอด และทำการตรวจคัดกรองโรคต่างๆ ตามที่ประเทศปลายทางระบุ เช่น โรคปอด วัณโรคปอด ไวรัสตับอักเสบบี โรคเรื้อน โรคซิฟิลิส หรือ HIV เป็นต้น และนอกจากการตรวจสุขภาพแล้ว การได้รับวัคซีนก็สำคัญเช่นกัน ในการเดินทางไปอย่างมั่นใจ และราบรื่น

 

วัคซีนที่แนะนำให้รับ...ก่อนออกเดินทาง

เป็นวัคซีนที่แนะนำให้ฉีด จากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทั้งยังเป็นวัคซีนจำเป็นสำหรับการเข้าประเทศบางประเทศด้วย โดยมีวัคซีนที่แนะนำดังนี้

  • วัคซีนโรคจากเชื้อฮีโมฟิลุสอินฟลูเอนเซ่ทัยป์บี (โรคฮิบ)
  • วัคซีนป้องกันอหิวาตกโรค
  • วัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่
  • วัคซีนไวรัสตับอักเสบ (A, B)
  • วัคซีนโรคจากเชื้อนิวโมคอคคัส
  • วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า
  • วัคซีนโรคไข้ไทฟอยด์
  • วัคซีนโรคไข้กาฬหลังแอ่น


ปัญหาสุขภาพที่ควรระวัง...เมื่อต้องเดินทางไกล

ท้องเสีย :

เป็นปัญหาที่รบกวนผู้เดินทางอยู่ไม่น้อย เนื่องจากจะมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ หรืออาเจียนได้ ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการทานอาหารหรือน้ำที่ไม่สะอาด หรืออาหารที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย รวมถึงการกินอาหารแปลกที่ร่างกายยังไม่คุ้นชิน ก็อาจทำให้ท้องเสียได้เช่นกัน ผู้เดินทางควรเลือกกินอาหารหรือน้ำที่ถูกสุขลักษณะ อาหารที่ปรุงสุก และล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร

เมารถ :

อาการเมารถ สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในขณะนั่งรถ เรือ และเครื่องบิน โดยเกิดจากการรับสัญญาณที่ขัดแย้งกันระหว่างประสาทรับรู้ของหูชั้นในกับภาพที่ดวงตามองเห็น ซึ่งอาการเมารถจะส่งผลให้เกิดอาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะ อาเจียน หน้าซีด และมีเหงื่อออก หากรู้ตัวว่ามักมีอาการเมารถขณะเดินทางควรทานยาป้องกันไว้ หรือกินอาหารเบาๆในปริมาณที่พอดีรองท้องก่อนออกเดินทาง

อาการเจ็บหู :

มักเกิดขึ้นเมื่อร่างกายปรับความดันระหว่างภายในร่างกายกับความดันอากาศภายนอกไม่เท่ากัน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของระดับความสูง มักเกิดขึ้นระหว่างที่เครื่องบินกำลังบินขึ้นหรือบินลง โดยวิธีการบรรเทาสามารถทำได้โดยเคี้ยวอาหารหรือหมากฝรั่งระหว่างที่เครื่องกำลังขึ้นบิน ในกรณีที่เป็นเด็กทารกผู้ปกครองสามารถป้อนนมให้ลูกในระหว่างที่เครื่องกำลังบินขึ้นหรือลงได้เช่นกัน

Jet Lag :

เป็นอาการที่เกิดขึ้นชั่วคราวเมื่อมีการเดินทางข้ามเขตเวลา (Time Zones) จากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่งโดยมีเวลาที่ต่างกันหลายชั่วโมง โดยอาการ Jet Lag มักส่งผลให้มีอาการนอนไม่หลับ เพลีย เวียนศีรษะ เหนื่อยล้า หรือระบบทางเดินอาหารแปรปรวน ผู้เดินทางควรปรับร่างกายให้คุ้นชินทั้งเวลานอนหรือตื่นให้ตรงกับประเทศปลายทางก่อนเดินทาง 2-3 วัน และเมื่อไปถึงประเทศปลายทางควรทำกิจวัตรต่างๆ ให้ตรงกับเวลาของเขตเวลาใหม่

แมลงสัตว์กัดต่อย :

ผู้เดินทางที่ต้องไปยังพื้นที่ที่มีแมลงชุกชุม โดยเฉพาะยุงที่เป็นพาหะนำโรคร้ายหลายชนิด เช่น ไข้เลือดออก ไข้มาลาเรีย หรือไข้เหลือง หรือไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคเหล่านี้ อาจต้องเจอกับโรคเหล่านี้โดยเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการป้องกันจึงเป็นสิ่งสำคัญโดยสวมเสื้อผ้าแขนขายาว ทายากันยุง ปิดประตูหรือหน้าต่างให้มิดชิด รวมถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคเหล่านี้ก่อนออกเดินทาง

 

นี่เป็นเพียงตัวอย่างของอาการที่อาจพบได้ในระหว่างการเดินทาง ในระหว่างการเดินทางจริงอาจพบเจอกับอาการอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการเดินทางครั้งนั้นได้อีก ดังนั้นผู้เดินทางทุกท่านควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าร่างกายมีความพร้อมในการเดินทางมากน้อยเพียงใด โดยการตรวจสุขภาพหรือรับวัคซีนตามที่แพทย์แนะนำก่อนออกเดินทาง เพื่อลดโอกาสและป้องกันอุปสรรคที่อาจทำให้การเดินทางครั้งนั้นไม่ราบรื่น

บทความโดย
แพทย์หญิงพรทิพย์ เรืองสีสมบูรณ์
แพทย์ประจำสาขาศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ 
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ



สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ 
โทร.02-363-2000 ต่อ 2310-2312
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn