ตรวจคัดกรองโรคร้ายได้ด้วยการ “ตรวจสารบ่งชี้มะเร็ง”
หลายท่านอาจสงสัยว่าในรายการตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งที่อยู่ในโปรแกรมตรวจสุขภาพต่างๆ ที่เราเห็นได้บ่อยๆ มันไว้ตรวจหาอะไร และตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งได้จริงหรือ!? วันนี้เราจึงมาทำความรู้จักกับการตรวจที่เรียกว่า “การตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็ง” ให้มากขึ้นกัน
การตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็ง คืออะไร?
การตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็ง เป็นการตรวจหาสารที่ผลิตจากเซลล์มะเร็ง โดยใช้วิธีการตรวจเลือด และสารคัดหลั่งอื่นๆ ตามชนิดของมะเร็งนั้นๆ เพื่อนำไปตรวจหาค่าความผิดปกติภายในร่างกาย ซึ่งการตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งนั้นมักตรวจเพื่อหาแนวโน้มหรือความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง หากพบความผิดปกติก็จะสามารถติดตามระยะของโรค และเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายได้มากขึ้น
ตรวจสารบ่งชี้มะเร็ง...สามารถตรวจดูมะเร็งชนิดใดได้บ้าง?
- CEA ตรวจสารบ่งชี้มะเร็งลำไส้ : ค่า CEA ในคนปกติจะอยู่ระหว่าง 2.5 - 5 ซึ่งพบในผู้ป่วยมะเร็งทางเดินอาหาร, มะเร็งตับอ่อน, มะเร็งปอด หรือมะเร็งรังไข่ สามารถมีค่าที่สูงผิดปกติได้
- CA19-9 ตรวจสารบ่งชี้มะเร็งตับอ่อน : ค่า CA19-9 ในคนปกติจะมีค่าไม่เกิน 37 ซึ่งสามารถช่วยคัดกรองผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งตับ, มะเร็งท่อน้ำดี หรือมะเร็งในระบบทางเดินอาหารได้หากมีค่าสูงผิดปกติ
- AFP ตรวจสารบ่งชี้มะเร็งตับ : ใช้สำหรับตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยตับแข็ง ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี หรือมะเร็งตับในเพศชาย โดยค่าปกติจะอยู่ที่ 0 - 20 หากมีค่าผิดปกติที่สูงมากเกินไป แพทย์อาจตรวจหาความผิดปกติเพิ่มเติมเพื่อประกอบผลวินิจฉัย
- PSA ตรวจสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก : ค่า PSA ในระดับปกติจะอยู่ที่ไม่เกิน 4 หากมีค่าที่มากกว่าปกติอาจสงสัยว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก
- CA 125 ตรวจสารบ่งชี้มะเร็งรังไข่ : เป็นตัวช่วยบ่งชี้ในการคัดกรองมะเร็งรังไข่ หรือติดตามระยะโรคของผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ได้ โดยค่า CA 125 ของคนปกติจะอยู่ที่ 0 - 35
- CA 15-3 ตรวจสารบ่งชี้มะเร็งเต้านม : ค่าปกติของ CA15-3 จะอยู่ที่ 22 หากพบค่าที่สูงอาจบ่งบอกถึงความเสี่ยงในโรคมะเร็งต่างๆ เช่น มะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่
ตรวจสารบ่งชี้มะเร็ง…สำคัญกว่าที่คิด!
- ช่วยวินิจฉัยโรคมะเร็งบางชนิด โดยพิจารณาร่วมกับประวัติ และการตรวจร่างกายอื่นๆ ของผู้ป่วย
- คัดกรองความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งชนิดต่างๆ ในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง
- ติดตามผลการรักษา และป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ
- สามารถระบุหรือบอกระยะของโรคได้ ทำให้สามารถเลือกวิธีรักษาได้อย่างเหมาะสม
- หากตรวจพบตั้งแต่ในระยะแรกๆ ของโรค สามารถเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้
จะเห็นได้ว่าการตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งเป็นเหมือนการช่วยคัดกรองเพื่อลดความเสี่ยงจากโรคมะเร็งที่อาจแอบแฝงอยู่ในร่างกายโดยที่เราไม่รู้ตัว อีกทั้งยังมีประโยชน์ในการติดตามอาการของกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นมะเร็ง หรือผู้ป่วยที่หายแล้วแต่ต้องเฝ้าระวังการกลับมาเป็นซ้ำอีกครั้ง
ทั้งนี้ การตรวจสารบ่งชี้มะเร็งเป็นเพียงการตรวจคัดกรองเบื้องต้นเท่านั้น ไม่สามารถบอกได้ว่าผู้ที่ได้รับการตรวจนั้นเป็นมะเร็งได้โดยตรง จำเป็นจะต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมอย่างละเอียดและพิจารณาร่วมกับการตรวจด้วยวิธีอื่นๆ เพื่อความแม่นยำและถูกต้องที่สุด
บทความโดย
นายแพทย์อาจ พรวรนันท์
แพทย์ประจำสาขาอายุรกรรม
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
แผนก อายุรกรรมทั่วไป
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร.02-363-2000 ต่อ 2390-2393
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่
Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn