โรคตับอักเสบ ฟังดูอาจจะเหมือนห่างไกลตัวเรา เพราะเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ไม่ได้เกิดจากพฤติกรรมทั่วไป แต่ในความเป็นจริงแล้ว แม้เราจะดูแลสุขภาพได้ดีแค่ไหน ก็ยังมีโอกาสได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบได้จากการกินอาหารร่วมกัน การสัมผัสกับสิ่งปนเปื้อน และการมีเพศสัมพันธ์ ยังโชคดีว่า... ในปัจจุบันมีวัคซีนที่สามารถป้องกันโรคตับอักเสบที่เกิดจากไวรัสบางชนิดได้ และก็เหมือนกับทุกๆ โรคที่ว่า “การป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา” ดังนั้นหากเรามีโอกาสได้ตรวจหาภูมิคุ้มกันแล้วพบว่ายังไม่มีภูมิ การรับวัคซีนก็จะช่วยให้เรามั่นใจและปลอดภัยจากโรคนี้มากขึ้น
เพราะคนทั่วไปตามท้องถนน หรือแม้แต่คนในครอบครัวของเรา อาจจะมีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซีอยู่ แต่เป็นผู้ที่ไม่มีอาการ ซึ่งเราเรียกว่า พาหะ (Carrier) แต่โดยปกติพาหะไวรัสตับอักเสบมักเป็นได้กับเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบซี เท่านั้น
มักมีการติดต่อหรือแพร่เชื้อทางอาหาร น้ำดื่ม หรือการสัมผัสถูกอุจจาระ ฉะนั้นการป้องกันที่ดี คือ ควรดื่มน้ำต้มสุก ใช้แก้วส่วนตัว กินอาหารปรุงสุก ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ การกินผักผลไม้ก็ควรล้างให้สะอาดเสียก่อน ปัจจุบันเราสามารถลดความเสี่ยงหรือป้องกันการเป็นตับอักเสบจากไวรัสชนิดเอได้ด้วยการฉีดวัคซีน แต่ในส่วนของไวรัสตับอักเสบอีนั้นยังไม่มีวัคซีนป้องกัน
การแพร่เชื้อมักเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ หรือการสัมผัสเลือด เช่น หมอ พยาบาล ถูกเข็มฉีดยาที่มีเชื้อไวรัสตำมือ หรือผู้ที่ติดยาเสพติดแล้วใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน เป็นต้น
ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี และเชื้อชนิดนี้มักติดจากแม่สู่ลูกทารก ดังนั้นทารกหลังคลอดทุกรายจึงควรได้รับวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี
เมื่อตับได้รับเชื้อไวรัส ก็จะเกิดภาวะตับอักเสบ ส่งผลให้ตับทำงานผิดปกติ มีอาการตับบวมโต ร่างกายอ่อนเพลีย ซึ่งไวรัสตับอักเสบมีหลายชนิดดังที่กล่าวมาแล้ว เช่น ไวรัสตับอักเสบเอ บี ซี ดี และอี แต่ที่พบบ่อย คือ ไวรัสตับอักเสบเอ บี และซี
ไม่ว่าจะเกิดจากเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดไหน อาการก็จะคล้ายๆ กัน... การจะเป็นน้อยหรือมากมักขึ้นอยู่กับปริมาณของเชื้อไวรัสที่ได้รับและความแข็งแรงพื้นฐานของผู้ป่วย อาการที่พบมากๆ ได้แก่ อ่อนเพลีย จุกแน่นใต้ชายโครงขวา ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อ ร่วมกับการมีคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องเสีย ปัสสาวะสีเข้ม ตัวเหลือง ตาเหลือง
ตับอักเสบเรื้อรัง จะเกิดจากไวรัสเพียง 2 ชนิด คือ เชื้อไวรัสตับอักเสบบี และซี อาการที่พบคือ รู้สึกอ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียนบ้างในช่วงที่มีภาวะตับอักเสบ แต่บางช่วงก็ไม่มีอาการใดๆ เลย เชื้อไวรัสชนิดนี้จะค่อยๆ ทำลายเซลล์ตับทีละน้อยจนเกิดภาวะตับแข็งและเพิ่มโอกาสในการเกิดมะเร็งตับ ซึ่งแพทย์สามารถตรวจดูการอักเสบของตับได้จากการตรวจเลือด ส่วนใหญ่ผู้ที่เป็นตับแข็งและมะเร็งตับมักไม่มีอาการในระยะแรก แค่อาจอ่อนเพลียเล็กน้อย แต่เมื่อโรคลุกลามจนอาการหนักขึ้น คนไข้มักมาพบแพทย์ด้วยภาวะแทรกซ้อน เช่น ท้องบวม เท้าบวม อาเจียนเป็นเลือด ตัวเหลืองตาเหลือง ซึ่งแพทย์ก็จะต้องหาสาเหตุและรักษาให้ตรงโรคต่อไป
คนไข้มักจะหายขาดได้ และส่วนใหญ่จะหายได้เอง ซึ่งร่างกายก็จะสร้างภูมิคุ้มกันโรคทำให้ไม่เป็นซ้ำอีก และไม่เป็นตับอักเสบเรื้อรัง แต่สำหรับตับอักเสบที่เกิดจากเชื้อไวรัสตับอักเสบอี แตกต่างตรงที่พบว่ามีแนวโน้มที่จะกลายเป็นโรคตับอักเสบที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงสูงขึ้นและอาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เพิ่มโอกาสการแท้งบุตรและมีโอกาสเสียชีวิตได้
90 เปอร์เซ็นต์ มักเป็นแบบเฉียบพลันซึ่งมีโอกาสหายขาดได้เอง แต่ก็จะมี 5-10 เปอร์เซ็นต์ ที่เป็นตับอักเสบเรื้อรัง และยังคงตรวจพบเชื้ออยู่ตลอด ในกลุ่มนี้บางรายอาจมีอาการตับแข็ง และบางรายอาจนำไปสู่การเป็นมะเร็งตับ
ราว 85 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นตับอักเสบแบบเรื้อรัง ผลการรักษาจะขึ้นกับชนิดของไวรัสตับอักเสบซี แต่หากไม่ได้รับการรักษา อาจจะกลายเป็นโรคตับแข็ง มะเร็งตับ และเสียชีวิตในที่สุด การรักษาจะขึ้นอยู่กับพยาธิสภาพของตับ ถ้าหากตับวาย หรือเป็นมะเร็งตับ แพทย์จะไม่รักษาด้วยยารักษาไวรัสตับอักเสบซี แต่จะไปเน้นที่การรักษามะเร็งมากกว่า หรือหากมีภาวะตับวาย การรักษาจะมีความเสี่ยงสูง จึงต้องพิจารณาวิธีรักษาเป็นรายๆ ไป
ไวรัสตับอักเสบเอ และบี ชนิดเฉียบพลัน และไวรัสตับอักเสบอี ส่วนใหญ่แพทย์จะรักษาแบบประคับประคอง หรือรักษาตามอาการเพื่อลดการอักเสบของตับ ผู้ที่เป็นไวรัสตับอักเสบมักอ่อนเพลีย รับประทานอาหารได้น้อยลง แพทย์ก็จะให้สารอาหารทางน้ำเกลือ และแนะนำการปฏิบัติตัว ได้แก่ การพักผ่อนมากๆ ในช่วงที่มีอาการอ่อนเพลีย กินอาหารให้พอเพียง โดยหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง งดแอลกอฮอล์ และหลีกเลี่ยงยาพาราเซตามอล ทั้งนี้แพทย์จะนัดให้ทำการตรวจเลือดเพื่อติดตามผลการรักษา และดูการทำงานของตับว่าดีขึ้นหรือไม่อย่างต่อเนื่อง