ชิคุนกุนยา กับ ไข้เลือดออก อันตรายจากยุงลายที่ควรระวัง
โรงพยาบาลเปาโลเกษตร
25-ต.ค.-2566

ชิคุนกุนยา VS ไข้เลือดออก

ในช่วงฤดูฝน นอกจากจะต้องระวังโรคไข้เลือดออกแล้ว ยังต้องระวังโรคชิคุนกุนยาหรือโรคไข้ปวดข้ออีกด้วย เนื่องจากทั้ง 2 โรคนี้ มีพาหะนำโรคเป็นยุงลายเหมือนกัน ซึ่งลักษณะอาการก็ยังคล้ายคลึงกันอีกด้วย

โดยเราจะสามารถแยกความแตกต่างของ 2 โรคได้อย่างไร? และโรคไหนที่อันตรายกว่ากัน? วันนี้เราจะมาไขข้อสงสัยไปพร้อม ๆ กัน

ความแตกต่างระหว่าง ชิคุนกุนยา กับ ไข้เลือดออก
ชิคุนกุนยา : เกิดจากเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา (Chikungunya Virus) โดยมียุงลายสวน และยุงลายบ้าน เป็นพาหะนำโรค ส่วนใหญ่พบในเขตพื้นที่ภาคใต้

ไข้เลือดออก : เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) โดยมียุงลายตัวเมียเป็นพาหะนำโรค

ไข้เลือดออก กับ ชิคุนกุนยา


อาการที่แตกต่างกันของโรค
ชิคุนกุนยา :
 ไข้สูงเฉียบพลัน 2 – 3 วัน ไข้ก็จะลดลง
 ปวดตามข้อ เช่น ข้อมือ ข้อเท้า มีภาวะข้ออักเสบ อาจปวดหลังร่วมด้วย
 ตาแดง มีผื่นแดงตามร่างกาย โดยเฉพาะใบหน้าและลำตัว

ไข้เลือดออก
:
 มีไข้สูง และอาจเป็นไข้นานกว่า 4 วัน
 ปวดศีรษะ ปวดตามกระบอกตา มากกว่าปวดข้อ
 เกล็ดเลือดต่ำ
 อาจพบจุดเลือดออก เลือดกำเดาไหล หรือเลือดออกตามไรฟันได้

ภาวะแทรกซ้อนและความรุนแรงของโรค
ชิคุนกุนยา : โรคชิคุนกุนยาจะมีความรุนแรงของโรคน้อยกว่าโรคไข้เลือดออก มีการรักษาตามอาการให้สามารถหายได้เอง แต่อาจจะมีอาการปวดข้อเรื้อรังตามมา ในบางรายอาจปวดนานถึง 2 ปี และในปัจจุบันโรคชิคุนกุนยายังไม่มีวัคซีนป้องกัน

ไข้เลือดออก : ไข้เลือดออกเป็นโรคที่อันตรายมากกว่าโรคชิคุนกุนยา เพราะอาจพบภาวะช็อก หรือภาวะเลือดออกได้ ควรรีบเข้าพบแพทย์ทันที หากมีอาการที่เข้าข่ายว่าจะเป็นไข้เลือดออก และในปัจจุบันโรคไข้เลือดออกมีวัคซีนป้องกันสำหรับผู้ที่เคยป่วยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน


        ซึ่งทั้งโรคชิคุนกุนยาและโรคไข้เลือดออก สามารถป้องกันได้เพียงแค่ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ทาโลชั่น หรือ สเปรย์กันยุงเมื่อต้องทำกิจกรรมในช่วงหน้าฝน

นายแพทย์ศุภวิชญ์ สมิทธิเศรษฐ์



สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
แผนก อายุรกรรม โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
โทร. 02 1500 900 ต่อ 5113
Facebook : โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
Line official account : Paolo Hospital Kaset
Line ID : @paolokaset