พญ. ภัทรา ภู่เจริญวณิชย์

รังสีวิทยาวินิจฉัย

วุฒิบัตร

รังสีวิทยาวินิจฉัย
วัน เวลา
ไม่มีตารางออกตรวจ
การศึกษา
● แพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
● วุฒิบัตรรังสีวิทยาวินิจฉัย (Radiology) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

พญ.ภัทรา ภู่เจริญวณิชย์ สำเร็จการศึกษาสาขารังสีวินิจฉัย (Radiology) จากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ปัจจุบันเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านรังสีวินิจฉัย อยู่ที่โรงพยาบาลเปาโล รังสิต คุณหมอได้เล่าถึงแรงบันดาลใจและประสบการณ์ในการศึกษาว่า…
          “นอกจากการเป็นแพทย์รักษาคนไข้แล้ว หมอยังมีความสนใจในด้านการตรวจเพิ่มเติมทางด้านรังสีวิทยา ที่หมอสนใจเพราะเห็นว่าเป็นสาขาที่ช่วยในการวินิจฉัยและช่วยสนับสนุนการตรวจให้กับแพทย์สาขาอื่นๆ เพราะโรคบางอย่างนั้นมีความที่จำเป็นต้องตรวจเชิงลึก เช่น เอกซเรย์ การทำอัลตราซาวด์ หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ซึ่งการตรวจรังสีก็จะช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคต่างๆ ได้แม่นยำและชัดเจน หมอรังสีจึงเหมือนเป็นผู้ที่ช่วยสนับสนุนแพทย์ท่านอื่นๆ ในการวินิจฉัยโรคให้ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น”

แพทย์รังสีวิทยาวินิจฉัยช่วยหาสาเหตุแห่งโรค
เมื่อแพทย์สาขาอื่นส่งคนไข้เข้ามาตรวจเพิ่มเติมในส่วนของรังสีวินิจฉัย คุณหมอภัทรา จะเป็นผู้ทำการแปลผลการตรวจต่างๆ เช่น ผลเอกซเรย์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า รวมถึงผลอัลตราซาวด์ และแมมโมแกรม เป็นต้น…
          “หลักๆ เลย หมอจะเป็นคนดูภาพเอกซเรย์แล้วรายงานผลตรวจพร้อมคำวินิจฉัยให้กับแพทย์ผู้ส่งคนไข้เข้ามาตรวจ คือทำหน้าที่เป็นแพทย์ที่สนับสนุนแพทย์ท่านอื่นๆ อีกที ไม่ว่าจะเป็นสูตินรีแพทย์ อายุรแพทย์ แพทย์กล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ กุมารแพทย์ กล่าวโดยสรุปก็จะเกี่ยวข้องกับแพทย์แทบทุกสาขาที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการวินิจฉัยโรคให้ถูกต้องและแม่นยำที่สุด”

ความสำคัญของแพทย์ด้านรังสีวินิจฉัย
หน้าที่หรือความสำคัญของ คุณหมอภัทรา ที่ดูแลในส่วนนี้จะแยกได้เป็นสองส่วนใหญ่ๆ หนึ่งคือการคัดกรองโรคที่ยังไม่แสดงอาการ เช่น การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่ต้องทำแมมโมแกรม รังสีวินิจฉันจะช่วยให้เจอโรคได้เร็วก่อนจะแสดงอาการ ซึ่งการตรวจพบโรคมะเร็งในระยะแรกๆ จะช่วยป้องกันการลุกลามและง่ายต่อการรักษา มีโอกาสหายขาดสูง นอกจากนี้การพบความผิดปกติอื่นๆ ที่ตรวจเจอระหว่างการคัดกรอง เมื่อรีบรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ก็เป็นผลดีต่อคนไข้ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมการตรวจสุขภาพประจำปีและการทำรังสีวินิจฉัยจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและมีประโยชน์มาก
ส่วนที่สองคือ การทำหน้าที่สนับสนุนข้อมูลให้แก่แพทย์สาขาต่างๆ ในการวินิจฉัยโรคให้มีความแม่นยำยิ่งขึ้น นั้นเอง…
          “หัวใจสำคัญของการเป็นแพทย์รังสีวินิจฉัย คือจะต้องอ่านผลเอกซเรย์และแปลผลได้อย่างแม่นยำ มีความใส่ใจในรายละเอียดเพื่อความครบถ้วนของข้อมูล นอกจากอุปกรณ์และเครื่องมือที่ดีแล้ว ประสบการณ์ในการทำงานก็เป็นปัจจัยสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น การทำอัลตราซาวด์ แพทย์ต้องมีความรู้ มีประสบการณ์ ซึ่งช่วยให้การอ่านผลทำได้อย่างครบถ้วนแม่นยำ อันจะเป็นผลดีต่อคนไข้และแพทย์ที่ต้องการข้อมูลสนับสนุน”

การตรวจสุขภาพที่ต้องใช้รังสีวินิจฉัย
ในอดีตการตรวจโรคในคนไข้ที่มีอาการโดยทั่วๆ ไป จะใช้วิธีซักถามอาการ และตรวจร่างกายภายนอก รวมถึงการตรวจเลือดและส่งตรวจแล็บ แต่ในปัจจุบัน เมื่อมีนวัตกรรมและเครื่องมือทางการแพทย์ที่พัฒนามากขึ้น มีเทคโนโลยีในส่วนของเครื่องทำอัลตร้าซาวด์ เครื่องแมมโมแกรม เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ที่เข้ามามีบทบาทในการตรวจวินิจฉัย ซึ่งมีผลดีอย่างมากในการวินิจฉัยโรค คือทำให้แพทย์รู้ผลเร็วขึ้น และมีความถูกต้องแม่นยำขึ้น แพทย์รังสีวินิจฉัยจึงมีบทความสำคัญในส่วนนี้…
          “คนไข้ที่มาตรวจ อันดับหนึ่งเลยก็จะเกี่ยวกับการคัดกรอง นั่นคือกลุ่มที่มาตรวจร่างกาย ส่วนกลุ่มคนไข้ที่มาทำรังสีวินิจฉัยเกี่ยวกับโรคก็มีหลากหลาย เช่น อาการปวดท้อง ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุที่บางครั้งต้องอาศัยการตรวจเพิ่มเติม
          อย่างการตรวจคัดกรอง หมอขอยกตัวอย่างเคสหนึ่ง คือคนไข้มาตรวจคัดกรองและไม่ได้มีอาการของโรคใดๆ มาก่อน แค่มาตรวจเช็กสุขภาพประจำปี ตรวจเจอก้อนเล็กๆ ในไตที่มีขนาดเล็ก ซึ่งถ้าไม่สังเกตดีๆ ก็จะมองไม่เห็น เคสนี้จึงมีการส่งตรวจเพิ่มเติมเพราะเกรงว่าจะกลายเป็นมะเร็ง คนไข้รายนี้จึงได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว
อีกเคสหนึ่ง คนไข้มาด้วยอาการแน่นหน้าอกจึงได้ส่งทำการเอกซเรย์ แล้วผลฟิล์มออกมาพบว่ามีลมรั่วที่ช่องหน้าอก ซึ่งมีขนาดเล็กมากๆ จึงส่งทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพิ่มเติม พบว่ามีลมรั่วจริงๆ ถ้าคนไข้ไม่ได้รับการตรวจเพิ่มเติมแล้วปล่อยให้คนไข้กลับบ้านไปโดยไม่ได้รับการรักษาก็จะเป็นอันตรายได้”


รังสีวินิจฉัยปลอดภัยและมีประโยชน์สูง
การทำเอกซเรย์รูปแบบต่างๆ มีการศึกษาและการเลือกใช้ให้อยู่ในระดับที่มีความปลอดภัยซึ่งจริงๆ แล้วในการใช้ชีวิตประจำวันของทุกคนก็ย่อมได้รับรังสีที่มีอยู่ตามธรรมชาติอยู่บ้างแล้ว รังสีที่ได้เพิ่มมาจากการทำเอกซเรย์ หรือการทำแมมโมแกรมจึงถือว่าน้อยมากๆ ส่วนการทำอัลตร้าซาวด์นั้นเป็นการใช้พลังงานคลื่น ไม่ต้องได้รับรังสี ซึ่งถือว่ามีความปลอดภัยสูง
          “หมออยากให้ทุกคนให้ความสำคัญในการตรวจร่างกายประจำปี เพื่อคัดกรองหาความผิดปกติแต่เนิ่นๆ หลายคนมีความกลัวว่าถ้ามาตรวจแล้วจะเจอโรค ในความจริงถ้าพบเจอโรคในระยะเริ่มต้นก็ถือเป็นข้อดี เช่น โรคมะเร็งบางชนิดหากเจอเร็วก็มีสิทธิ์ที่จะรักษาให้หายขาดได้ หากรั้งรอไม่ยอมตรวจ ก็จะเสียโอกาสในการรักษาโรคตั้งแต่ระยะต้นๆ โรคก็จะลุกลามและรักษาได้ยากขึ้น ดังนั้นนอกเหนือจากการตรวจสุขภาพทั่วไป หมอแนะนำให้ตรวจเพิ่มเติม เพื่อการคัดกรองโรคแอบแฝง หรือโรคที่ยังไม่แสดงอาการ ซึ่งเราสามารถตรวจได้เป็นประจำทุกปี แม้กระทั่งหญิงตั้งครรภ์ก็สามารถตรวจได้ในการดูแลของแพทย์”